Raw Law

ตอนนี้เรื่องหนึ่งที่คงเป็นกระแสในช่วงนี้ นอกจากเรื่องคนยี่สิบกว่าคนวิ่งไล่ลูกกลมๆ ในสนาม 90+ นาทีแล้ว ก็คงเป็นเรื่องร่าง พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่หลายคนกำลังมองว่ามันถูก “เร่ง” ทั้งๆ ที่ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่อีกมากมาย จนกลายเป็นกระแสให้ “หยุด” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ก่อน

จริงๆ แล้วให้พูดตามตรง ผมก็ไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้มากพอที่จะมาถกมาเถียงกับใครได้หรอกนะครับ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลที่ผมได้อ่านจากสรุปประเด็นนี้แล้ว ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นเรื่องความชัดเจนของภาษา การนิยาม และการตีความต่างๆ มากกว่าเจตนารมย์ของมัน

หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนกับเอาคนไม่รู้เรื่องเทคนิก มาออกกฎหมายเชิงเทคนิกน่ะแหละครับ

ผมก็คงไม่สามารถพูดได้แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับใครเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า (เลยไม่สามารถจะกล่าวหาใครในประเด็นทางการเมืองได้) และถ้าให้พูดตามตรง ก็ไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยหรือคัดค้านกับร่างกฎหมายฉบับนี้เสียสักเท่าไหร่

แต่ที่พอจะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองบ้างในเรื่องราวนี้ นอกจากเรื่องที่ว่าเอาคนไม่รู้เทคนิกมาออกกฎหมายเชิงเทคนิกแล้ว ก็มีอีกสองสามเรื่อง

เรื่องแรกคือเรื่องที่มีการถกเถียงกันในประเด็นของบทลงโทษเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. ฉบับอื่นๆ เช่นเรื่องยาเสพย์ติด ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากประเด็นหนึ่งว่า การที่กฎหมายจะระบุว่าความผิดอะไรควรจำคุกนานเท่าไร หรือปรับมากแค่ไหน เราใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดตัวเลขนั้นๆ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่าการใช้ความรู้สึกเข้าใส่ และเปรียบเทียบให้มันมากกว่าหรือน้อยกว่ากับความผิดอื่นๆ ที่เทียบเคียงอยู่ในมิติเดียวกัน

ทีนี้ปัญหาของมันก็คือ ถ้าเราจะเปรียบเทียบอะไรที่มันอยู่ในมิติเดียวกันคงไม่ยากเท่าไหร่ เช่นการเปรียบเทียบโทษของผู้ดูแลระบบกับผู้ใช้ มันก็อาจจะยังพอพูดง่ายว่าใครควรจะผิดมากผิดน้อยกว่าใคร แต่การที่จะเอาความผิดทางคอมพิวเตอร์ไปเทียบกับความผิดทางยาเสพติด อันนี้มันคงเริ่มคิดยากเสียสักหน่อย เหมือนกับอยู่ๆ ถ้าผมถามว่าเงินเดือนของวิศวกรคุมไซต์ก่อสร้างกับเงินเดือนของครีเอทีฟโฆษณาใครควรจะได้เงินเยอะกว่ากัน คนที่จะตอบได้ชัดเจนก็คงต้องเป็นคนที่ expertise มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั้งสองด้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหาก็คือ มันคงหาได้ยากมาก

ผมจึงไม่รู้สึกว่าประเด็นของบทลงโทษทีหนักหรือเบาไปเมื่อเทียบกับกฎหมายในระบบอื่นๆ ที่อาจเทียบเคียงได้ยากนั้นเป็นเหตุผลที่ดีที่จะใช้ในการบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่พร้อม เพราะมันไม่มีทางจะเถียงกันได้จบอยู่แล้ว การที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้แรงไป มันอาจจะเกิดจากการที่ฉบับนั้นเบาไปก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสังเกตต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาจะไร้ประโยชน์ซะทีเดียวนะครับ มันก็ควรจะถูกนำไปใช้เพื่อปรับสมดุลของบทลงโทษในภาพรวม เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่น่าจะตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจน คือคนที่มีความเชี่ยวชาญและเห็นภาพของผลกระทบของความผิดนั้นๆ ต่อสังคมได้อย่างชัดเจนจริงๆ ทั้งสองกฎหมายที่นำมาเปรียบเทียบ ดังนั้นเรื่องนี้มันภาพใหญ่กว่าการจะเอามาปรักปรำกฎหมายฉบับเดียว

ย้ำว่าไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยที่ควรจะผ่านร่างฯ ฉบับนี้นะครับ แต่ผมคิดว่าการจะบอกว่ามันไม่เหมาะสมเพราะยังมีความกำกวม มันดูสมเหตุสมผลมากกว่าการไปเปรียบเทียบบทลงโทษกับกฎหมายยาเสพติดอยู่มาก

เรื่องที่สอง ผมคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้รู้สึกจริงๆ ว่า อำนาจนิติบัญญัติไม่เคยมาจากประชาชนจริงๆ สักเท่าไหร่ แม้ว่าประชาชนจะเป็นคนเลือกผู้แทนเข้าไปก็ตาม แต่มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ไปรับรู้ในรายละเอียดของกฎหมาย เพราะหากพูดตามตรง ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสได้มานั่งศึกษารายละเอียดของร่างกฎหมายใหม่นี้ และมีความคิดเห็นจนจะมาเต้นแร้งเต้นกากันนี้คงมีอยู่ไม่กี่คน จริงๆ เรื่องนี้พูดไปก็อาจจะเป็นอคติส่วนตัวเพราะไม่เคยจะชื่นชอบประชาธิปไตยในระบอบสภาฯ สักเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ากันเสียสักเท่าไหร่ การที่มีคนตื่นตัวมาเต้นแร้งเต้นกาแบบนี้เมื่อกฎหมายกำลังจะริดรอนผลประโยชน์ส่วนตน โดยที่แยกประเด็นการเรียกร้องได้อย่างชัดเจน ไม่เอาสีเอาฝ่ายมาขวางกันมั่วซั่ว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อยครับ และก็คงหวังไว้ลึกๆ ว่าประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับการจัดสรรผลประโยชน์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ไม่ใช่เป็นแค่เบี้ยที่ถูกหลอกด้วยแรงศรัทธากับแม่สีต่างๆ ให้ไปในทิศโน้นทางนี้แบบมิติเดียวดิบๆ

9 thoughts on “Raw Law

  1. สำหรับผม พรบ.คอมพิวเตอร์ ทั้งร่างฉบับใหม่นี้ และย้อนไปที่ฉบับเดิม (2550) ต่างก็มีปัญหาในระดับหลักการทั้งคู่ครับ ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว

    ดูแล้ว ผมเองคงไม่คิดเป็นอื่นนอกจากว่า กฎหมายนี้ออกมาเพื่อ “ปราม” การเติบโตของอินเทอร์เน็ตในฐานะเครื่องมือการสื่อสารวงกว้าง โดยการทำให้บรรดาผู้ให้บริการต่างๆ ระวังตัวเองในลักษณะ “ปลอดภัยไว้ก่อน” และเห็นได้ชัดว่า พรบ.คอมฯ ทั้งสองฉบับ ให้ความสำคัญกับ “เนื้อหา” ของการสื่อสารมาก ลองดูก็จะเห็นได้ มันไม่ใช่แค่การเสริมให้กฎหมายเดิมๆ ทำงานได้กับระบบสมัยใหม่ แต่มันทำหน้าที่แบบกฎหมายความมั่นคง + กฎหมายหมิ่นประมาท ในตัวมันเอง

    ส่วนองค์ประกอบที่เป็น cyber-crime อย่างเรื่องเจาะระบบ ฟิชชิง สแปม ดูจะเป็นตัวประกอบเสียมากกว่า

    1. คงไม่คิดว่าจะถกเถียงอะไรได้ เพราะก็ไม่เคยศึกษารายละเอียดของข้อกฎหมายอย่างจริงจัง จะรู้ก็แต่อะไรที่อาจจะเกี่ยวกับตัวเอง (เช่นการที่ PlayCube ต้องเก็บ log ของเน็ตที่ใช้ที่ตึก) จริงๆ ที่ป่านพูดมาก็นึกได้อีกเรื่องที่คนเถียงๆ กันว่ากฎหมายฉบับนี้ไป overlapped กับกรอบของเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซะทีเดียว จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน

  2. อ๊ะ เพิ่งเห็นพี่ณัชหันมาสนใจเรื่องกฎหมายนะครับ

    @ป่าน จริง ๆ แล้วเห็นหลายฅนบ่นว่าไม่เห็นด้วยในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ (แบบที่ป่านบอก) แต่เท่าที่อ่านความเห็นดู ยังไม่ค่อยจะเจอทางเลือกอื่น ว่าจะออกกฎหมายยังไง ให้แก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน (แบบที่กฎหมายฉบับนี้พยายามจะแก้)

    1. แล้วทำไมถึงใช้ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ล่ะครับ

      ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กลายเป็นว่า ใช้ทั้งป.อาญา ใช้ทั้งพรบ. แล้วลงโทษสองต่อ

    2. บางที คนต้องกลับไปเริ่มตั้งแต่ identify ปัญหาน่ะครับ เพราะผมยังไม่เห็นว่าที่เขาพยายามจะแก้ มันเป็นปัญหาตรงไหน

  3. ป.อาญามันไม่เข้านิยาม ผู้นำเข้าข้อมูลในอินเตอร์เน็ท น่ะครับ

    1. ยังไงครับ? แล้วคดีที่ลงโทษไปด้วยป.อาญาซ้อนกับพรบ.คอมฯ ใช้หลักอะไรทำล่ะครับ

      1. โทษครับ ตอบช้า พอดีเพิ่งถามอ.มา

        อ.บอกว่า ถ้าใช้กม.อาญาอย่างเดียว การเอาผิดกระทำได้ยากมาก เพราะเวลาจะฟ้องศาล ต้องมีข้อมูลให้ศาลเพื่อรับฟ้อง และการหาหลักฐานจากคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ฟ้องทำได้ยากมาก

        ส่วนพรบ.คอมพิวเตอร์ จะช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะให้อำนาจในการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และทำให้ฟ้องศาลได้ง่ายขึ้น

        ส่วนที่้ใช้ประกอบกัน เพราะความผิดมันซ้อนทั้งสองกระทงน่ะฮะ (เหมือนถ้าซ้อมแล้วข่มขืน ก็ฟ้องทั้งทำร้ายร่างกาย และกระทำชำเราด้วย)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s