Wednesday Child

ในประเด็นการเมืองช่วงที่ผ่านมานี้ จริงๆ แล้วมีเรื่องหนึ่งที่ออกจะขัดหูขัดตาผมอยู่พอสมควร (และก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ค่อนข้างอคติกับพวกสาย Liberal Democracy สักหน่อย)

นั่นก็คือสารพัดการแดกดันประชดประชันชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ผมเองก็คงเป็นคนที่จัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางอยู่ไม่มากก็น้อย ทุกๆ ครั้งที่ได้ยินอะไรแบบนี้ ก็จะอดหงุดหงิดไปเสียไม่ได้ วันนี้เลยจะขอโพสท์ระบายอารมณ์เสียบ้าง

ในความเป็นจริงหากมองในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าข้อครหาที่มีต่อชนชั้นกลางต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มชนชั้นกลางที่จัดตัวเองว่าก้าวข้ามความคิดเดิมของชนกรุงเทพฯ ไปแล้วนั้น) ก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล เราคือกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาในภาพรวมจริงๆ ไม่ได้เข้าใจว่าปัญหาความยากจนที่เกษตรมีเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจว่าความยากลำบากในชีวิตของกลุ่มคนรากหญ้าเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราทำ มีแต่การชี้หน้าด่าคนที่เราเชื่อว่าคือ “คนโกงกินประเทศชาติ” และรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่วิหารแห่งวัตถุนิยมของพวกเราถูกปิด และซ้ำร้ายถูกเผาในเวลาต่อมา

คนอื่นอาจตัดสินจากมุมมองเหล่านี้ของพวกเราว่าช่างคับแคบ ซึ่งผมคงไม่ปฏิเสธ และเห็นด้วยว่าเราคงต้องปรับทัศนคติให้กว้างขึ้น ถึงจะนำพาประเทศชาติให้พ้นจากปัญหาที่มีอยู่นี้

เพียงแต่ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรม ที่เราจะกล่าวหาชนชั้นกลางว่าพวกเราผิด แค่เพียงเพราะพวกเรามีความเชื่อเช่นนี้

ชนชั้นกลางที่เติบโตในสังคมเมือง เราถูกเสี้ยมสอนให้นับถือในสิ่งที่สังคมเชื่อว่าดีงาม และชีวิตของพวกเราวุ่นวายเกินกว่าที่จะใส่ใจถึงเหตุและผลของความเชื่อเหล่านั้น

ในโลกของเรา เราถูกสอนให้แข่งขันในสนามแข่งที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด เราถูกสอนให้พึ่งพาตนเอง ให้เชื่อว่าชีวิตของพวกเราจะสำเร็จได้ถ้าเราพยายาม และทุกสิ่งที่เราหาได้คือสิ่งที่เราหาได้ด้วยตัวเอง ระบบในสนามที่เราแข่งขันอยู่ถูกออกแบบมาให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) เราจึงไม่เข้าใจเมื่อกลุ่มคนรากหญ้าต่างออกมาเรียกร้องให้คนอื่นช่วยเหลือ โดยที่ไม่คิดจะทำอะไรเอง เราไม่เข้าใจว่าสนามที่เขาแข่งขันอยู่นั้นมีความไม่ยุติธรรมอย่างไรบ้าง

เราถูกสอนมาว่าการโกงกินคือสิ่งที่ผิด ทุกคนต้องแข่งขันอย่างยุติธรรม เราเลยไม่เข้าใจเมื่อใครบางคนใช้อำนาจในทางที่ผิด และนำผลประโยชน์เข้าตัว เราตัดสินว่าเขาผิด เพราะเราไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อตนเองนั้น อาจจะมีบางส่วนที่ไปถูกใจใครในระดับอื่นๆ ที่เราเข้าไม่ถึง และมองไม่เห็น

เราเป็นเพียงกลุ่มคนที่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ และใช้ชีวิตของเราไปตามระบบสังคมที่ออกแบบไว้อย่างเข้มงวด ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว เราไม่ใช่คนที่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เราไม่ได้มีเงินตรา อำนาจบุญวาสนาบารมี หรือกำลังที่จะมาต่อสู้แย่งชิงอะไรกับใคร เราไม่ได้มีจำนวนเสียงที่นับตามจำนวนจิตวิญญาณตามระบอบที่เราเชื่อให้ทุกคนมีค่าเท่ากับหนึ่งหน่วยจนทำให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ได้

ใครมีอะไรอยากให้พวกเรารับรู้ คุณบอกมาดีๆ เราพร้อมที่จะรับฟัง

แต่อย่าโทษเรา ถ้าเราไม่เข้าใจ

เพราะเราเป็นแค่ลูกคนกลาง ที่ไม่ได้มีอำนาจพอจะทำอะไรได้ดั่งใจเหมือนพี่ใหญ่ และไม่สามารถจะงอแงเรียกร้องให้ใครเอาใจได้เหมือนน้องเล็ก

14 thoughts on “Wednesday Child

    1. ที่น่าสนใจคือ ความแตกต่างระหว่าง moral กับ ethics แฮะ

  1. สิ่งที่มากกว่าเรื่องไม่เข้าใจ อาจจะเป็นเรื่อง hypocrisy เพราะเรื่องไม่เข้าใจ ยังไงมันก็คงไม่เข้าใจ เหมือนที่ผมก็คงไม่เข้าใจความลำบากของหมอได้เท่าคนเป็นหมอหรือหลานหมอ แต่..

    กลุ่มสังคมที่ “เราถูกสอนมาว่าการโกงกินคือสิ่งที่ผิด ทุกคนต้องแข่งขันอย่างยุติธรรม” ดันเป็นกลุ่มสังคมเดียวกับที่จ่ายสินบนหรือใช้เส้นสายเพื่อหลีกหนีการเกณฑ์ทหารหรือปฏิบัติตามกฎจราจร มันช่างบ้าบอสิ้นดี

    1. จริงๆ ต้องมองว่าอะไรที่มันมาจากมุมของเราเอง เราก็จะรู้สึกว่ามัน reasonable ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง บางคนอาจจะอ้างว่าเพื่อความสะดวก บางคนอาจจะอ้างว่าใครๆ ก็ทำกัน หรือบางคนอาจจะอ้างว่าฐานความผิดมันน้อย (ซึ่งจริงๆ ก็พูดยากว่าจะวัดกันยังไง) ตัวเองเป็นคนทำเองก็ต้องคิดว่าตัวเองถูกอยู่แล้ว เพราะงั้นพอมันเห็นอะไรในมุมอื่นที่ไม่ได้คุ้นหน้าคุ้นตา หรือแค่ว่าเกิน threshold หนึ่ง (เช่นลามสถาบันอันเป็นที่รัก หรือตัวเลขรวมๆ กันมากเข้า) ก็เลยรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา

      1. ซึ่ง satire มันก็เป็นการสะกิดที่ก็น่าจะ justified แล้วนี่ครับ

      2. แต่ที่เป็นความเดือดร้อนโดยส่วนตัวของพี่นัท (ซึ่งทำให้มาโวยวายในบล็อกนี้) ก็คือการที่ตัวเองโดนเหมาไปด้วยไง

      3. แต่จริงๆ อย่างตัวพี่นัทเอง กล้าพูดเหมือนกันนะว่า cheating ratio ของตัวเองน่าจะต่ำกว่า average พอสมควร (เป็นคนถือเรื่องกติกาพอสมควร) อย่างน้อยก็ไม่เคยโกงข้อสอบเลยนา (จริงๆ อาจเพราะไม่มี intent จะโกงข้อสอบมากกว่า)

        แต่ถึงงั้นก็แปลกใจที่ก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับทักษิณ (เรื่องโกง) เลย อาจเพราะเอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ทักษิณทำมันไม่ได้ผิดกติกา เลยไม่รู้สึกอะไร

      4. คือตรงนี้ผมก็ไม่รู้นะว่าที่พี่นัทเห็นนี่ขนาดไหน (ที่ผมเห็นอาจจะ mild กว่าก็ได้) แต่ก็รู้สึกว่า ปรกติก็อิงกับกลุ่มพฤติกรรมมากกว่านะ (ไม่งั้นผมเองก็น่าจะรู้สึก offended ด้วย แม้ว่าจะจนกว่าพี่นัทก็ตาม)

      5. คุยกันเข้ารหัสอย่างกับจะหลีกเลี่ยง 112

        แต่คิดคล้าย ๆ กับประเด็นที่ Chayanin พูดถึงอยู่เหมือนกัน ตกลงกลุ่มสังคมนี้คิดยังไงกับระบบอภิสิทธิ์/อุปถัมภ์กันแน่ (ไม่เกี่ยวกับชื่ออดีตนายกฯ) ทำไมถึง backlash กับอุบัติเหตุบนโทลล์เวย์ได้ขนาดนั้น ทั้งที่เวลามีอะไรทุกคนเองก็พึ่งระบบเส้นสายทั้งนั้น

      6. ถ้าพูดให้ถูก ทุกคนด่าในสิ่งที่พอถึงคราวทุกคนก็คงทำในทุกเรื่องน่ะแหละ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s