วันนี้บังเอิญได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบผ่านเข้ามาบนหน้า Facebook ผม ถึงกับมีการสร้าง Page ขึ้นมาเลยทีเดียว
หากพูดตามตรง ผมไม่มีรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเชิงลึกมากนัก และคงไม่กล้าที่จะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ ไปจนถึงการตัดสินว่าควรหรือไม่ควรที่จะมีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ประเด็นหนึ่งที่จะค่อนข้างมีจุดยืนที่ตายตัวอยู่แล้ว คือเรื่องการ subsidize อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาจากภาครัฐ (ซึ่งในความเข้าใจของผม น่าจะเป็นประเด็นแยกจากการอยู่ในระบบหรือออกนอกระบบ เพราะจะอยู่ในระบบไหนถ้ารัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายซะอย่างก็คงทำได้อยู่แล้ว)
ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะไม่ปลื้มระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะของประเทศไหนๆ) ด้วยความไร้ประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการต่างๆ จะรู้สึกว่ามันมีความสิ้นเปลืองในหลายๆ ส่วนอยู่มาก จนทุกวันนี้ผมคิดว่า เราจ่ายเงินเป็นแสนๆ ล้านๆ เพื่อใบปริญญาที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีคุณค่าที่แท้จริงอะไรเทียบได้กับจำนวนเงินที่เสียไปสักเท่าไหร่
และผมเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับโมเดลของการ subsidize อุดหนุนค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ด้วยความเชื่อลึกๆ ว่า ใน free market ตลาดเสรีนี้ การซื้อขายทุกอย่างควรเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของมัน แล้วการให้ความสำคัญและมูลค่าของสิ่งต่างๆ จะเป็นไปอย่างสมดุล รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการด้วย
แต่แน่นอนครับว่า ในชีวิตสังคมจริง โมเดลของการอุดหนุนเหล่านี้ก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้สักทีเดียว เราอาจจะยังมีบางเรื่องบางสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่รัฐควรให้การสนับสนุนประชาชน เพราะสังคมโดยรวมจะได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนนั้น (ยกตัวอย่างเช่น ช่วยแก้ปัญหาปากท้อง ก็ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในสังคม หรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ก็อาจจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคร้ายบางอย่าง ฯลฯ) ซึ่งการที่จะตัดสินว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสมนั้น ก็คงเป็นความคิดที่แตกต่างไปของแต่ละคน
แต่ด้วยความเชื่อที่ผมมองว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าในสังคมสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่เราจำเป็นต้องลงทุนไปในระบบด้วยแล้ว ยิ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ผมเห็นด้วยที่รัฐจะมีการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีคุณภาพมากพอที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่สำหรับการศึกษาภาคอุดมศึกษาแล้ว ผมมองว่าเป็นการศึกษาระดับวิชาชีพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และด้วยลักษณะเนื้อหาที่เข้มข้น เฉพาะทาง เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะกับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพดังกล่าวนั้นให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม
แต่ทุกวันนี้ภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กลับเต็มไปด้วยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ที่สุดท้ายแล้วยากนักที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ใช้เงินร่ำเรียนมามากมายให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น
ผู้เรียนที่ไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียน ย่อมไม่ได้เห็นความสำคัญของมูลค่าที่แท้จริงของการศึกษา และไม่ได้นำปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของวิชาชีพนั้นๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าศึกษาในสถาบันหรือสาขาวิชาต่างๆ เหมือนที่พวกเราจะเลือกซื้อสินค้าต่างๆ หรือการที่นักธุรกิจจะเลือกตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆ
อีกทั้งสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องแข่งขันกันสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและความพึงพอใจคุ้มค่ากับราคาขายที่ผู้เรียนต้องซื้อ เพราะด้วยเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ลอยมา ร่วมกับการที่ต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งให้ได้มากที่สุด ล้วนแล้วแต่เกื้อหนุนยิ่งให้เกิดการศึกษาที่ไร้คุณภาพ และการไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาของผู้เรียน
ดังนั้นโมเดลที่ผมเองออกจะเห็นด้วยมากกว่า คือโมเดลของการมีค่าเล่าเรียนที่สะท้อนความเป็นจริง แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้หรือทรัพย์สินน้อยได้ใช้เงินในอนาคตของตนเองมาใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งก็เป็นเงินที่บุคคลเหล่านั้นควรจะหาได้มากขึ้น จากการเรียนที่มากขึ้นนี้เช่นเดียวกัน
แต่จริงๆ แล้ว ภาพการออกมาต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างตื้นเขิน และนำค่าเล่าเรียนเป็นตัวนำ และปราศจากการมองภาพให้รอบในเชิงลึกก็ค่อนข้างสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การศึกษา ไม่ว่าจะในระดับพื้นฐาน หรือในระดับอุดมศึกษานี้ล้มเหลวอย่างไร
จนบางที ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ในประเทศที่เราแสนจะภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตย แต่เรากลับมีรากฐานทางความคิดที่ออกจะเอียงไปทาง communism สังคมนิยมที่เราตราหน้าว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายได้แบบนี้
ย่อหน้าสุดท้ายมันดูไม่สมเหตุสมผล สังคมนิยมมันตรงข้ามกับทุนนิยมหรอกนี่
จริงๆ ก็คงไม่ได้ตั้งใจจะ focus ความตรงข้าม แต่จะแดกดันการศึกษาที่ put สังคมนิยมให้เป็น evil มากกว่า (ในขณะที่โมเดลการศึกษาเองก็แอบสังคมนิยม)
ป.ล. economic – เกี่ยวกับเศรษฐกิจ; economical – ประหยัด
ตั้งใจจะให้แปลว่า economical ถูกแล้ว