Reality Distortion Field

วลี Reality Distortion Field ถ้าใครได้อ่านชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ ฉบับทางการก็คงจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว (หากใครงง ลองอ่านได้บน Wikipedia) พอดีวันนี้มีเหตุการณ์บางอย่างที่สะกิดใจผมขึ้นมาเล็กน้อย นั่นคือเรื่องประกาศบนเฟซบุ๊กของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผมขอคัดลอกมาดังนี้

ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมเองไม่ได้มีทัศนคติที่ชัดเจนเอนเอียงไปด้านใดเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีมาตรา 112 รวมถึงการตัดสินใจของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ แต่ความคิดเห็นที่ผมมี และที่จะกล่าวถึงในบล็อกนี้ คือการสื่อสารของคุณสมคิดที่ใช้ในกรณีนี้ โดยอนุมานว่า ยังไงก็จะไม่ให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม

โดยปกติแล้ว หากเราต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง เพื่อต้องการความร่วมมือ หรือโน้มน้าวใจผู้รับสารแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องตีออกมาให้ชัดว่า ความต้องการของผู้รับสารคืออะไร มีสิ่งใดที่เขาต้องการ และสิ่งใดคือสิ่งที่ขัดต่อจุดยืน ที่เขาไม่มีวันยอมรับ จนผมมีวลีเด็ดที่ผมจะพูดเสมอๆ กับน้องๆ เวลามีใครมาปรึกษาเรื่องทำนองนี้ว่า “อย่าอ้างเหตุผลที่จุดยืนของเขาไม่มีวันยอมรับ แม้ว่าเราจะคิดว่ามันมีเหตุผลก็ตาม” (เฉพาะกรณีที่เรายังต้องการให้เขาให้ความร่วมมือเราอยู่นะครับ ถ้ากรณีที่เราเองก็คงไม่ได้ต้องการสมัครสมานสามัคคีอะไรด้วยแล้ว กรณีนี้คงไม่จำเป็น)

ในกรณีนี้ หากมองในมุมที่ว่าการตัดสินใจคือการไม่ให้ใช้พื้นที่แล้ว ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม หากผมมีหน้าที่ในการสื่อสาร ผมจะเลือกสื่อสารด้วยเหตุผลที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวสามารถยอมรับได้ ซึ่งข้อความที่คุณสมคิดใช้ มีประเด็นที่ขัดต่อจุดยืนของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 อยู่หลักๆ 2 ประการ

ประการแรก คือการอ้างเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ ซึ่งในมุมของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในอำนาจของประชาชน การอ้างอำนาจของรัฐ ย่อมขัดต่อความรู้สึกของคนกลุ่มนี้โดยปริยาย

ประการที่สอง คือการอ้างเหตุผลที่กลัวว่าบุคคลภายนอกจะมองว่าความคิดเห็นทางการเมืองนี้เป็นของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการทำให้คิดได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนี้ และตัดสินว่าความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่ผิด จึงไม่ควรถูกนำมาเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ผู้รับสารจะไม่ยอมรับ

ผมคิดว่าในข้อความที่คุณสมคิดใช้ เหตุผลที่อ้างได้อย่างดีที่สุด และควรหยิบยกเป็นประเด็นหลักประเด็นเดียว คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล และมนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าใจความสำคัญของประเด็นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน (ซึ่งมีความซ้อนทับกับกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 สูง) จะยิ่งเข้าใจประเด็นนี้ได้มากเป็นพิเศษ

ดังนั้น หากผมจะต้องเป็นโฆษกในกรณีลักษณะนี้ แม้ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะคืออะไรก็ตาม แล้วผมมีหน้าที่ที่ต้องทำให้ผลการสื่อสารออกมาสวยที่สุด ผมจะเลือกที่จะพูดว่า

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นในทิศทางใดก็ตาม และเชื่อมั่นในเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่แสดงถึงความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงมีความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ทางมหาวิทยาลัยจึงมีมติเพื่อขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย งดเว้นการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อการจัดกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีความเสี่ยงและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้จนกว่าสถานการณ์จะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัย ยังมีความเชื่อและเคารพในการแสดงความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวพ้นความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ในเร็ววัน

แม้ว่าข้อความดังกล่าว อาจจะไม่สามารถดับความไม่พอใจของฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ได้อย่างสนิทสักทีเดียวนัก แต่อย่างน้อย ก็จะเป็นการลดความรู้สึกไม่พอใจ รวมถึงลดเหตุผลบางอย่างที่จะเป็นจุดอ่อนที่สามารถถูกมาใช้ในการตอบโต้กลับได้ เช่นเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ เป็นต้น

ย้ำอีกครั้งว่า ผมเองก็คงไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคืออะไร และผมเองก็ไม่ได้มีความคิดเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะห้ามหรือไม่ห้ามอย่างไร แต่ความคิดเห็นนี้มีต่อการสื่อสารเป็นหลัก โดยอนุมานว่าวัตถุประสงค์หลักคือยังไงก็จะไม่ให้จัดเป็นหลัก

There’re no real truth in this world, it’s just what we decided to say.

2 thoughts on “Reality Distortion Field

    1. ถ้าอยากได้อย่างที่ต้องการ ก็ต้องรู้จัก distort reality บ้าง (เจตนาคงเป็นอีกเรื่อง)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s