หลังจากไร้สาระมาสิบกว่าวัน วันนี้ก็มาถึงสาระสำคัญที่มาอังกฤษสักที คือจริงๆ ที่มาอังกฤษรอบนี้คือมาเข้าร่วมงาน UK Social Enterprise Study Visit ที่ทาง British Council ประเทศไทยจัดขึ้น หลักๆ ก็คือการมาดูงานกิจการเพื่อสังคมต่างๆ ในอังกฤษ (ถึงชื่องานจะบอกว่าสหราชอาณาจักร แต่เอาเข้าจริงๆ ก็อยู่แค่ในอังกฤษแค่นั้น) ทั้งนี้ต่อจากนี้จะขอเรียกกิจการเพื่อสังคมสั้นๆ ว่า SE
ในวันแรกนี้เราก็ไปชมกิจการเพื่อสังคมที่ Digbeth ในเมือง Birmingham โดยออกเดินทางตั้งแต่เช้า ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ เมือง Birmingham ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ระดับน้องๆ London เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมเก่า พวกโรงงานการผลิตสมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจะอยู่ที่นี่กันหนาแน่นมาก ในทางกลับกันด้วยความเป็นเมืองใหญ่และเก่า ก็เลยเป็นเมืองที่มีปัญหาทางสังคมต่างๆ อยู่พอสมควร โดยส่วนมากจะเกี่ยวกับประชากร ตั้งแต่คนไร้บ้าน คนที่มีปัญหาทางจิต ไปจนถึงกลุ่มคนผู้อพยพต่างๆ เลยทำให้ Birmingham เป็นเมืองที่มีโจทย์มากมายให้ SE เข้าไปเล่น และ Digbeth เองก็เป็นย่านที่ถือว่าเดินทางจากตัวเมืองสะดวก แต่ก็มีค่าที่ที่ถูกพอที่กิจการใหม่ๆ จะมาอยู่ได้
ในพื้นที่ Digbeth เองมี SE อยู่ทั้งหมดประมาณ 75 เจ้า โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก เกินครึ่งมีพนักงานไม่เกิน 9 คน และมีเพียงสองสามเจ้าที่มีรายได้ถึงระดับหลายล้านปอนด์

เริ่มแรกสุดเรามาเยี่ยมชม SIFA Fireside เป็นองค์กรการกุศลที่เน้นการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งการที่คนเหล่านี้ไร้บ้านไม่มีงานทำนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ติดเหล้า หรือแม้แต่ยาเสพติด ค่อนข้างน่าตกใจที่ได้ทราบว่าคนไร้บ้านในสหราชอาณาจักรมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 47 ปี ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปมาก โดยสิ่งที่ SIFA Fireside ทำนอกเหนือจากการเลี้ยงอาหารแล้วก็ยังมีการให้บริการทางสาธารณสุข การให้คำปรึกษาต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำพาคนเหล่านั้นกลับสู่สังคมการทำงาน ซึ่งบางคนอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี
และสืบเนื่องกันในขั้นตอนของการพาคนเหล่านี้กลับสู่โลกของการทำงาน SIFA Fireside ก็มีกิจการที่ทำเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้ด้วย โดยตัวอย่างที่เขายกมาคือ Out of the Woodwork เป็นกิจการนำเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ มาทำให้เป็นของใหม่ไม่ซ้ำใคร แล้วนำมาขายในตลาดระดับบน สิ่งที่น่าสนใจที่เค้าพูดถึงการนำพาคนที่มีปัญหาเหล่านี้กลับมาทำงานคือการให้โอกาส ความเชื่อใจ และความซื่อสัตย์ เค้ายกตัวอย่างว่าเช่นถ้าคนนึงมีปัญหาติดเหล้า ถ้าเค้าไปทำงานบริษัททั่วไปแล้วเกิดเมามาทำงานไม่ไหว หรือมาทำงานทั้งๆ ที่ยังเมาก็คงโดนไล่ออก แต่ที่นี่เค้าต้องใจเย็นและพยายามเข้าใจ ต้องให้คนที่มาทำงานกล้าพูดถ้าตัวเองมีปัญหา เช่นมาทำงานทั้งๆ ที่ยังเมา เราก็ต้องไม่ติเตียนอะไร อาจจะบอกให้ไปพักพรุ่งนี้มาใหม่ หรือให้ทำงานอย่างอื่นที่ไม่อันตราย เพื่อค่อยๆ ให้คนคนนั้นได้ปรับตัว โดยที่การให้โอกาสนี้ก็จะค่อยๆ สร้างความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเองของคนๆ นั้นซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาด้วย
ถัดมาเขาพามาทานข้าวที่ The Warehouse Café เป็นร้านอาหารมังสวิรัต โดยเริ่มจากปัญหาที่ว่าทุกวันนี้ร้านค้าปลีกต่างๆ จะต้องมีอาหารสดเหลือทิ้งในแต่ละวันจำนวนมากเนื่องจากไม่มีคนซื้อไปก่อนที่มันจะหมดอายุ ร้านนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่นำอาหารเหลือทิ้งหมดอายุเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้วอาจจะยังใช้ได้มาทำเป็นอาหารระดับภัตตาคารไฮโซขายเพื่อไม่ให้เหลือทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ อย่างวันนี้ก็ได้กินแฮมเบอร์เกอร์มังสวิรัต กับของหวานเป็นบราวนี่ส้มและไอศกรีม ทั้งหมดนี้ไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ก็ยังอร่อยมาก
หลังจากนั้นเราก็ไปดู BITA Pathway อันนี้เป็นองค์กรการกุศลคล้ายๆ กับ SIFA Fireside แต่จะเน้นกับกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตเป็นหลัก โดยแนวทางแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืนของเค้าก็ใช้ SE เพื่อรับงานเทรนคนเพื่อไปทำงานในโรงงานภาคการผลิตจากบริษัทต่างๆ โดยทางนี้จะช่วยฝึกสอนให้คนเหล่านี้ทำงานแรงงานง่ายๆ อย่างตรวจนับของ บรรจุของ หรือประกอบสินค้าต่างๆ แล้วเมื่อคนเหล่านั้นพร้อมแล้วก็ส่งไปทำงานกับบริษัทต่างๆ อีกต่อหนึ่งหรืออีก SE หนึ่งที่เค้ามีและผลิตเองเลยคือเป็นทางด้านสิ่งทอ โดยผลิตพวกผ้าม่าน ถุงผ้า ปลอกหมอนต่างๆ ในระดับไฮเอ็นด์ขายเองด้วย
ถัดมาเราก็ไปกันที่ iSE เป็นบริษัทให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจที่เน้นช่วยเหลือ SE ต่างๆ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาการประกอบกิจการ การหาแหล่งเงินทุน ไปจนถึงเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขายในบรรดา SE ในพื้นที่ด้วยกัน โดยแน่นอนว่าก็มีการเก็บค่าบริการต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ โดยที่นี่เองก็มี SE อีกสามเจ้ามาเล่าเกี่ยวกับกิจการของพวกเขาให้ฟังกัน
อันแรกคือ Health Exchange อันนี้เป็นบริษัทให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือคนทั่วไปให้มีสุขภาวะที่ดี โดยได้เงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและตัวบุคคลเอง และเราก็มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่เค้าทำอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณสุขต่างๆ ไปจนถึงการให้บริการด้านสุขภาพให้กับพนักงานในบริษัทเอกชน
อันที่สองคือ Creative Alliance เป็นสถาบันการศึกษานอกโรงเรียนในสายอาชีพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเน้นกระบวนการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสไปฝึกทำงานจริงในบริษัทต่างๆ เลย พร้อมกับมีการประเมินและรับรองคุณภาพแรงงานให้กับผู้เรียนด้วย โดยแหล่งเงินก็มาจากบริษัทที่จะต้องจ่ายเพื่อแลกกับการได้แรงงานมาทำงาน
สุดท้ายคือ Shelanu เป็นกิจการประดิษฐ์เครื่องประดับและงานฝีมือระดับไฮเอ็นด์ต่างๆ โดยให้ผู้อพยพจากที่ต่างๆ มาช่วยกันทำ ปัญหาที่คนเหล่านี้มีคือบางที่เขาอาจจะเข้าเมืองมาไม่ถูกต้อง ทำเอกสารหาย หรืออาจะยังอยู่ในกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เค้ายังไม่มีสิทธิทำงานได้ตามกฎหมาย Shelanu ก็เลยให้คนกลุ่มนี้มาสอนและผลิตงานฝีมือต่างๆ โดยแทนที่จะจ่ายค่าจ้าง ก็เน้นการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจการแทน ซึ่งก็จะแก้ปัญหาว่าแทนที่จะปล่อยให้คนกลุ่มนี้เตะฝุ่นไปวันๆ ก็มาเรียนรู้ทักษะพร้อมๆ กับสร้างความรู้สึกที่ดีไปพร้อมกัน
จบตอนสุดท้ายเนื่องจากเวลามีจำกัด และพื้นที่น้อย SE สุดท้ายเลยมีแค่ตัวแทนไปเยี่ยมชมแล้วมาเล่าให้ฟัง เป็น SE ที่ทำมาการูนขาย โดยให้คนที่เคยเป็นนักโทษมาทำงาน ตัวเจ้าของได้แรงบันดาลใจจากการที่พ่อของเค้าเคยเป็นนักโทษเช่นเดียวกัน โดยมาการูนที่ทำจะเน้นคุณภาพ สามารถทำสีแพนโทนได้ตามที่ลูกค้าสั่ง เลยสามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้
ทั้งหมดนี้ก็จบวันแรกของเมือง Birmingham เดี๋ยวมาต่อกันในวันพรุ่งนี้ที่เมืองอื่นๆ อีกที