เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจงานค่ายของคิวบิกครีเอทีฟที่มีชื่อว่า Cubic Challenger Camp JP ซึ่งเป็นที่หมายใหม่จากค่าย Cubic Challenger Camp เดิมที่จัดที่ประเทศสิงคโปร์ (และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Cubic Challenger Camp SG แล้ว)

โครงการนี้จริงๆ เกิดขึ้นถือว่าค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มเตรียมการจริงๆ ตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งไหนๆ ก็รู้สึกว่าโครงการนี้เป็น milestone หลักไมล์ที่สำคัญอันหนึ่ง เลยคิดว่าอยากจะจดบันทึกไว้สักหน่อยว่าเกิดอะไรบ้างในกระบวนการที่ผ่านมา

ผู้ร่วมเดินทาง (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Why Japan?

จริงๆ จะตอบคำถามนี้ก็คงต้องย้อนไปก่อนว่าคงเป็นเหตุผลคล้ายๆ กับค่ายที่สิงคโปร์ คือเริ่มจากการที่คิวบิกครีเอทีฟเริ่มอยากจะมองหาเป้าหมายใหม่ๆ ในการทำกิจกรรมค่ายเพิ่มมากขึ้น แล้วแนวทางของการออกไปต่างประเทศก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจ ในครั้งแรกสุดเราจึงเริ่มจากสิงคโปร์ด้วยเหตุที่ว่าเป็นประเทศที่ดูเจริญกว่าประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่หมายที่ดูสมเหตุสมผลสำหรับผู้ปกครองจะรู้สึกอยากส่งลูกไป (มองกลับกันง่ายๆ ถ้าหากจัดค่ายในประเทศที่ผู้ปกครองอาจมองว่าด้อยกว่าประเทศไทย เขาก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่มีมูลค่า ไม่อยากส่งลูกไป)

อันดับที่สองคือเหตุบังเอิญว่าประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่ผม “คุ้น” เป็นพิเศษ เนื่องจากเดินทางเข้าๆ ออกๆ สิงคโปร์ปีหนึ่งหลายรอบทั้งจากเหตุผลส่วนตัวและกับเรื่องงานอื่นๆ ที่มีมาเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่าเป็นถิ่นที่เราน่าจะมีความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างและเริ่มต้นได้ง่าย

พอหลังจากที่สิงคโปร์อยู่ตัวแล้ว คำถามที่ตามมาจึงเป็นว่าประเทศที่สองที่เราจะไปคือประเทศใด ญี่ปุ่นถูกเลือกเข้ามาด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กัน นั่นคือดูเจริญกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นประเทศที่ผมเองก็ “คุ้น” รองจากสิงคโปร์เลยก็ว่าได้

นี่คือ MORIUMIUS บรรยากาศจริงฟินกว่านี้อีกสิบเท่า (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Why Ogatsu?

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมถึงเลือกเมือง Ogatsu ที่ไม่มีใครรู้จัก? จริงๆ ผมเองก็ไม่เคยรู้จักเมืองนี้มาก่อนเหมือนกัน เรื่องมันเริ่มมาจากว่าตอนที่ผมกำลังเริ่มลองหาว่าที่หมายที่เราจะไปในช่วง Nature Adventure ควรจะเป็นที่ไหน ซึ่งตอนนั้นก็มี candidate ตัวเลือกที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง Nagoya, Chiba หรือ Niigata แต่ระหว่างที่ผมเริ่มหาข้อมูลและติดต่อพาร์ทเนอร์จากที่ต่างๆ พี่สาวผมก็บังเอิญแนะนำให้ผมรู้สึกกับ MORIUMIUS ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Ogatsu และพี่สาวเขาเคยไปร่วมงานอาสาสมัครที่นั่น

หลังจากนั้นผมก็เลยค่อยๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียเกี่ยวกับแนวคิดหรือกิจกรรมต่างๆ และก็พบว่ากิจกรรมด้านธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ของ MORIUMIUS นี่ถือว่าน่าสนใจและไม่ธรรมดามากๆ ถ้าเทียบกับที่หมายอื่นๆ ที่ออกจะดูเป็นอะไรที่เชิงท่องเที่ยวไปหน่อย (พูดง่ายๆ คือ เป็นอะไรที่จ่ายเงินมาเที่ยวเองก็ไม่มีทางได้เจอง่ายๆ) เลยเป็นอะไรที่คิดว่าน่าจะนำมาจัดเป็นค่ายเพื่อเพิ่มจุดเด่นให้ไม่เหมือนใคร

นอกจากนี้แล้ว คุณ Gentaro ที่เป็นบอสใหญ่ของ MORIUMIUS ยังเป็นคนญี่ปุ่นที่มีความเป็นสากลอยู่มาก คือถ้าใครเคยมีประสบการณ์ในการทำงานหรือใช้ชีวิตกับคนญี่ปุ่นจริงๆ อาจจะพอรู้ว่าคนญี่ปุ่นมีความเฉพาะตัวทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำให้เราเข้าถึงหรือทำงานด้วยได้ยาก แต่สำหรับที่นี่ถึงจะมีความเป็นญี่ปุ่นอยู่ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าที่อื่นๆ เลยทำให้เรารู้สึกว่าสามารถที่จะร่วมงานกันได้ไม่ยากจนเกินไปนัก

ซึ่งสุดท้ายต้องบอกจริงๆ เลยว่าเป็นอะไรที่ไม่ผิดหวัง เพราะสุดท้ายช่วง Nature Adventure ของค่าย Cubic Challenger Camp JP ถือว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก เป็นประสบการณ์ที่เป็นนักท่องเที่ยวมาหาเองไม่ได้ง่ายๆ อย่างลงเรือประมงไปเก็บหอยมาทำอาหาร ได้ลองเลื่อยไม้แบกฟืนกลับที่พักเอง นี่ยังไม่รวมถึงบรรยากาศของที่พักที่สวยยิ่งกว่ารีสอร์ทแพงๆ อาหารหรูๆ พร้อมบ่อออนเซนกลางแจ้งอีก บอกเลยว่าสุดยอดมาก

นอกจากนี้ด้วยความที่ Ogatsu เป็นเมืองที่มีเรื่องราวของการผ่านสึนามิครั้งใหญ่มา ยิ่งทำให้เป็นที่หมายที่มีความพิเศษในการทำกิจกรรมในหัวข้อนี้ เพื่อสะท้อนเกี่ยวกับการผ่านพ้นและฟื้นฟูจากปัญหาที่ประสบ ซึ่งก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของค่ายนี้ในภาพใหญ่เช่นเดียวกัน

จับกันขึ้นมาสดๆ แบบนี้เลย มีให้ชิมกันสดๆ ด้วยนะ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
เคยมีอาหารค่ายไหนมีแซลมอนแบบนี้ไหมล่ะ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
เลื่อยฟืนกันเองแบบนี้เลย แล้วแบกกลับค่ายกันเป็นต้นๆ เลย (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
ให้อาหารหมู (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
ออนเซนกลางแจ้งแบบนี้ ยังกะเรียวกังแพงๆ เลย (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

What about radiation?

เรื่องหนึ่งที่เป็นคำถามสำหรับทั้งตัวผมเองในตอนที่เริ่มทำ และรวมถึงผู้ปกครองหลายๆ ที่ผมโอกาสได้พูดคุย คือเรื่องเกี่ยวกับกัมมันตรังสีจาก Fukushima ซึ่งในประเด็นนี้ผมก็พยายามที่จะหาข้อมูลอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน

ซึ่งสุดท้ายผมก็รู้สึกพอใจกับ hard fact ข้อเท็จจริงที่มากกว่าแค่คำบอกเล่าอ้างของคนทั่วไป ทั้งค่าที่วัดได้อย่างเป็นทางการ (ดูได้ที่ http://www.r-info-miyagi.jp/r-info/en) และกฎหมายและระเบียบการดูแลของหน่วยงานรัฐ เช่นการตรวจสอบในพื้นที่อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น

ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้หลังจากที่ได้หาข้อมูลอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกสงสารคนในพื้นที่ที่ ณ ปัจจุบันเหมือนมี stigma ตราบาป ที่แม้แต่ในสังคมคนญี่ปุ่นด้วยกันเองยังไม่สามารถสร้างการยอมรับด้วยข้อเท็จจริงกันได้ (ซึ่งจริงๆ ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ญี่ปุ้นญี่ปุ่น) เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ผ่านการจัดค่ายมันที่นี่แหละ ให้รู้กันไปเลย

ได้ฟังเรื่องราวจากผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์สึนามิกันจริงๆ จังๆ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Inner Camp (the series)

เป็นการแอบขโมยเอากิจกรรมจาก The Inner Camp มาประยุกต์และย่อเป็นพาร์ทของซีรีส์สามกิจกรรมตลอดช่วงระยะเวลาค่าย ได้แก่ Power of Senses, River of Life และ Power of Choices

โดยเปิดอันแรกจาก Power of Senses ก็จะเป็นกิจกรรมที่ให้น้องๆ ได้เริ่มสัมผัสกับสิ่งรอบตัวต่างๆ ที่อาจไม่เคยสังเกตมาก่อน การฟังอย่างตั้งใจ (deep listening) แล้วย้อนกลับมาถึงการสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

หลังจากที่ปลุกประสาทสัมผัสแล้ว กิจกรรมถัดมา River of Life ก็จะพาน้องๆ ย้อนกลับหาเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ในอดีตของตนเองเพื่อให้เข้าใจความเป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นการทำให้เข้าใจตนเองมากขึ้น ยังเป็นการปูทางไปสู่กิจกรรมสุดท้ายที่สำคัญ นั่นคือ…

ใครเคยไป The Inner Camp คงคุ้นกับบรรยากาศนี้ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Power of Choices เป็นกิจกรรมเวิร์กชอปการเล่าเรื่อง (storytelling) โดยให้นำประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองมาพลิกแพลงเป็นเรื่องราวแบบหลายทางเลือก (interactive story) ที่ผู้ฟังหรือผู้อ่านสามารถเลือกทางเดินได้ และการตัดสินใจต่างๆ ก็จะส่งผลสู่ปลายทางตอนจบที่แตกต่างกันไป เพื่อตอกย้ำประเด็นที่ว่าการตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตของเรานั้นมีความสำคัญแค่ไหน และเราต้องให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของเรา

กิจกรรม Power of Choices มีแขกรับเชิญคุณ JC เป็นคนออสเตรเลียมาร่วมจัดกิจกรรมให้ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Tokyo Family Visit

มาในพาร์ท City Adventure หนึ่งในกิจกรรมที่ผมคิดว่าเป็นเอกลักษณ์มากๆ คือการไปร่วมรับประทานอาหารเย็นกับบ้านคนท้องถิ่นในโตเกียว โดยเราแบ่งกลุ่มน้องเป็นกลุ่มย่อยๆ และแยกย้ายกันไปตามบ้านต่างๆ เพื่อได้มีโอกาสพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนท้องถิ่นแบบจริงๆ ไม่ใช่เป็นการสัมผัสในรูปแบบนักท่องเที่ยวแบบที่คนทั่วไปน่าจะได้เคยสัมผัส ซึ่งลึกๆ แล้วสิ่งที่น้องจะต้องเจอคือการพยายามสื่อสารกับคนท้องถิ่น แบบที่พวกเขาเองก็ไม่ได้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษอะไรกันมากต่างจากคนที่ทำงานบริการท่องเที่ยวโดยตรง โดยวัตถุประสงค์ลึกๆ คืออยากให้น้องได้รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วการสื่อสารกับคนต่างชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ความรู้ทางภาษา การออกเสียง สำเนียงหรืออะไร แต่คือการที่เรากล้า เราพร้อม และพยายามที่จะสื่อสารกับเขาไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ต่างหาก

ร่วมทานอาหารกับครอบครัวญี่ปุ่นที่บ้านเขาเลย (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
ครอบครัวนี้มีเตรียมชุดให้น้องๆ ใส่ด้วย (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

The Great Tokyo Race

หนึ่งในเกมเด็ดของคิวบิกครีเอทีฟ ที่เริ่มจากค่ายที่สิงคโปร์ พอได้มาจัดที่โตเกียวก็รู้สึกยิ่งสนุกกว่าเป็นกอง หลักๆ เลยเพราะอากาศที่นี่มันน่าเดินกว่าในสิงคโปร์มาก คือไม่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับมาตรฐานคนไทยด้วยแล้ว เลยยิ่งมีความรู้สึกอยากเดินทาง อยากเดินหาสมบัติมากขึ้น เดินย้อนไปย้อนมาหน่อยก็ยังสนุกอยู่

น้องจะมี iPad ที่บอกตำแหน่งสมบัติต่างๆ ในเมือง พร้อมตำแหน่งคู่แข่งคนอื่นๆ แบบเรียลไทม์ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

เผื่อใครยังไม่รู้ The Great Tokyo Race คือกิจกรรมที่น้องๆ จะต้องใช้ iPad ที่มีแอพพลิเคชันที่คิวบิกครีเอทีฟทำไว้เพื่อค้นหาสมบัติที่กระจายอยู่ทั่วเมืองโตเกียว โดยเมื่อน้องๆ ไปยังโซนสมบัติต่างๆ แล้ว จะต้องเปิดดูรูปและเดินหาสถานที่ในรูปให้ครบทั้ง 5 รูป ก่อนที่สถานที่ซ่อนสมบัติจะโผล่ขึ้นมา พร้อมกับคำใบ้ที่น้องๆ จะต้องไขรหัสเพื่อเปิดกล่องสมบัตินั้น โดยจุดเด่นอีกอย่างของเกมนี้คือตัว iPad จะออนไลน์ต่อกันหมด สามารถเห็นได้ว่าคนอื่นทำสมบัติอะไรไปแล้ว ใครอยู่ที่ไหน กำลังเดินทางไปที่ไหน

วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของกิจกรรมนี้คือการให้น้องฝึกการนำทางในเมืองด้วยตนเอง (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

และถึงแม้ว่าตอนนี้ The Great Tokyo Race (รวมไปถึง The Great Singapore Race) จะสนุกสุดๆ ในตัวมันเองแล้ว แต่ทางคิวบิกครีเอทีฟก็ยังมีไอเดียอีกมากที่จะพัฒนาตัวกิจกรรมนี้ให้สนุกสุดยอดขึ้นไปได้อีก ต้องติดตามครับ

(ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

Tokyo City Life

ยอมรับว่า กิจกรรมนี้เป็นอะไรที่เพิ่มเข้ามาเรียกได้ว่าวินาทีสุดท้ายมากๆ โดยต้องมีการตัดสินใจเปลี่ยนจากเดิมจะพักที่โรงแรมในโตเกียว ก็เปลี่ยนเป็นมาเช่าบ้านเป็นหลังๆ แล้วในน้องๆ ทั้งค่ายอยู่ร่วมกันจริงๆ แบบต้องช่วยกันทำอาหาร ทำความสะอาด แยกขยะอะไรกันเองจริงๆ จังๆ โดยแนวคิดหลักๆ ให้น้องๆ ได้รู้สึกว่าตัวเองมีพลังที่จะสามารถทำอะไรพวกนี้ด้วยตนเองได้จริงๆ และหลายๆ ครั้งมันไม่ได้แปลว่าเราต้องทำได้แบบสมบูรณ์แบบ แต่มันสำคัญว่าเราทำเอง รับผิดชอบเอง และยอมรับกับผลงานของเราเองมากกว่า ซึ่งอันนี้มักจะเป็นปัญหากับครอบครัวสมัยใหม่ที่ถ้าทำงานบ้านอะไรพวกนี้ในบ้านแล้วก็ทำได้ไม่ดีพอก็จะโดนพ่อแม่บ่นว่า จนสุดท้ายกลายเป็นความไม่มั่นใจและไม่อยากทำ เพราะไม่อยากจะโดนบ่นอะไรแบบนี้ไปแทน

เริ่มจากที่น้องๆ ไปเลือกซื้อวัตถุดิบกันเองจากร้านแถวบ้าน (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)
เสร็จแล้วเอามาทำกันมั่วๆ ได้เป็นเมนูตามนี้ (ภาพจากคิวบิกครีเอทีฟ)

And somehow, it was so great!

และไปๆ มาๆ สุดท้ายมันกลายเป็นค่ายที่บอกเลยว่าเจ๋งมาก เป็นประสบการณ์ที่ทั้งคนทำเอย หรือน้องค่ายเอยได้พบกับอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้กับด้านใหม่ๆ ทั้งของตัวเองและสภาพแวดล้อมต่างๆ อย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณทุกๆ คนที่มีส่วนร่วมให้ Cubic Challenger Camp JP 1 ครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้ถึงจุดนี้ ทั้งทีมงานทุกๆ คน ทั้งที่ร่วมเดินทางและอยู่ที่กรุงเทพฯ พาร์ทเนอร์ต่างๆ ในญี่ปุ่น ไปจนถึงผู้ปกครองและน้องๆ ทุกๆ คนที่มาร่วมผจญภัยกันในครั้งนี้ ผมและทีมงานเองก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นคงต้องบอกเลยว่า Cubic Challenger Camp JP 2 จะเด็ดกว่านี้ขึ้นอีกเป็นสิบเท่า!

แล้วเราจะได้พบกัน

(ถ้าใครอยากชมภาพเต็มๆ แนะนำที่เพจ Cubic Creative เลย)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s