จริงๆ เป็นมิชชั่นส่วนตัวมานานแล้วว่า ตั้งใจจะเก็บแต้มบัตรเครดิตเพื่อมาแลกไมล์ TG มาบิน Royal First ให้ได้ จนในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะมาแลกเอาปีนี้ เพราะหลายๆ อย่างกำลังลงตัว มีแผนจะเดินทางไปในทิศทางที่แลกคุ้มพอดี และก็คิดว่าถ้าเป็นไปได้อยากรีบๆ แลกเพราะหลังจากที่เห็นสายการบินอื่นๆ ค่อยๆ ปรับอัตราการแลกไมล์กันมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าการบินไทยน่าจะจำเป็นต้องปรับตามชาวบ้านเขาในเร็ววันนี้
คำถามจึงมาที่ว่า จะแลกรูทไหนอย่างไรให้คุ้มที่สุด?
คือปกติเนี่ยคนทั่วไปถ้าแลกไมล์แบบสะดวก ก็คงแลกแบบออกจากกรุงเทพฯ ไปกลับธรรมดา ซึ่งก็จะใช้ไมล์ตามเมืองที่ไปตามระยะทางจากกรุงเทพฯ ตามตารางนี้
แต่ทีนี้เรื่องนึงที่คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยทันสังเกตกันคือว่า จริงๆ แล้วเราสามารถแลกไมล์การบินไทยเป็นแบบ connecting flight เที่ยวบินต่อเนื่องกันได้ เช่น HKG-BKK-LHR โดยเราสามารถที่จะ stopover แวะพักที่กรุงเทพฯ นานแค่ไหนก็ได้ ตราบเท่าที่ทั้ง 4 เที่ยวบินบินครบหมดใน 1 ปี ถ้าเป็นแบบนี้ก็เท่ากับว่า เราจะต้องไปเมืองใดเมืองหนึ่ง 2 รอบ โดยต้องหาตั๋วบินไปเอง และไปอีกด้านหนึ่ง 1 รอบ โดยการคิดไมล์ที่จะต้องแลกจะใช้ตามระยะทางสองด้านรวมกัน ทำให้สามารถใช้ไมล์ได้คุ้มขึ้น และได้บิน 4 เที่ยวบิน แถมได้ออกจากกรุงเทพฯ 2 รอบ (แปลว่าได้ใช้ Royal First Lounge 2 รอบเช่นเดียวกัน)
พอคิดได้แบบนี้ เราก็เริ่มวางแผนหาเส้นทางที่คิดว่าจะคุ้มที่สุด เริ่มจากการเอาเส้นทางที่มี Royal First ทั้งหมดออกมา ได้แก่
- Hong Kong
- Osaka
- Tokyo
- Sydney
- Munich
- Rome
- Frankfurt
- Zurich
- Paris
- London
- Madrid
หลังจากนั้น ก็เอาระยะทางทั้งหมดมาคำนวณในตารางเพื่อหาระยะทางรวมของทั้งสองทิศ ทั้งนี้เนื่องจากการแลกไมล์จะไม่สามารถแลกในทิศทางย้อนทางเดิมได้ (เช่น บินจาก London มากรุงเทพฯ แล้วกลับไป Frankfurt แบบนี้ไม่ได้) เพราะฉะนั้นเส้นทางที่บินจะแบ่งเป็น 3 โซนหลักๆ คือโซนยุโรป โซนเอเชีย กับโซนออสเตรเลีย ที่จะสามารถแลกไมล์ข้ามกันได้
ทีนี้ระยะทั้งหมดในตารางจะแบ่งออกเป็นแค่สองกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่เกิน 8,000 ไมล์ กลุ่มนี้จะใช้ไมล์แลก 185,000 ไมล์ กับกลุ่มที่ตั้งแต่ 8,001 ไมล์ขึ้นไป กลุ่มนี้จะต้องใช้ 230,000 ไมล์ ถ้าลองแยกดูก็จะได้แบบนี้
จะเห็นว่า อันที่เป็นระยะทางที่ดีที่สุดที่ไม่เกิน 8,000 ไมล์ จะได้เป็นเส้นทาง Sydney-Bangkok-Tokyo ซึ่งนอกจากจะใช้ไมล์คุ้มที่สุดแล้ว เส้นทางนี้ยังดันเป็นเส้นทางที่ดีมากๆ ในอีกหลายส่วน ได้แก่…
ญี่ปุ่นไม่ต้องขอวีซ่า และออสเตรเลียขอวีซ่าง่าย
คือถ้าเทียบกับเส้นทางที่จะไปยุโรปแล้ว ออสเตรเลียถือว่าขอวีซ่าง่ายกว่ามาก ส่วนญี่ปุ่นก็ไม่ต้องขอเลยอยู่แล้ว
เครื่องที่ใช้บินมีเครื่องใหม่
สำหรับเส้นทาง BKK-NRT การบินไทยจะใช้ A380 บิน ซึ่งก็เป็นเครื่องที่มีที่นั่ง Royal First ของการบินไทยแบบใหม่พอดีอยู่แล้ว
ส่วนเส้นทาง BKK-SYD การบินไทยใช้ 747 บิน แต่อันนี้จะต้องเลือกนิดนึงเพราะว่ามี 2 เครื่อง เครื่องนึงจะเป็นเครื่องเก่า อีกเครื่องจะเป็นเครื่องใหม่ และถือว่าเสี่ยงเพราะการบินไทยขึ้นชื่อเรื่องการสลับเครื่องบินหน้างาน เพราะงั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเจอเครื่องเก่า
แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่าโอเคเพราะจะทำให้ได้บินทั้ง A380 และ 747 ในรอบเดียว
เริ่มเส้นทางที่ Tokyo ง่าย ตั๋วโปรฯ เยอะ
ถ้าจะเริ่มบินจากทางโตเกียว ก็จะจำเป็นต้องหาตั๋วบินไป Tokyo ก่อน ซึ่งเป็นเส้นทางที่หาตั๋วราคาถูกได้ง่ายที่สุดถ้าเทียบกับทางยุโรป
แต่ถ้าเริ่มที่ Sydney ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมน้ำมัน
ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่อนุญาตให้สายการบินใดๆ เก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน ทำให้ตั๋วที่เริ่มออกเดินทางจากประเทศออสเตรเลียจะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และมีผลกับทุกเที่ยวบินในตั๋วใบเดียวกัน (แปลว่า ตราบใดที่ออกเดินทางจากออสเตรเลีย เที่ยวบิน BKK-NRT ก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมน้ำมันไปด้วย)
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ณ เวลาที่แลกไมล์เมื่อต้นเดือน ถ้าเลือกที่จะแลก NRT-BKK-SYD จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเบ็ดเสร็จทั้งหมด 10,395 บาท
แต่พอเปลี่ยนเส้นทางเป็น SYD-BKK-NRT ค่าธรรมเนียมการแลกไมล์จะเหลือแค่ 5,465 บาท ลดลงไปประมาณ 5,000 บาทจากค่าธรรมเนียมน้ำมันล้วนๆ
เหตุผลส่วนตัวที่ทำให้จังหวะการแลกตรงนี้คุ้มขึ้น
- หลักๆ เก็บไมล์กับ Qantas เพราะฉะนั้นเส้นทางบินไปทางออสเตรเลียก็มีความคุ้มในการเก็บไมล์เพิ่มขึ้น (Qantas Platinum ได้ไมล์ 2 เท่า, เก็บแต้มเพื่อรักษาสถานะ)
- มีแผนที่จะไปนิวซีแลนด์อยู่แล้วช่วงปลายปีหน้า เพราะงั้นยังไงก็จะต้องเสียค่าตั๋ว BKK-SYD-AKL เพราะคงบิน Qantas ถ้าเพิ่ม
stopoverแวะพักที่ SYD ก็จะจ่ายเงินเพิ่มแค่ไม่กี่พันบาทเพื่อได้บินตั๋วการบินไทยแลกไมล์อันนี้ เป็นจังหวะที่พอดีกัน - ตั๋วของ Qantas ที่ออกจากกรุงเทพฯ ทั้งหมดมีอายุตั๋ว 1 ปีหมด แม้ว่าจะเป็นตั๋วโปรฯ ที่ถูกที่สุดก็ตาม เพราะฉะนั้นทำให้มีความยืดหยุ่นในการวางเวลาเดินทางมาก
- เมื่อต้นเดือน Qantas มีโปรโมชั่นจองตั๋วแล้วได้แต้มสถานะ (Status Credits) 2 เท่า เพราะฉะนั้นปีหน้าก็น่าจะรักษาสิทธิ์ไว้ได้ง่ายขึ้นและถูกลง
- และถ้ายอมดีไซน์อีกหน่อย ถ้ามีการแวะพักไม่เกิน 24 ชั่วโมงตามสนามบินอื่นๆ ในออสเตรเลีย ตามข้อกำหนดของตั๋ว Qantas รูท BKK-AKL จะไม่เสียค่าตั๋วอะไรเพิ่ม เสียแค่ค่าภาษีสนามบินไม่กี่ร้อย แต่ได้ไมล์กับแต้มเพิ่มขึ้น
หลังจากที่กายกรรมกดหาเที่ยวบินที่คุ้มที่สุดอยู่นาน สุดท้ายเลยได้เป็นเที่ยวบินทั้งหมดดังต่อไปนี้
- 31-10-18 BKK-SYD QF24
- 06-11-18 SYD-BKK TG476
- 04-12-18 BKK-NRT TG676
- 10-12-18 NRT-BKK TG677
- 24-12-18 BKK-SYD TG 475
- 27-12-18 SYD-MEL QF493
- 27-12-18 MEL-AKL QF157
- 06-01-19 AKL-BNE QF126
- 09-01-19 BNE-SYD QF501
- 09-01-19 SYD-BKK QF23
สรุป
หลังจากที่ใช้เวลาวางแผนเป็นวันๆ คิดคำนวณทุกอย่างแล้ว ก็คิดว่า ณ จุดๆ นี้น่าจะคุ้มที่สุดทุกอย่างแล้ว
รวมทั้งหมดตรงนี้ ใช้ไมล์ TG แลกไป 185,000 ไมล์ ค่าธรรมเนียมตั๋วแลกไมล์ของ TG 5,465 บาท ค่าตั๋วทั้งหมดของ QF อยู่ที่ 37,140 บาท รวม 42,605 ได้ไป Tokyo, Sydney, Brisbane และ Auckland
ส่วนโปรแกรม QF ได้ Qantas Points 16,000 (มูลค่าประมาณ 4,000 บาท) กับ Status Credits 240 (คิดเป็น 20% ของที่จะต้องได้เพื่อรักษาสถานะ Qantas Platinum / Oneworld Emerald)
เส้นทางนี้ทั้งหมดได้ใช้เลานจ์ First Class ของ TG@BKK 2 รอบ, NH@NRT, SQ@SYD, QF@MEL, QF@AKL, QF@SYD
และจะได้นั่ง TG Royal First ที่ใฝ่ฝันมานานสักที ภาวนาอย่าให้ตายก่อนถึงปลายปี เพี้ยง
ปล. ใครคิดจะบิน TG หรือ Star Alliance ใดๆ ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 4 ธันวาคมหรือ 24 ธันวาคม มาแจมใช้เลานจ์ Royal First ได้นะ
ขอบคุณครับ บทความมีประโยชน์มาก แล้วถ้าแลก first ไปกลับจากกรุงเทพ เส้นทางไหนคุ้มสุดครับ
จริงๆ ก็คงแล้วแต่ว่าอยากไปไหนดีกว่าครับ เพราะจริงๆ ก็จะไม่ต่างกันมากแล้ว รูทไกลก็มี LHR/CDG/SYD ที่จะมีตลอดๆ