มาถึงวันที่สามของทริป วันนี้มีแผนกำหนดการที่จะไป bushwalk เดินลงจากเขา Mount Wellington มาข้างล่าง แล้วช่วงบ่ายๆ จะไปเที่ยวที่ Tasmanian Museum and Art Gallery ต่อ

วันนี้จึงเริ่มต้นที่ต้องไปขึ้นรถบัสเพื่อขึ้นไปยัง Mount Wellington โดยมีค่าตั๋วแบบเที่ยวเดียวอยู่ที่ 20 AUD โดยต้องขึ้นจาก Tasmania Travel and Information Center รอบเวลา 10:00 (ไม่ต้องตื่นเช้าโหดมากแล้ว) โดยรถบัสใช้เวลาประมาณ 30 – 40 นาทีก็เดินทางขึ้นมาถึง The Pinnacle Area หรือก็คือบริเวณยอดเขา Mount Wellington

รถบัสที่เดินทางไป Mount Wellington รีวิวรถว่ากระเด้งมาก
ถ่ายดูไม่ชัดมาก ไกด์บอกว่าต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเล่นว่า Ghost Tree เพราะด้วยรูปร่างของมัน (คือดูผีๆ จริงๆ แต่ในรูปดูไม่ชัด) เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่วิวัฒนาการให้อยู่ได้ในพื้นที่ที่มีลมแรง เพราะใบน้อยมาก
The Pinnacle Area มีหอคอยอยู่ ใช้เป็นหอคอยสื่อสารของเมือง Hobart
วิวจากข้างบน เห็นเมือง Hobart และทะเล

ทีนี้จากจุดตรงนั้นจะมีทางเดินเทรลลงมา (ถ้าตามในแผนที่ด้านล่างก็คือเส้นทางขวา) โดยทางที่เดินจะแบ่งเป็นสามช่วงใหญ่ๆ คือช่วง Zig Zag Track ถัดมาเป็น Pinnacle Track และจบด้วย Radfords Track + Fern Glade Track

ทางลงเริ่มต้นจาก The Pinnacle Area ยอดบนสุดสู่ Zig Zag Track

Zig Zag Track น่าจะถือว่าเป็นช่วงที่โหดและน่ากลัวที่สุด ประเด็นความยากแรกคือข้างบนมันหนาวมาก และลมแรงมาก ซึ่งอย่างที่บอกไว้วันก่อนหน้านี้ว่าไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนี้เลยไม่ได้เตรียมเสื้อหนาวมามาก โชคดีว่าตัดสินใจติดเอา windbreaker เสื้อกันลมมาด้วยก็พอทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ดีขนาดนั้น

ทีนี้พอหนาวความยากที่ตามมาคือถ้าจะทรงตัวให้ดี ก็ไม่ควรเอามือซุกไว้ในเสื้อนอก ต้องเอามือออกมา แต่พอเอามือออกมาเจอลมก็จะบ้าตายอีก ก็เลยต้องทนมือชาไป

ช่วงนี้ความยากของเส้นทางจะอยู่ที่ความชันที่สูง และหินที่บางทีก็ไม่ได้แน่นขนาดนั้น การเดินแต่ละก้าวก็จะต้องคอยดูดีๆ และหาที่ยึดจับ บางช่วงเค้าจะทำโซ่มาให้ แต่บางช่วงก็ต้องเกาะหินหรือต้นไม้ข้างทางกันไป เรียกได้ว่าด้วยความชันแบบมองลงไปเห็นพื้นข้างล่าง ก็ทำให้ต้องทำสมาธิมากๆ ในการค่อยๆ ไต่ลงไป แบบถ้าก้าวผิดชีวิตเปลี่ยนได้เลย

ระหว่างทางตอนแรกก็มีคิดว่า เอ… หรือเราจะตัดสินใจผิดพลาด เอ… ลงไปมันจะมียากขึ้นกว่านี้อีกมั้ยนา เอ… นี่มีคนอื่นเค้าทำแบบเรามั้ยนะ จนกระทั่งลงมาเรื่อยๆ สักครึ่งชั่วโมงก็บังเอิญสวนกับคนที่เดินปีนขึ้นเขามา ก็เลยโล่งใจว่าเออไม่เพื่อนละ ซึ่งหลังจากนั้นก็เจอคนเรื่อยๆ ตลอดทางเป็นช่วงๆ

ซึ่งมาถึงช่วงท้ายของ Zig Zag Track ทางก็เริ่มมีความปกติขึ้นมาบ้าง ก็เลยมีความอุ่นใจขึ้นมาเล็กๆ และเดาว่าน่าจะไม่มียากๆ แล้วที่เหลือ

พอผ่านช่วง Zig Zag Track มาได้สักพัก ก็จะมาเจอป้ายบอกทางว่าไปทางไหนต่อสำหรับ Pinnacle Track (เพราะจะมีทางแยกอื่นๆ อีก) ก็เลือกไปให้ถูกทาง

ป้ายตรงจุดทางแยก อันนี้คือป้ายที่แสดงทางขึ้นไปยอดเขาคือ Zig Zag Track ที่ลงมา ตอนนี้เราต้องไป The Springs

ถึงตรงนี้เราก็เดินผ่านทาง Pinnacle Track ยาวๆ ลงมาซึ่งเป็นทางที่ค่อนข้างตรงและเป็นทางลาดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งก็เมื่อยขาอยู่พอสมควร และการเดินยังต้องมีสมาธิอยู่พอสมควรเพราะทางจะเรียบแล้วแต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นหินที่อาจจะสะดุดหรือลื่นได้ เพียงแต่จะไม่เครียดมากแล้วเพราะถ้าลื่นล้มอะไรยังไงคงไม่ถึงขั้นตกเขาแบบ Zig Zag Track

จนเดินมาเรื่อยๆ ใช้เวลาน่าจะอีกราวๆ 30 – 45 นาทีก็เดินลงมาเห็นถนนใหญ่ ซึ่งแปลว่าเดินมาถึง The Springs แล้ว เป็นการกลับมาพบกับอารยธรรมมนุษย์อีกครั้ง

มีคาเฟ่ขายขนมด้วย แต่สุดท้ายแวะเข้าห้องน้ำอย่างเดียว

พอมาถึงตรงนี้แล้วเราจะยังกลับไม่ได้ เพราะตรงนี้จะไม่มีขนส่งสาธารณะใดๆ เลยต้องเดินลงไปต่อผ่าน Radfords Track และ Fern Glade Track เพื่อไปยัง Fern Tree Park ที่จะมีรถบัสกลับเข้าเมืองได้

ซึ่งตรงนี้เป็นทางที่ค่อนข้างง่ายมากแล้ว เรียบ กว้าง ราบ แบบจักรยานขี่ได้ด้วย ก็เดินไปเรื่อยๆ

ทีนี้ความโง่ก็มาเกิดขึ้นตรงนี้ คือจริงๆ เพื่อให้เดินไปโผล่ที่ Fern Tree Park เลยเนี่ย หลังจากที่เดินไปตาม Radford Track ได้สักพักเราต้องหักเข้า Fern Glade Track ทีนี้ปรากฎเราเดินเพลิน ไม่ยอมเลี้ยวเข้า เลยกลายเป็นว่าเดินผ่าน Radford Track ยาวไปจนเจอถนนใหญ่ ซึ่งมารู้ตัวตอนถึงถนนใหญ่แล้วว่ามันแปลกๆ เปิดแผนที่ในมือถือดูถึงรู้ว่ามาผิดจุด และต้องเดินบนถนนใหญ่ลงเขาไปอีกพอสมควรถึงจะไปถึง Fern Tree Park

เลยกลายเป็นต้องมาเดินบนถนนใหญ่ประมาณ 15 นาทีได้
เดินมาเรื่อยๆ จนมาถึงเจอจุดที่ถ้าเดินถูกจะมาโผล่ตรงนี้แหละ

พอมาถึงก็ถือว่าเสร็จสิ้นการเดินลงเขา มานั่งรอรถบัสสาย 408 เพื่อนั่งกลับไปในเมือง โดยเสียค่าโดยสาร 3.50 AUD มาลงในเมือง

นั่งรถบัสประมาณ 15 นาทีก็ถึงกลางมือง
ลงตรงประมาณ Town Hall พอดี

หลังจากนั้นก็เดินต่อมาอีกนิดเดียวก็จะมาถึงที่ Tasmanian Museum and Art Gallery

เดินมาถึงตรงนี้ เดินต่อไปเพื่ออ้อมเข้าทางเข้าด้านข้าง
ทางเข้า

หลักๆ ในพิพิธภัณฑ์นี้จะแบ่งเป็นสองส่วน คือมีชั้นล่างที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Tasmania กับชั้นสองที่เป็นส่วนแสดงงานศิลปะ

ตรงทางเข้าก็มีคนมาทำอะไรไม่รู้
อันนี้เป็นคอลเลกชั่นพิเศษ เห็นเขาบอกว่าคือจะเอาของสะสมของเด็กในแทสมาเนียมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดง อย่างอันนี้เป็น Furby ที่น้องคนนึงเขาสะสม

พอเข้ามาก็จะมาเจอกับห้องโถงโล่งๆ ตรงกลาง มีอะไรตรงกลางนิดหน่อย

เข้าไปจะมีอะไรอยู่นิดหน่อยที่งงๆ ว่ามีทำไม

ทีนี้ในชั้นแรกนี้จะมีแบ่งออกเป็น 3 ห้อง โดยห้องแรกเป็นห้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมของ Tasmania โดยมีการจัดแสดงรูปหรือวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องหรือแง่มุมต่างๆ ของ Tasmania ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว หรือชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ มีเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิ์ LGBT ใน Tasmania เรื่องมีอยู่ว่าใน Tasmania เคยเป็นรัฐที่มีกฎหมายต่อต้าน LGBT ที่ค่อนข้างรุนแรง แม้แต่การมีความสัมพันธ์กันระหว่างชายกับชายในพื้นที่ส่วนตัวก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่สามารถได้รับโทษรุนแรงได้ ซึ่งในออสเตรเลีย Tasmania ถือเป็นรัฐสุดท้ายในยุคนั้นที่ยังมีกฎหมายแบบนี้ จนเมื่อถึงปี 1988 จึงทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงเกิดขึ้น มีการจับกุมผู้ประท้วงหลายคน เหตุการณ์บานปลายจนในที่สุดก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นได้จริงๆ ในปี 1997 ที่กฎหมายถูกยกเลิกไป ก่อนที่จะทำให้เกิดกฎหมายที่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ในปี 2003 และจนมีการแต่งงานได้ในปี 2017

มีบอกเล่าเรื่องราว และภาพถ่ายจากเหตุการณ์ประท้วงในปี 1988
อุปกรณ์และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงและการเปลี่ยนแปลง ข้อความ “We’re here. We’re queer. And we’re not going to the Mainland.” สื่อว่าแม้ว่ารัฐอื่นๆ ในออสเตรเลียจะยอมรับ LBGT แล้ว แต่ LGBT ใน Tasmania ก็จะยังอยากอยู่ใน Tasmania บ้านเกิดตัวเอง

ห้องถัดมาเป็นเรื่อง natural history ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของ Tasmania ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เฉพาะใน Tasmania อย่างอันนึงที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษและไม่เคยรู้มาก่อนคือ Thylacine

Thylacine คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายหมา แต่จริงๆ เป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (ตระกูลเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ในพื้นที่ออสเตรเลียอย่างจิงโจ้หรือ Tasmanian Devil) โดยคนท้องถิ่นเรียกว่า Tasmanian Tiger เพราะเอกลักษณ์พิเศษตรงที่มันมีลายตรงหลังคล้ายเสือ

จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Thylacines.jpg

Thylacine ถูกล่าโดยมนุษย์อย่างเข้มข้นในช่วงปลายทศวรรษ 1800 เนื่องจากผู้คนเชื่อว่ามันเป็นศัตรูกับปศุสัตว์ต่างๆ ที่คนเลี้ยงไว้ จนกระทั้งสูญพันธ์ไปอย่างสมบูรณ์ในปี 1936 เมื่อ Thylacine ตัวสุดท้ายในสวนสัตว์เมือง Hobart ตายไป

Thylacine

มาในห้องสุดท้ายเป็นเรื่องของชนพื้นเมืองเดิมที่ Tasmania และวิทยาการต่างๆ ของเผ่าพื้นเมือง อย่างเช่นบ้าน การทำอุปกรณ์ขนส่งน้ำ และเรือ

และมาในชั้นสองก็จะเป็นพวกงานศิลปะทั้งหมด ซึ่งบอกตรงๆ ว่าดูแล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจหรืออินเป็นพิเศษจริงๆ เอารูปมาแปะๆ รวมตรงนี้แล้วกัน

หลังจากนั้นก็จบ เดินไป Woolworths ซื้อของกิน แล้วก็กลับมาโรงแรม เท้าพองอีกต่างหากวันนี้ เดินเยอะมาก

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s