กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม

กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม

เปลี่ยนโหมดท่องเที่ยวมาเป็นเรื่องการเมืองสักนิด จริงๆ ปกติจะเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรที่เป็นสาธารณะมากๆ เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนอำนาจนิยม ทนไม่ค่อยได้กับความเห็นต่าง แต่ครั้งนี้จะขอพลีชีพสักครั้ง เพื่อแสดงทรรศนะว่าทำไมเราไม่ควรโหวตอย่างมียุทธศาสตร์ และเชิญชวนให้ใครที่อยากเลือกพรรคก้าวไกลอยู่แล้วให้เลือกไปเลย

Continue reading “กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม”

Dear Time. Love, Memory.

Dear Time. Love, Memory.

เวลาครับ

วันนี้ผมไปที่ๆ ผมเคยสัญญากับเวลาไว้เมื่อปีก่อนว่าจะมา ตรงต้นไม้ต้นนั้นมันยังเหมือนเดิม อันที่จริงคงไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่สิ่งต่างๆ รอบตัวมัน บรรยากาศทุกอย่าง หรือแม้แต่ลมอ่อนๆ อ้าวๆ ที่พัดผ่านมากระทบเป็นครั้งคราว มันช่างเหมือนเดิมราวกับทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

ถ้า ณ ที่แห่งนั้นจะมีอะไรสักอย่างที่เปลี่ยนไป ก็คงเป็นใจของผมเอง ที่ผมก็อาจจะอธิบายไม่ถูกว่ามันต่างจากเดิมไปอย่างไร รู้แต่ว่ามันก็คงเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับเวลาหนึ่งปีที่หมุนมาอย่างไม่หยุดหย่อน

หนึ่งปีดูจะเป็นเวลาที่ดูยาว แต่ยิ่งเราแก่ตัวกันมา เวลาหนึ่งปีมันก็เหมือนจะหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่เราเคยคิดว่ามันจะยาวนาน ก็กลับสั้นอย่างน่าใจหาย

แต่ในเวลาสั้นๆ นี้เอง มันก็กลับมีเรื่องราวมากมายร้อยเรียงเข้าไปในมิติเวลาเติมเต็มความทรงจำของชีวิตคนเรา พร้อมกับผลักความทรงจำเก่าๆ ให้มันเลือนลางจางลงไปเป็นลำดับ อะไรที่เคยดูหนัก มันก็ผ่อนเบาลงไปตามกาลเวลา

หนึ่งปีมานี้ เวลาเป็นอย่างไรบ้างครับ? ชีวิตผมเองก็ยังดำเนินเรื่องราวของมันขนานกับเวลาต่อไป อาจได้พบกับอะไรใหม่ๆ จะดี จะร้าย ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางของผม แต่สุดท้ายแล้ว หนึ่งปีที่ผ่านมานี้มันก็ทำให้ผมรู้สึกหนักแน่นเข้มแข็งขึ้นอย่างบอกไม่ถูก นี่กระมัง ไอ้ประโยคปลอบใจจากเขาชนไก่ที่ว่าความทุกข์ที่เกินทนจะหลอมคนให้ทนทาน มันคงจะเป็นความจริงอยู่บ้าง

จากตรงนี้ ผมก็ยังใช้ชีวิตของผมต่อไป อันที่จริงมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรอย่างที่เคยกลัวไว้ อาจจะมีความสุขกับมันมากขึ้นกว่าก่อนเสียด้วยซ้ำ ถึงกระนั้นผมเองก็เฝ้ามองเวลาอยู่ห่างๆ จากมุมของผม ยังคงชื่นชมยินดีกับทุกความสุขที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางเวลา และยังเป็นห่วงกับทุกความทุกข์ที่เวลาต้องเผชิญและหมุนผ่านมันไป

จากนี้ผมเองก็ไม่รู้หรอกว่า ผมจะรักษาสัญญาที่ผมให้ไว้กับเวลาได้อีกกี่ปี แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับเวลาตั้งแต่จุดเริ่มต้น มาจนถึงวินาทีนี้ มันก็คงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปได้แต่อย่างใด

รัก

ความทรงจำ

A players, B players.

เมื่อคืนเกิดเหตุการณ์ที่สะกิดใจผมอยู่พอสมควร

จริงๆ มันเริ่มจากเรื่องไม่ค่อยมีสาระที่เรานั่งเล่นเกมการ์ดอะไรกันสักอย่าง แต่เนื่องจากว่าเราคุยกันเล่นๆ ว่าอยากจะรวมหัวแกล้งคนๆ หนึ่งที่เล่นด้วย ผมเลยเสนอว่าจะจัดฉากสุ่มการ์ดเฉพาะพิเศษให้กับคนๆ นั้น โดยผมบอกทุกคนว่าเดี๋ยวพอเขาเข้ามาแล้ว ผมจะทำเป็นล้างไพ่ ให้ทุกคนดูไพ่ที่ค้างกับมือขวาของผมไว้เพราะผมจะลากไพ่ใบนั้นไว้ตลอด แล้วให้ทุกคนเลี่ยงอย่าจับใบนั้น

แต่เนื่องจากเวลานั้นที่ยังไม่ทันตกลงกันได้ชัดเจนเท่าไหร่ เป้าหมายก็เดินเข้ามาพอดี ผมก็เลยรีบยกมือขวาขึ้นกลางวงชัดๆ พร้อมพูดย้ำว่า “เอ้า จะล้างไพ่แล้วนะ” พร้อมกับเอามือขวาโปะไปบนไพ่เป้าหมายกลางวง แล้วล้างไพ่ไปมา

เรื่องราวเหมือนจะผ่านไปด้วยดี เมื่อทุกคนต่างหยิบไพ่ที่ไม่ใช่ใบนั้น และไพ่ใบนั้นก็ตกเป็นของเป้าหมายไปตามที่วางแผนกันไว้

จนกระทั่ง… Continue reading “A players, B players.”

The White Lie

White lies always introduce others of a darker complexion. −William S. Paley

แต่ละคนคงมีเหตุผลมากมายที่จะโกหก บ้างอาจจะโกหกเพื่อปกป้องตัวเอง ในขณะที่บ้างอาจจะโกหกเพื่อปกป้องคนอื่น หลายๆ ครั้งที่เราโกหกด้วยความมุ่งร้าย และอีกหลายๆ ครั้งเราก็คงโกหกด้วยความหวังดี

ผมคิดว่าจริงๆ แล้วก็ออกจะเป็นเรื่องตลกอยู่เหมือนกันนะครับ ที่ในความเป็นจริงคงไม่มีใครอยากที่จะถูกโกหก แต่ถ้าถามกันตรงๆ แล้วล่ะก็ใครๆ ก็คงเคยโกหกกันทั้งนั้น แต่จะโกหกด้วยเหตุผลอะไรนั้น จะดีจะร้าย ก็คงแตกต่างปะปนกันไป

สิ่งหนึ่งที่ผมคงจะพร่ำถามตนเองอยู่เสมอเวลาที่มีใครสักคนโกหกผม ก็คงจะเป็นคำถามที่ว่า จริงๆ แล้วคนๆ นั้นโกหกด้วยเจตนาอะไร เพราะหลายๆ ครั้ง สิ่งเหล่านั้นก็อาจเป็นเจตนาที่ดีเกินกว่าที่เราจะโกรธลงได้

แต่หลายๆ ครั้งเอง เมื่อเหตุผลนั้นไม่เด่นชัด ก็คงจะมีความเชื่อใจเท่านั้นที่จะเป็นตัวยึดเหนี่ยวความคาดหวังนั้นไว้ ซึ่งแต่ละคนก็คงมีค่ามีราคาของความเชื่อใจที่ให้กับคนอื่นๆ แตกต่างกันไป นึกไปนึกมาก็เลยออกจะเป็น paradox ข้อขัดแย้งในตัวเองสักหน่อย ที่เราจะยึดโยงการโกหกกับความไว้เนื้อเชื่อใจ

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ น้ำลายจากถ้อยคำโกหกที่มาจากความหวังดีเหล่านั้น ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกัดกร่อนความเชื่อใจที่มีอยู่ไปอย่างช้าๆ จนแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ

I’m not upset that you lied to me, I’m upset that from now on I can’t believe you. −Friedrich Nietzsche

ถึงกระนั้น การโกหกก็เป็นสิ่งที่คงอยู่กับชีวิตของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเลือกได้ผมก็คงอยากจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย

Where ignorance is bliss, ’tis folly to be wise. −Thomas Gray

แต่ก็ทำไม่เคยได้สักที

Three times four is twelve.

จริงๆ กะจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่เขาโพสท์กันใหม่ๆ แล้ว แต่ก็ลืมไป จนดราม่าออกมาบนเว็บดราม่าก็เลยนึกขึ้นได้ ขอดราม่าอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งละกัน

เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็น เรื่องการกระทำของครู กับเรื่องกระแสของสังคมที่มีกลับมา

อย่างหนึ่งที่คงต้องยอมรับกันก่อนว่า ในทางนิยามของคณิตศาสตร์ 4×3 มันไม่เหมือนกับ 3×4 จริงๆ ซึ่งในคอนเมนต์ท้ายสุดที่เว็บดราม่าฯ เอามาใส่ไว้ก็ชี้แจงได้ค่อนข้างชัดเจนถึงที่มาที่ไป ตอน ป.2 ที่เริ่มเรียนเรื่องการคูณเองผมก็จำได้ว่ามีปัญหาในลักษณะนี้เหมือนกัน ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมการคูณถึงต้องนิยามให้ขัดกับหลัก common sense สามัญสำนึก แต่ตอนนั้นอาจจะเพราะยังเด็กไปก็เลยยังไม่ได้ตั้งคำถามอะไรมากมาย จนโตๆ มาถึงจะพอเข้าใจได้ว่าคณิตศาสตร์มันอยู่บนพื้นฐานของการนิยาม ดังนั้นมันเลยต้องตั้งต้นว่าต้องนิยามให้เหมือนกันก่อน แต่ถ้าอะไรจะได้ผลลัพธ์เท่ากับอะไรก็ต้องไปพิสูจน์กันก่อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นปัญหาของเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากการที่ครูเองไม่มีบรรทัดฐานแล้วให้ข้อหนึ่งผิดข้อหนึ่งถูกทั้งๆ ที่ใช้นิยามเดียวกันแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ว่าครูไม่สามารถอธิบายหรือสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจได้ว่าความผิดนี้เกิดจากอะไร และผิดในจุดไหนของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ทั้งหมดที่จะนำไปสู่คำตอบ แม้ว่ามันจะได้ผลลัพธ์เท่ากันก็ตาม

แต่สิ่งที่น่าละเหี่ยใจกว่า คือสารพัดผู้คนที่เข้ามารุมวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ว่า “ก็มันเท่ากัน ครูให้ผิดได้อย่างไร” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลของความล้มเหลวทางการศึกษาคณิตศาสตร์ที่ทำให้นักเรียนมุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์โดยไม่สนใจกระบวนการที่มาที่ไปของเหตุและผลทางคณิตศาสตร์ ทั้งๆ ที่ความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์มันอยู่ที่กระบวนการและนิยามต่างๆ มากมายที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่นๆ ได้ แต่การเรียนคณิตศาสตร์แบบคิดเลขเร็วและขืนใจให้ทุกๆ คนเรียนอย่างไม่มีทางเลือกก็ทำลายความงดงามนี้ไปหมดสิ้น

ที่จะเหลืออยู่ ก็คงมีเพียงความเกลียดชังที่มีต่อคณิตศาสตร์จากประสบการณ์เลวร้ายที่ฝังเป็นแผลลึกในใจของผู้คนตลอดไป

My personal thought about latest GMM’s YouTube policy.

จากที่ประเด็นเรื่อง GMM กับ YouTube ที่ก็คงเป็นที่ฮือฮากันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุดผมก็เพิ่มเป็นคนเขียนรายงานข่าวประเด็นเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการดึงนำเอาเนื้อหาวีดีโอจาก YouTube ของเว็บ Gmember ใหม่ ในโอกาสนี้เลยอยากมาแสดงทัศนคติส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียสักหน่อย

จริงๆ ถ้าใครรู้จักผมมานาน ก็คงจะพอรู้ว่าตัวผมเองจะค่อนข้างเป็นสายลิขสิทธิ์นิยมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะตั้งแต่เริ่มฟังเพลงช่วงประมาณ ม.ต้น ก็จะซื้อเทป (แฉอายุ) และซีดีของแท้มาตลอด จนทุกวันนี้ก็ยังมั่นใจว่าเพลงใน iTunes Library ที่มีมาจากทางที่ถูกต้องเกิน 95% (ถึงจะมีประเด็นที่นับตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้วการทำซ้ำจากซีดีมาเป็นไฟล์บนคอมพิวเตอร์ก็อาจจะผิดได้อยู่ดีก็ตาม)

ดังนั้นตั้งแต่เริ่มแรกที่มีข่าวเกี่ยวกับการเลิกใช้ YouTube ของทาง GMM ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ GMM ตัดสินใจเป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็คงเป็นสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะทำอย่างไรกับการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้นก็ได้ และประเด็นที่ว่าธุรกิจย่อมต้องหารูปแบบในการหารายได้ที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจดี จะมีก็เพียงแต่ความแปลกใจเล็กน้อยในแง่มุมของทางธุรกิจ ซึ่งโดยลึกๆ ผมก็เชื่อว่าทาง GMM ก็คงมีรายละเอียดข้อมูลอะไรที่จะประกอบการตัดสินใจได้มากกว่าผมอยู่แล้ว

ซึ่งถ้าใครได้อ่านข่าวบน Blognone ของผมคงจะทราบดีว่า ผมก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องประเด็นลิขสิทธิ์หรือการวิเคราะห์ทางธุรกิจ แต่ประเด็นหลักที่ผมเขียนในข่าวคือเรื่องของการที่กระบวนการเผยแพร่สื่อของ GMM อาจขัดต่อ Term of Service ของทาง YouTube

ผมยอมรับครับว่า ในปัจจุบันประชากรโลกส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไปจนถึงการยอมรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากันอยู่มาก แม้ว่าแนวโน้มในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากตัดสินจากสภาพแวดล้อมที่ผมได้สัมผัสก็คงต้องบอกตรงๆ ว่าถือว่าดีขึ้นมาก และก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าทุกวันนี้ในใจลึกๆ ของผมจะยังรู้สึกว่ากฎหมายเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่ แต่ตราบใดที่มันยังเป็นกติกาในสังคม เราก็คงต้องยอมรับมัน และร่วมกันเสนอทางแก้ไขกันไปตามขั้นตอน

แต่ประเด็นหนึ่งที่ทุกวันนี้ผมเองจะขัดใจอยู่เล็กน้อย คือความเข้าใจและยอมรับเกี่ยวกับสิทธิสัญญาอนุญาต (License Agreement) หรือข้อตกลงการให้บริการ (Term of Service) ที่หลายๆ คนที่มักเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ดีแล้ว กลับมาตกม้าตายกับเรื่องพวกนี้ (เช่นประเด็นเรื่องการเจลเบรก iPhone ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ผิดในเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้มีใครคิดถึงเรื่อง EULA เลย)

ดังนั้นในประเด็นของ GMM เองที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องของ YouTube TOS ผมเลยคิดว่าคงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีที่จะทำให้เรื่องของ TOS ได้ผ่านหูผ่านตาสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมเองก็ยังมีความเชื่อว่า GMM น่าจะเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี และน่าจะสามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมกับ YouTube เช่นเดียวกันครับ

ขอแฉ Ensogo บ้าง

ระยะหลังๆ มานี้เหมือนว่าจะได้เห็นข่าวคราวฉาวของ Ensogo ผ่านหูผ่านตามามากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเห็นทวีทของ @mamuang ที่ RT เกี่ยวกับเรื่อง counter ตัวนับยอดซื้อบน Ensogo ก็พยายามจะหาข้อมูลเพิ่ม แต่ยังหาไม่ได้ (ใครมีข้อมูลรบกวนแจ้งหน่อยก็ดี) แต่ระหว่างที่หาก็แอบไปเจอเรื่องบ่นในเว็บพันทิพย์อีกพอสมควร เลยคิดว่ามาแฉเรื่องของตัวเองบ้างดีกว่า

เรื่องของผมคงจะเป็นเรื่องอีกฟากฝั่งบ้างนะครับ เพราะว่าผมเองเคยติดต่อกับทาง Ensogo ในฐานะของเป็นธุรกิจที่อยากจะนำสินค้าไปวางขายบนนั้นบ้าง ซึ่งตอนนั้นเลยมีโอกาสได้คุยกับคนใน Ensogo ที่จะมาเจรจาข้อตกลงกับเรา เลยทำให้พบจุดหลายๆ จุดในนั้น

จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็พอจะเดาได้นะครับว่าด้วยลักษณะของ Ensogo ที่เน้นการขายของที่ดูเหมือนราคาถูกมากๆ เพื่อดึงดูดให้คนที่ไม่เคยเป็นฐานลูกค้าเดิมของเราอยากที่จะมาลองสินค้าหรือบริการของเราโดยใช้ราคาเป็นตัวล่อ แต่ผมเองก็ไม่เคยรู้ว่าทาง Ensogo เองก็จะโหดอยู่พอสมควร

ที่ว่าโหดในที่นี้คือ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะไปฝากดีลด้วยจะตกลงกันได้ง่ายๆ นะครับ เพราะทาง Ensogo เองจะบังคับว่าตัวเลขที่ลดจะต้องหวือหวามากๆ แบบ 50% ขึ้นไปเท่านั้นอะไรแบบนี้ แถมจากตัวเลขที่ลดมาแล้ว Ensogo เองก็หักส่วนแบ่งของตัวเองไปอีกเกือบครึ่ง พูดง่ายๆ คือเงินที่จะเหลือมาถึงธุรกิจนั้นจะเหลือน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าหรือบริการที่จะนำไปเสนอขายบน Ensogo ได้ ควรจะต้องเป็นสินค้าที่มี margin ส่วนต่างกำไรสูงๆ อย่างพวกสินค้า luxury ฟุ่มเฟือยต่างๆ (ซึ่งจุดนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะคงเป็นเรื่องปกติในสินค้าหรือบริการบางอย่างที่จะมีส่วนต่างกำไรสูงเวอร์ๆ อยู่แล้ว)

แต่แน่นอนว่า กับผลิตภัณฑ์ที่ผมอยากจะไปขาย เป็นสิ่งที่ตรงเงื่อนไขนี้ได้ยาก เพราะกิจกรรมต่างๆ ของคิวบิกครีเอทีฟเอง (โดยเฉพาะค่ายพักแรม) ก็ค่อนข้างจะมีส่วนต่างกำไรที่ต่ำ แต่ตอนนั้นผมก็ตั้งใจว่าอาจจะลองจัดเอาผลิตภัณฑ์อย่างอื่นอย่างเช่นคอร์สกลางวันที่อาจจะมีส่วนต่างกำไรสูงหน่อยที่พอจะถูๆ ไถๆ ไปได้บ้าง

แต่สุดท้าย ผมตัดสินใจที่จะไม่ขายดีลบน Ensogo ต่อ เพราะผมเองค่อนข้างขัดใจกับความคิดของ Ensogo อยู่พอสมควร เพราะในระหว่างที่ผมเจรจาอยู่ด้วยนั้น ผมก็ได้พูดถึงข้อจำกัดในเรื่องส่วนต่างกำไรของผมไปบ้าง แต่คำแนะนำที่ผมได้รับกลับจาก Ensogo กลับไม่ค่อยถูกจริตผมเท่าไหร่นัก

ในตอนนั้น Ensogo แนะนำให้ผมสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่ตั้งราคาสูงๆ แต่ปรับต้นทุนให้ถูกแล้วนำเสนอขาย หรือแม้แต่นำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน แต่ตอนทำจริงให้ดำเนินการกับลูกค้าที่ซื้อดีลผ่าน Ensogo อีกแบบที่มีต้นทุนถูกกว่า (Ensogo ถึงกับยกตัวอย่างพวกคอร์สเสริมสวยว่า ของจริงที่จ่ายเต็มอาจจะทำ 5 ขั้นตอน 7 ขั้นตอน แต่พอเป็นดีล Ensogo ก็ให้เราแอบลดเหลือ 2 – 3 ขั้นตอนพออะไรแบบนี้) ซึ่งถ้าใครรู้จักผมมาในระดับหนึ่ง คงจะพอนึกภาพออกว่า ผมไม่ค่อยถูกจริตกับอะไรแบบนี้

แม้ว่าในทางธุรกิจ ผมจะเข้าใจได้ว่าการตั้งราคาให้สูงๆ เพื่อสร้างส่วนต่างราคาเพื่อนำไปใช้ทางการตลาด หรือเพื่อชดเชยข้อจำกัดอื่นๆ ทางธุรกิจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ในข้อหลังผมคิดว่าเป็นการหลอกลวงมากกว่าการทำธุรกิจ และมันยิ่งน่าขยะแขยงที่คนของ Ensogo เป็นคนเอ่ยปากแนะนำให้เราทำอย่างนั้นเสียเองด้วย โดยที่ตัวเองเป็นเสือนอนกินส่วนแบ่งปริมาณมหาศาลนั้นไป โดยไม่ได้สนถึงต้นทุนของคู่ค้าเลย

นับแต่วินาทีนั้น ผมจึงรู้เลยว่า Ensogo ไม่ใช่ธุรกิจที่มีวัฒนธรรมของธรรมาภิบาลที่ดี คู่ควรแก่การที่ผมจะคบหา หรือแม้แต่เป็นลูกค้าด้วย

และแม้ว่าผมจะเชื่อว่าทุกวันนี้ ก็คงมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างตรงไปตรงมาและน่านับถือขายดีลอยู่บน Ensogo อยู่บ้าง และลูกค้าหลายๆ คนก็คงโชคดีที่ได้รับสินค้าและบริการที่ดีเหล่านั้น

แต่ผมก็คงไม่ค่อยอยากจะจ่ายเงินให้กับธุรกิจดีๆ เหล่านั้น หากหมายถึงต้องจ่ายส่วนแบ่งส่วนหนึ่งให้กับอีกธุรกิจที่ !@#$%

อัปเดท (07/08/12) – ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ขอระบุนาม อ้างว่าดูจากจำนวนรายชื่อคนที่เซ็นในสมุดเซ็นชื่อ ต่างกับตัวเลขบนเว็บลิบลับ ยังไงก็ฝากทุกคนลองช่วยกันสังเกตนะครับ อันนี้ก็มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ลองใช้วิจารณญาณกันดูครับ

ว่าด้วยเรื่องโฆษณาแมคชุดใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าใครติดตามข่าวคราวบน Blognone อาจจะได้ผ่านตาข่าวเรื่องเกี่ยวกับโฆษณาแมคชุดใหม่ ที่เน้นไปที่เรื่องของ Genius ใน Apple Store (โฆษณามี 3 ชุด ผมเอามาแปะชุดนึง)

จริงๆ ผมเองก็มีโอกาสได้เห็นโฆษณานี้ก่อนหน้าข่าวนี้เล็กน้อยผ่านเว็บ AppleInsider และก็ยอมรับตามตรงว่าในแว้บแรกที่ดูผ่านๆ ไป ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับโฆษณาชุดนี้สักเท่าไหร่ แต่พอหลังจากที่ได้เห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในเว็บ ก็เลยเริ่มมานั่งคิดๆ ดูลึกๆ ก็ได้จุดสังเกตหลายๆ อย่างที่น่าสนใจพอสมควร

ก่อนอื่นการที่จะวิเคราะห์โฆษณาชุดนี้ ผมคิดว่าเราต้องแยกสองประเด็นให้ชัดเจนก่อน ประเด็นแรกคือเรื่องของ message สารที่โฆษณาชุดนี้ต้องการจะสื่อออกมาตามความตั้งใจทางการตลาด กับการ implement สร้างเรื่องราวของโฆษณาชุดนี้ขึ้นมาว่าตอบโจทย์ได้ดีแค่ไหน

ถ้าใครเคยเรียนทางด้านการตลาดมาบ้าง น่าจะพอเข้าใจประเด็นหนึ่งในการวิเคราะห์ทางการตลาดว่า ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นมีจุดที่เหมือนๆ และจุดที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดอย่างไร ก่อนที่จะนำไปสู่การหาสารหลักของการโฆษณาว่า เราจะชูจุดเด่นอะไรของเรา

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นโฆษณาแมคชุด Get a Mac ที่เป็นแมคกับพีซีคุยกัน อันนี้เราจะสังเกตได้ชัดเจนว่า โฆษณาพยายามแสดงจุดต่างหลายๆ จุดของการใช้แมคออกมา เช่นการใช้งานง่าย ความปลอดภัย หรือแม้แต่ภาพลักษณ์เท่ๆ ออกมา ซึ่งโฆษณาชุดนี้ก็ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสื่อความเหล่านี้

แต่สิ่งหนึ่งที่คนในแวดวงเทคโนโลยีน่าจะสังเกตเห็นได้ไม่ยาก คือจุดต่างเดิมๆ ที่แอปเปิลเคยใช้ในการนำเสนอแมคของตัวเอง เริ่มจะถูกคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ไล่ตามทัน หรือไม่ก็เริ่มถดถอยลงมาเท่าๆ กับคนอื่นบ้าง (เช่นเรื่องความปลอดภัย) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แอปเปิลจะต้องพยายามหาจุดเด่นใหม่ๆ ที่ยังต่างกับคู่แข่งอื่นๆ อย่างชัดเจนในการนำเสนอโฆษณาชุดใหม่

ซึ่งถ้ามองมาถึงประเด็นนี้ ผมคิดว่าแอปเปิลคิดถูกที่เลือก Genius

สำหรับคนที่ไม่ทราบ Genius คือคำที่ใช้เรียกพนักงานใน Apple Store ที่จะมีความรู้ความสามารถทางเทคนิกมากกว่าการเป็นพนักงานขายเฉยๆ ในระดับหนึ่ง สามารถที่จะให้ข้อมูลหรือช่วยเหลือลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างพนักงานขาย กับช่างเทคนิก

ผมคิดว่า Genius เป็นบริการหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นมากๆ ของแอปเปิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอเมริกัน ถึงแม้ว่าบริการนี้ในมุมมองของคนที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่งแล้ว จะเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่งี่เง่ามากๆ แต่ในมุมของลูกค้าทั่วไป ที่ยังมีคำถามทำนองว่าจะตัดวีดีโอแบบนี้ได้ยังไง จะก๊อปไฟล์จากเครื่องเก่าไปเครื่องใหม่ยังไง ผมคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ตลาดต้องการมากๆ และแอปเปิลสามารถนำเสนอได้ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง ทั้งจากเรื่องที่ตัวเองเป็นระบบปิดที่มีความซับซ้อนทางเทคนิกน้อยกว่าคู่แข่งอื่นๆ กับการที่ตัวเองมีร้านค้าปลีกของตัวเอง

ยิ่งในสภาพมาตรฐานการบริการสไตล์อเมริกันด้วยแล้ว Genius ถือได้ว่าอยู่ในระดับท็อปเท็นได้อย่างไม่ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปเปิลจะเลือกเอา Genius มาขายในโฆษณาชุดนี้

แต่คำถามต่อไปที่สำคัญคือ โฆษณาชุดนี้ได้สื่อสาระสำคัญเหล่านี้ออกมาสู่ลูกค้าทั่วไปได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่า?

เรื่องนี้คงมองได้สองมุม มุมหนึ่งที่เราจะสังเกตได้ว่าโฆษณาพยายามนำเสนอความเป็นลูกค้าที่ไม่รู้เรื่องอะไร มองเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ยาก พร้อมๆ กับความสามารถและความตั้งใจที่จะบริการของ Genius ดังนั้นผมคิดว่าโฆษณานี้จะมี impact ความรู้สึกร่วมเป็นพิเศษกับคนที่มีลักษณะเหล่านี้ และทำให้รู้สึกเชื่อไปว่า หากเราไปที่ Apple Store จะได้รับความช่วยเหลือในลักษณะนี้

แต่แน่นอนว่าการสะท้อนภาพนี้ออกมาย่อมเป็นดาบสองคมอย่างที่หลายๆ คนวิพากษ์วิจารณ์ นั้นคือการสะท้อนให้รู้สึกเหมือนผู้ใช้แมคนั้นโง่ ทำอะไรไม่เป็น ต้องได้รับความช่วยเหลือ

โดยหลังจากที่ผมลองมานั่งนึกๆ ดูแล้ว ผมคิดว่าเรื่องนี้แม้ว่าจะจริงไม่น้อย แต่อาจจะไม่ได้เป็นผลเสียกับแอปเปิลอย่างที่หลายคนคิด

ประเด็นแรกคือ คนที่จะรู้สึกได้ว่าตัวละครในเรื่องนั้นโง่ ต้องเป็นคนที่รู้สึกว่าปัญหาที่ตัวละครเหล่านั้นพบช่างเล็กน้อยเหลือเกิน ฉันเองก็ทำได้นะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ย่อมต้องเป็นผู้ใช้ระดับกลางขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ซึ่งในกลุ่มนี้ถ้าเป็นฐานผู้ใช้แมคอยู่แล้วก็คงไม่รู้สึกอะไร ในขณะเดียวกันถ้าเป็นฐานอื่นอยู่ ก็คงเป็นคนที่มีแนวโน้มที่น้อยกว่าที่จะเปลี่ยนมาใช้แมคด้วยเหตุในเรื่องของการบริการ (และก็คงมีแนวโน้มน้อยที่จะเปลี่ยนเพราะเรื่องเทคนิก ตามที่กล่าวตอนต้นว่าจุดเด่นทางเทคนิกของแมคเริ่มน้อยลง)

ดังนั้นด้านเสียเหล่านี้ จึงอาจจะคุ้มกับการสื่อสารที่ทรงพลังกว่า กับกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนมาใช้แมคได้มากกว่า และน่าจะพอใจกับบริการของ Genius ได้มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมมีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรกอยู่แล้ว

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจจริงๆ คือโฆษณาชุดนี้สร้างความน่าสนใจได้มากพอหรือเปล่า เพราะถ้าดูแล้วก็จะเป็นบทสนทนาเรียบๆ ที่ไม่ได้มีความตลกขบขัน หรือตื่นเต้นอะไรสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเทียบกับโฆษณาเก่าๆ ของแอปเปิล ถือว่าอยู่ในขั้นแย่เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าโฆษณานี้มาถูกทางแล้วในเรื่องของแนวทางที่ต้องการจะสื่อสาร แต่การสื่อสารนั้นดูเหมือนจะยังทำได้ไม่โดนใจสักเท่าไหร่ (บางทีถ้ามาจ้างครีเอทีฟจากไทยไปอาจจะทำโฆษณาที่ว้าวได้มากกว่านี้)

นี่เป็นความคิดเห็นหนึ่งที่มีกับโฆษณาชุดใหม่นี้ครับ

Brands I Love and Hate

ใจจริงว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว ผมคิดว่าสำหรับทุกๆ คนก็คงมีความชอบ/ไม่ชอบแบรนด์อะไรต่างๆ รอบตัวทั่วไป วันนี้ผมเลยจะมาพล่ามๆ ดูว่ามีแบรนด์/บริษัทอะไรบ้างที่ผมชอบหรือไม่ชอบเป็นพิเศษ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องพวกนี้คงเป็นอะไรที่ subjective นานาจิตตัง แล้วแต่คนจะมองในมุมต่างๆ

แบรนด์ทั้งหมดในโพสท์นี้แบ่งตามแบรนด์ที่ชอบและไม่ชอบ เรียงตามลำดับตัวอักษร

แบรนด์ที่ชอบ

  • AirAsia – ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกสายการบินราคาประหยัดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมชอบการดำเนินการต่างๆ ภายในของ AirAsia และประสบการณ์การใช้บริการที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอเคสอะไรที่เลวร้าย ที่สำคัญ อาหารที่ขายบนเครื่องนอกจากจะไม่แพงเวอร์แล้ว ยังอร่อยอีกต่างหาก
  • Apple – อันนี้คงตามความคาดหมาย ผมชอบในแนวคิดและปรัชญาหลายๆ อย่างของแบรนด์นี้ และถึงแม้ว่าคงไม่เถียงว่าก็มีหลายๆ จุดของแอปเปิลที่เป็นปัญหา (อย่างเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบตอนนี้คือเรื่องคดีความต่างๆ) แต่จุดเด่นในการดำเนินการต่างๆ ทั้งการจัดการ supply chain สายอุปทาน และการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเทียบกับผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีเจ้าอื่นๆ ก็ทำให้รู้สึกดีมากกว่าจุดที่ไม่ดีอื่นๆ
  • BBQ Plaza – ชอบน้ำจิ้มมาก
  • Black Canyon Coffee – ชอบอาหาร และชาเย็น
  • BTS – รู้สึกว่าเป็นขนส่งมวลชนเพียงรายเดียวของประเทศที่พอจะอวดได้ และที่ผ่านมาก็มีประสบการณ์ที่ดีกับมันมาตลอด (ไม่เคยขึ้นเจอรถพังเหมือนกัน อาจเพราะขึ้นไม่บ่อยพอ ไม่ก็ไม่เคยขึ้นตอนชั่วโมงเร่งด่วน)
  • Cathay Pacific – เป็นสายการบินสำหรับการบินไปไกลๆ ที่ประทับใจที่สุดแล้วในบรรดาสายการบินอื่นๆ ที่เคยนั่งมา (Lufthansa, THAI, Singapore Airlines, SriLankan Airlines) ค่าตั๋วถือว่าค่อนข้างถูกถ้าเทียบกับเจ้าอื่นๆ มีไฟลท์ให้เลือกเยอะมาก (ถ้ารับได้ที่ต้องไปต่อที่ HKG) และเดาว่าเพราะเป็นบริษัทในเอเชีย เลยมีอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีผลทำให้เราชื่นชอบกับการบริการมากกว่าก็เป็นได้
  • DTAC – ชอบในเรื่องของบริการเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่มือถือเครื่องแรกก็ใช้ DTAC มาตลอด และพอใจกับการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคอลเซ็นเตอร์มากๆ นอกจากนี้ในอดีตจะรู้สึกได้ว่าเป็นเจ้าที่มีการหมดเม็ดพวกโปรโมชั่นน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ DTAC แล้วด้วยเหตุผลเรื่องของ 3G เป็นหลัก
  • Facebook – ชอบในความแน่วแน่และการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมต่างๆ ของบริษัท แต่สิ่งที่ไม่ชอบเรื่องหนึ่งอาจเป็นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ก็ชื่นชมถึงความพยายามของ Facebook ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถึงจะยังไม่ดี แต่ก็อยู่ในจุดที่ยอมรับได้ และปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน เพราะใช้ Facebook โดยตระหนักเสมอว่าเราจะถูกละเมิด เลยหลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลอะไรก็ตามลงไป (ไม่ใส่แม้แต่วันเกิด)
  • Foursquare – รู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการใส่รูปแบบของเกมเข้าไปในบริการอื่นๆ ได้อย่างดี และดูเป็นบริการที่ใช้แล้วอารมณ์ดีบอกไม่ถูก
  • Fujitsu – โน๊ตบุ๊กที่บ้านตั้งแต่เมื่อก่อนเป็นยี่ห้อ Fujitsu มาตลอด (มีเราเองที่แหวกแนวตอน ปี 1 ซื้อ Vaio อยู่คนเดียว) และที่ปลื้มคือ ไม่เคยมี Fujitsu เครื่องไหนที่บ้านที่มีอะไรเจ๊งแม้แต่ครั้งเดียว จนกว่าจะตัดใจเลิกใช้ไปเองเพราะทนความอืดไม่ไหว
  • GTH – ชอบเพราะเป็นค่ายหนังเมืองไทย (ที่น่าจะเป็นเจ้าเดียว) ที่ไม่เคยรู้สึกว่าหนังเรื่องไหนที่ดูอยู่ในเกณฑ์แย่ (แย่สุดก็กลางๆ) และเห็นถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจริงๆ
  • JR – อันนี้ปลื้มมากจากการไปเที่ยวสะพายกระเป๋าที่ญี่ปุ่น และรู้สึกผูกพันมาก (เพราะเป็นการเดินทางเดียวที่ต้องใช้เกือบตลอด) นอกจากจะตรงเวลาจนน่ากลัวแล้ว ยังถือว่าเป็นรถไฟที่สะอาดที่สุดที่หนึ่งในหลายๆ ที่ในโลกที่เคยไป หวังลึกๆ ว่าสักวันหนึ่ง รฟท. จะทำได้สักเสี้ยวขี้ตืนของ JR บ้าง
  • LOVEiS – อันนี้ชอบเพลง อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเพลงของกลุ่มบอยด์ถูกจริตก็เป็นได้ อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกได้จากผลงานหลายๆ อย่างของ LOVEiS (รวมถึง Bakery ในอดีต) คือมันเป็นเพลงที่สัมผัสได้ถึง passion ความหลงไหลที่มีในดนตรี ไม่ใช่แค่ทำส่งๆ ไปที (แต่ก็แหงแหละ บรรดาศิลปินของ LOVEiS มีแต่พวกอันจะกินแล้วทั้งนั้น การทำเพลงเพื่อหากินคงไม่ใช่ประเด็นมาก)
  • Microsoft – อันนี้หลายๆ คนคงไม่ทราบ แต่จริงๆ แล้วถึงแม้ว่าผมจะชอบ Apple มาก แต่ผมก็ชอบ Microsoft มากเช่นกัน (จริงๆ แล้วถ้าย้อนไปสักช่วงมัธยมคงบอกได้ว่าตัวเองเป็นสาวก Microsoft) ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมชื่นชมในผลงานหลายๆ อย่างของ Microsoft มาก เช่นชุด Office, Xbox, .NET Framework ถึงแม้ว่าจะมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกได้ว่าเป็นช่วงขาลงของ Microsoft อย่างมาก แต่จนทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับภาพลักษณ์ใหม่ของ Microsoft มากๆ และยอมรับว่า รอลุ้นให้ Windows Phone 8 หรือ Windows 8 อาจทำให้เราเปลี่ยนค่ายมือถือฯ หรือแท็ปเล็ตได้
  • MK Restaurant / Yayoi – อันนี้อาจเป็นเพราะว่ามีเส้นสายที่รู้จักกับเจ้าของ MK เลยทำให้เรารู้ถึงกระบวนการทำงานหลายๆ อย่างข้างไหน ถือว่าเป็นร้านอาหารในไทยที่สามารถจัดการสายอุปทานได้อย่างมหัศจรรย์ (สามารถขยายสาขาตาม Tesco Lotus ได้ง่ายๆ แถมตอนน้ำท่วมถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมากอีกต่างหาก) และอีกอย่างคือเชื่อมั่นในความสะอาดของทั้งสองร้านนี้ว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยแน่นอน
  • MOS Burger – เคยมีโอกาสได้กินครั้งแรกตอนไปสิงค์โปร์เมื่อ ม.2 แล้วชอบเบอร์เกอร์ข้าวมาก ปัจจุบันนอกจากจะชอบเมนูเบอร์เกอร์ข้าวแล้ว ยังปลื้มในความสะอาด (ซึ่งค่อนข้างเป็นมาตรฐานของร้านอาหารที่มาจากประเทศญี่ปุ่น) ที่สำคัญคือมีแอลกอฮอล์ล้างมือแบบไม่ใช้กลีเซอรีน
  • Nintendo – ชอบในวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของ Nintendo โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะขัดคอเกมเมอร์ที่ต้องการฟีเจอร์ออนไลน์เยอะๆ (และขัดใจผมเองด้วยเวลาใช้) แต่การที่ยืดหยัดในเรื่องการเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับครอบครัวนี่ก็น่าชื่นชมไม่น้อย นอกจากนี้ยังปลื้มการสร้างนวัตกรรมในสมัย Wii ด้วย เพราะจริงๆ แล้ว Nintendo ไม่ได้ทำวิจัยเองอะไรมากมาย แต่หยิบเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมารวมกันได้อย่างลงตัว อย่างที่ก็ยังแอบสงสัยว่าทำไมคนอื่นๆ ไม่มีปัญญาจะคิดให้ได้แบบนี้
  • Nok Air – ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม ชอบความน่ารักของแบรนด์และลายเครื่องบิน จะขัดใจก็แค่ว่าสายการบินนี้ไม่มีสจ๊วต
  • Samsung – ชื่นชอบในฐานะที่เป็นบริษัทเอเชียที่สามารถก้าวเป็นบริษัทระดับโลกได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปลื้มสมาร์ทโฟนของซัมซุงมาก และรู้สึกว่าซัมซุงมาถูกทางสุดๆ ยอมรับว่าปัจจุบันนี้คงเป็นตัวเลือกอันดับสองรองจากไอโฟนแน่นอน แอบหวังลึกๆ ว่า SCG จะเป็นได้อย่างซัมซุงบ้าง
  • SCB – ไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ แต่อย่างใด แต่ชอบในการบริการที่ได้รับจาก SCB มาโดยตลอด คอลเซ็นเตอร์ติดตามเรื่องอะไรต่างๆ เริ่ดมาก (ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นลูกค้าบัตรแพลตตินัมหรือเปล่า)
  • Skype – สมัยที่เห็น Skype ครั้งแรกตั้งแต่ตอนเรียนมหา’ลัย ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ได้เหมือนกัน ทุกวันนี้รู้สึกเป็นบริการที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารเวลาไปต่างประเทศช่างราบรื่น
  • Sony – ชอบในยุทธศาสตร์การเอื้อประโยชน์ให้แก่กันในกลุ่มแบรนด์ของบริษัททั้งหมด ดูเหนียวแน่นดี (เช่นใช้ศิลปิน Sony Music โฆษณา Sony Ericsson, ฉายหนัง Sony Pictures บน AXN หรือใช้ Vaio และ Handycam ประกอบฉากในหนัง Sony Pictures) ทุกวันนี้ในบรรดาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปก็มักจะเลือกซื้อของ Sony ก่อนเสมอ
  • Starbucks – ชอบในกระบวนการจัดการเบื้องหลังต่างๆ ที่ทำให้เกิดความ consistency คงที่ของการบริการในทุกสาขาในโลกที่เหมือนกันเป๊ะได้ขนาดนี้ ยิ่งถ้าเทียบกับร้านที่บริการบนเคาน์เตอร์อื่นๆ ที่สหรัฐฯ ด้วยแล้ว คุณภาพการบริการระดับพระเจ้าจริงๆ
  • Valve / Steam – เป็นอีกบริษัทเกมที่มีนวัตกรรมในการทำเกมจริงๆ และไม่เคยรู้สึกว่าเกมไหนที่ทำออกมาเป็นขยะ แถม Steam ยังเป็นนวัตกรรมของการขายเกมที่เริ่ดมาก

แบรนด์ที่เกลียด

  • BMCL – หรือก็คือรถไฟใต้ดิน มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการใช้งานหลายๆ อย่าง รวมถึงการติดต่องานตอน Cubic Race ทุกวันนี้ถ้าเลือกได้จะยอมนั่งแท็กซี่ดีกว่าจ่ายเงินให้ BMCL
  • Central Trading – ไม่ปลื้มเพราะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อยู่ เพราะตั้งแต่เครือเซนทรัลทำ B2S ก็มีการกีดกันไม่ให้ซีเอ็ดเข้าห้างเซ็นทรัลตลอด (แต่ได้ข่าวว่า B2S หล่อนก็ไม่ได้จะรุ่งนะยะ)
  • EA – เป็นบริษัทเกมที่ทำขยะออกมาได้เยอะมาก และไม่ปลื้มกับการทำ DRM ที่จุกจิกและบั่นทอนประสบการณ์ใช้งาน ถึงงั้นก็ยังมีหลายเกมที่ชอบมากๆ แต่เป็นของ EA อย่าง The Sims และ Sim City
  • EMC / Iomega – เคยเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ของเจ้านี้อยู่สองสามชิ้น และทุกชิ้นมีปัญหาเสมอ รู้ตัวแล้วว่าฉันควรจะตีจากมันได้แล้ว
  • Fuji – นอกจากจะแพงแล้วยังขี้งก แถมโดยส่วนตัวรู้สึกว่า Yayoi อร่อยกว่าอีก (อันนี้ถือว่าเป็นบุญ?)
  • Google – ถึงทุกวันนี้จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างของ Google อยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่ชอบ Google ที่สุดคือการทำตัวมือถือสากปากถือศีลในหลายๆ เรื่อง และพยายามทำตัวเป็นตำรวจโลกแห่ง liberty ความเสรีเหมือนสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตัวเองก็มีผลประโยชน์ของตัวเองในเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น ถึงการทำเพื่อตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การทำเป็นดูดี หรือว่าคนอื่นที่พยายามปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นคนเลว (อย่างกรณี Facebook) ผมคิดว่ามันเหี้ยมาก นอกนั้นอีกอย่างที่ไม่ชอบมากๆ คือการ index ทำดัชนีเว็บไซต์ต่างๆ โดยถือค่าปริยายเป็นทำได้ (ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็เกลียดบริการค้นหาทุกเจ้า)
  • Ichitan – จริงๆ ไม่ได้ไม่ชอบอิชิตันเป็นพิเศษ​ แต่ไม่ปลื้มคุณตันมากกว่า คิดว่าหลายๆ อย่างเค้าเฟคไปหน่อย (ที่หงุดหงิดที่สุดคือตอนไปน้ำตาพรากออกสรยุทธ์ที่โรงงานโดนน้ำท่วม ทำเหมือนสถานการณ์สดที่พยายามจะเป็นฮีโร่ แต่ขอร้อง! ใส่หมวกกัปตันเนี่ยนะ) ทุกวันนี้เหตุผลเดียวที่จะกินอิชิตัน เพราะเกลียดโออิชิมากกว่า
  • King Power – หนึ่งในธุรกิจผูกขาดที่ไม่ปลื้ม
  • Oishi – ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวหรือร้านอาหาร เรื่องหนึ่งคงเพราะไม่ปลื้มไทยเบฟ แต่อีกเรื่องที่ไม่ชอบร้านอาหารเพราะรู้สึกสกปรก ขี้งก แล้วยังบริการกากอีกต่างหาก (จริงๆ ก็มีนโยบายลับๆ มาสักพักแล้วว่าคิวบิกฯ จะเลิกเลี้ยงที่โออิชิ)
  • RS – นี่ไม่เกี่ยวว่ารสนิยมเพลงไม่เข้ากัน แต่มีขอพิพาททางแพ่งค้างคากันอยู่ และที่ผ่านมาไม่ได้รู้สึกว่า RS มีนวัตกรรมอะไรที่ทำให้โลกนี้เจริญขึ้นเท่าไหร่
  • SCG – ถึงจะถือว่าเป็นบริษัทที่ก็ไม่แย่ แต่ก็แอบผิดหวังที่ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่มีในการขยับขยายและสร้างนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ อย่างที่บอกไปตอนต้น หวังจริงๆ ให้ SCG ทำได้แบบ Samsung
  • THAI – การบินไทยมีอะไรให้ปลื้มบ้างหรอ? ถามจริง?
  • TOT – เกลียดเน็ตมันจริงๆ
  • True – ถึงทุกวันนี้จะใช้บริการทรูหลายอย่างมาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นบริษัทที่มีคุณภาพการดูแลลูกค้าที่ต่ำมาก บวกกับการที่เป็นบริษัทที่มีระดับจริยธรรมเข้าขั้นต่ำสุด สารพัด CSR โรยหน้าทั้งนั้น ส่วนทรูปลูกปัญญา? มีแต่ crap crap crap

อย่างที่บอกในตอนต้นผมคิดว่าเรื่องพวกนี้คงเป็นเรื่องที่ต่างกันไปแต่ละบุคคลมากๆ เพราะบางคนอาจจะบังเอิญเจอประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีกับแบรนด์ต่างๆ สุ่มๆ กันไป หรืออาจมีความเชื่อในจุดยืนต่างๆ ที่ต่างไป

แต่ก็หวังลึกๆ จริงๆ ว่าสารพัดแบรนด์ไทย (โดยเฉพาะแบรนด์ที่เกลียด) จะก้าวข้ามอะไรบางอย่าง และกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้สักที

Why should you buy new Apple product every year.

วันนี้ผมเพิ่งทำกำไรจาก iPhone 4S มาอีก 2,000 บาท โดยการขายเครื่องเก่า แล้วซื้อเครื่องใหม่โดยใช้โปรโมชันของทรูที่ติดสัญญา 18 เดือน (ซึ่งผมใช้แพคเกจราคานั้นอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกอะไร)

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก แค่ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งที่อยากเขียนบล็อกมานาน แต่ยังไม่ได้เขียนสักที นั่นคือเรื่องของมูลค่าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กับเรื่องของเวลา

ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปมักจะลืมคิดไปเวลาซื้อของชิ้นใหญ่ๆ อะไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องของราคา และความพึงพอใจแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบกัน คือเรื่องของกรอบเวลา ค่าดูแลรักษาและความเสี่ยงด้วย

หากยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรากำลังจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง นอกจากเรื่องของสเปคเครื่อง รูปลักษณ์ (สองอย่างนี้คือความพึงพอใจของเรา) และราคาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องนึกถึง คือเราจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องที่ว่าไปนานเท่าไหร่ เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในการดูแลรักษาเครื่องนี้ให้ใช้งานได้ตามกรอบเวลาที่เราต้องการเท่าไหร่ และมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดการสูญเสียมากกว่าที่เราประเมินไว้

หากยกตัวอย่างง่ายๆ ผมอาจจะพิจารณาระหว่างซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 60,000 บาท โดยตั้งใจว่าจะใช้ 3 ปี หรือจะซื้อคอมพิวเตอร์ 30,000 บาทที่จะใช้ปีครึ่ง แล้วค่อยซื้อเครื่องใหม่ ซึ่งในเวลานั้น เงิน 30,000 บาทอาจจะซื้อเครื่องได้ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์รุ่น 60,000 บาทในปัจจุบันก็ได้ (อันนี้คิดง่ายๆ แบบไม่มีดอกเบี้ย)

ซึ่งหลายครั้งที่เวลามีคนมาปรึกษาผมเรื่องจะซื้อคอมพิวเตอร์ หลายๆ คนมักจะไม่สามารถตอบคำถามของผมได้เมื่อผมถามกลับว่า “ตั้งใจจะใช้นานเท่าไหร่” ทั้งๆ ที่ระยะเวลานี้ มีผลสำคัญมากว่า เราจะเลือกให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินอย่างไร เช่น ถ้าเราตั้งใจจะใช้นาน เราอาจจะยอมได้สเปคที่ต่ำกว่า เพื่อแลกกับแบรนด์ที่อาจมีความคงทนมากกว่า หรือถ้ามีการประมาณการค่าดูแลรักษาไว้แล้ว ก็อาจจะเลือกยี่ห้อที่มั่นใจว่าซ่อมง่ายในไทยไปเลย

สำหรับโทรศัพท์มือถือก็เช่นเดียวกัน เมื่อก่อนตั้งแต่มือถือเครื่องแรกๆ ของผม ผมจะตั้งเป้าไว้ที่ 18 เดือน โดยมักจะซื้อในงบประมาณ 16,000 บาท

ยอมรับว่าตอนผมซื้อ iPhone 3GS เครื่องแรก ผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องประเด็นนี้มากนัก แต่พอหลังจากที่ iPhone 4 ออก แล้วก็พบว่าเราอยากจะใช้ iPhone 4 อีก ตอนซื้อ iPhone 4 เลยเริ่มพิจารณาเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมสังเกตพบ และเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากการใช้มือถือรุ่นก่อนๆ ของผม กับการใช้ iPhone คือ การขายต่อนั้นทำได้ง่ายมาก และมีมูลค่ามากกว่าที่เราจินตนาการไว้เสมอ

และผมพบว่า การที่เราซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอันล่าสุดเสมอ ซึ่งมักจะออกทุกๆ ในกรอบเวลา 1 ปี แล้วขายอันเก่าทิ้งไป เป็นตัวเลือกที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดในหลายๆ ประการ ได้แก่

  1. เราจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเสมอ (ซึ่งจะมีมูลค่ากับคนที่อินในเทคโนโลยีอย่างผมเป็นพิเศษ) อันนี้เป็นปกติของเทคโนโลยี
  2. เราจะได้ใช้อุปกรณ์ในช่วงกรอบระยะเวลาประกัน 1 ปี ซึ่งมูลค่าที่ซ่อนอยู่ของการอยู่ในประกัน มักเป็นมูลค่าที่ตลาดสินค้ามือ 2 มักมองข้าม หรือไม่สามารถตีราคาได้อย่างชัดเจน ซึ่งมักเป็นมูลค่าที่ไม่ได้เพิ่มราคาขายต่อสักเท่าไหร่ แต่เป็นประโยชน์ในช่วงเวลาที่เราถือครองผลิตภัณฑ์นั้นๆ
  3. ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมักเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ไม่ได้เองง่ายๆ ซึ่งแบตเตอร์รี่ก็มักจะมีอายุการใช้งานที่แย่ลงไปมากหลังจากผ่านไปหนึ่งปี เช่นเดียวกันเป็นสิ่งที่ตลาดสินค้ามือ 2 มองไม่เห็น และไม่ส่งผลต่อราคาขายต่อโดยตรง การซื้อของใหม่จะทำให้เราได้ใช้แบตเตอร์รี่ที่ดีที่สุดเสมอด้วย
  4. มูลค่าของ iPhone มือสองจะตกลงอย่างรวดเร็วหลังจากช่วง 1 ปีเป็นต้นไป การรีบขายในช่วงกรอบประมาณ 1 ปีจึงเป็นจังหวะที่มีความคุ้มค่าที่สุด

ซึ่งหากมองย้อนกลับไปแล้ว ในช่วงการใช้ iPhone ทั้งสามเครื่องของผมที่ผ่านมา ผมจะใช้เงินประมาณตกปีละ 6,000 – 8,000 บาท เพื่อใช้เครื่องรุ่นล่าสุดเสมอ (รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เช่นฟิล์ม) ซึ่งตัวเลขนี้หากเทียบเอาตามมูลค่าง่ายๆ แบบไม่คิดดอกเบี้ย ก็เท่ากับใช้เครื่องรุ่น 21,000 บาทเป็นเวลาประมาณ 3 ปีแล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ไปเลย แต่ต่างกันตรงที่ สองปีหลังจะได้ใช้รุ่นล่าสุดด้วย และตลอด 3 ปีมีประกันยาวทั้งหมด นอกจากนี้กรณีที่เรามีทรัพย์สินมากพอที่จะเอามาจมอยู่ในโทรศัพท์ เราก็สามารถเลือกใช้รุ่นแพงได้ โดยไม่ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อปีมากเท่ากับการซื้อเพื่อใช้จนทิ้ง

แถมตัวเลขที่ว่านี้ ยังน้อยกว่าสมัยก่อนผมใช้ iPhone เสียอีก

สุดท้ายนี้ อยากลองแนะนำให้ทุกคนลองย้อนดูประวัติการใช้โทรศัพท์มือถือ (หรืออุปกรณ์มูลค่าสูงอื่นๆ) ของตนเองดูครับว่า เรามีค่าใช้จ่ายที่แท้จริงต่อปีเท่าไหร่ และเรามีตัวเลือกที่จะใช้เงินน้อยลงเพื่อให้ได้ความพอใจเท่าเดิม หรือใช้เงินเท่าเดิมเพื่อความพอใจที่มากขึ้นหรือไม่

หวังว่าจะทำให้ทุกคนใช้เงินได้คุ้มค่าขึ้นครับ