วันนี้เรามีธีมที่จะเที่ยวแนวเทคโนโลยีทั้งหมดในโซน Silicon Valley แถวนี้ โดยจะมีแก้วเป็นผู้ร่วมทริป เริ่มต้นจากไปที่ Apple Campus โฉบดู Apple Park ไปชม Computer History Museum แล้วให้พี่ที่แก้วรู้จักพาไปดูออฟฟิศ Facebook แล้วปิดท้ายด้วยการไปหาแบดด์ที่ Omnivirt Continue reading “US Trip 2017 – Day 16”
Tag: Apple
US Trip 2017 – Day 15
วันนี้เรามีแผนการเหลืออีกที่เดียวใน Yosemite ก่อนที่จะเดินทางต่อไป San Francisco นั่นคือการไปดูต้นSequoia ยักษ์ ซึ่งจะอยู่ประมาณทางทิศตะวันตกของอุทยาน ทางเดียวกับทางออกไป San Francisco พอดี จึงเริ่มต้นจากการตื่นเช้า (ที่พี่ชายไม่หนาวมากแล้วเพราะคืนนี้เอาเสื้อหนาวมาใส่นอนเลย) แล้วก็ทานมื้อเช้าที่โรงแรม เมนูเป็นเบอริโต้อะไรสักอย่าง ก่อนจะเริ่มขับรถเข้ามาใน Yosemite ทางประตูทิศใต้อีกครั้ง Continue reading “US Trip 2017 – Day 15”
ว่าด้วยเรื่องโฆษณาแมคชุดใหม่
เมื่อไม่นานมานี้ ถ้าใครติดตามข่าวคราวบน Blognone อาจจะได้ผ่านตาข่าวเรื่องเกี่ยวกับโฆษณาแมคชุดใหม่ ที่เน้นไปที่เรื่องของ Genius ใน Apple Store (โฆษณามี 3 ชุด ผมเอามาแปะชุดนึง)
จริงๆ ผมเองก็มีโอกาสได้เห็นโฆษณานี้ก่อนหน้าข่าวนี้เล็กน้อยผ่านเว็บ AppleInsider และก็ยอมรับตามตรงว่าในแว้บแรกที่ดูผ่านๆ ไป ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับโฆษณาชุดนี้สักเท่าไหร่ แต่พอหลังจากที่ได้เห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ในเว็บ ก็เลยเริ่มมานั่งคิดๆ ดูลึกๆ ก็ได้จุดสังเกตหลายๆ อย่างที่น่าสนใจพอสมควร
ก่อนอื่นการที่จะวิเคราะห์โฆษณาชุดนี้ ผมคิดว่าเราต้องแยกสองประเด็นให้ชัดเจนก่อน ประเด็นแรกคือเรื่องของ message สารที่โฆษณาชุดนี้ต้องการจะสื่อออกมาตามความตั้งใจทางการตลาด กับการ implement สร้างเรื่องราวของโฆษณาชุดนี้ขึ้นมาว่าตอบโจทย์ได้ดีแค่ไหน
ถ้าใครเคยเรียนทางด้านการตลาดมาบ้าง น่าจะพอเข้าใจประเด็นหนึ่งในการวิเคราะห์ทางการตลาดว่า ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นมีจุดที่เหมือนๆ และจุดที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดอย่างไร ก่อนที่จะนำไปสู่การหาสารหลักของการโฆษณาว่า เราจะชูจุดเด่นอะไรของเรา
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นโฆษณาแมคชุด Get a Mac ที่เป็นแมคกับพีซีคุยกัน อันนี้เราจะสังเกตได้ชัดเจนว่า โฆษณาพยายามแสดงจุดต่างหลายๆ จุดของการใช้แมคออกมา เช่นการใช้งานง่าย ความปลอดภัย หรือแม้แต่ภาพลักษณ์เท่ๆ ออกมา ซึ่งโฆษณาชุดนี้ก็ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสื่อความเหล่านี้
แต่สิ่งหนึ่งที่คนในแวดวงเทคโนโลยีน่าจะสังเกตเห็นได้ไม่ยาก คือจุดต่างเดิมๆ ที่แอปเปิลเคยใช้ในการนำเสนอแมคของตัวเอง เริ่มจะถูกคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ไล่ตามทัน หรือไม่ก็เริ่มถดถอยลงมาเท่าๆ กับคนอื่นบ้าง (เช่นเรื่องความปลอดภัย) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แอปเปิลจะต้องพยายามหาจุดเด่นใหม่ๆ ที่ยังต่างกับคู่แข่งอื่นๆ อย่างชัดเจนในการนำเสนอโฆษณาชุดใหม่
ซึ่งถ้ามองมาถึงประเด็นนี้ ผมคิดว่าแอปเปิลคิดถูกที่เลือก Genius
สำหรับคนที่ไม่ทราบ Genius คือคำที่ใช้เรียกพนักงานใน Apple Store ที่จะมีความรู้ความสามารถทางเทคนิกมากกว่าการเป็นพนักงานขายเฉยๆ ในระดับหนึ่ง สามารถที่จะให้ข้อมูลหรือช่วยเหลือลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างพนักงานขาย กับช่างเทคนิก
ผมคิดว่า Genius เป็นบริการหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นมากๆ ของแอปเปิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอเมริกัน ถึงแม้ว่าบริการนี้ในมุมมองของคนที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ในระดับหนึ่งแล้ว จะเรียกได้ว่าเป็นอะไรที่งี่เง่ามากๆ แต่ในมุมของลูกค้าทั่วไป ที่ยังมีคำถามทำนองว่าจะตัดวีดีโอแบบนี้ได้ยังไง จะก๊อปไฟล์จากเครื่องเก่าไปเครื่องใหม่ยังไง ผมคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ตลาดต้องการมากๆ และแอปเปิลสามารถนำเสนอได้ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่ง ทั้งจากเรื่องที่ตัวเองเป็นระบบปิดที่มีความซับซ้อนทางเทคนิกน้อยกว่าคู่แข่งอื่นๆ กับการที่ตัวเองมีร้านค้าปลีกของตัวเอง
ยิ่งในสภาพมาตรฐานการบริการสไตล์อเมริกันด้วยแล้ว Genius ถือได้ว่าอยู่ในระดับท็อปเท็นได้อย่างไม่ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปเปิลจะเลือกเอา Genius มาขายในโฆษณาชุดนี้
แต่คำถามต่อไปที่สำคัญคือ โฆษณาชุดนี้ได้สื่อสาระสำคัญเหล่านี้ออกมาสู่ลูกค้าทั่วไปได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่า?
เรื่องนี้คงมองได้สองมุม มุมหนึ่งที่เราจะสังเกตได้ว่าโฆษณาพยายามนำเสนอความเป็นลูกค้าที่ไม่รู้เรื่องอะไร มองเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ยาก พร้อมๆ กับความสามารถและความตั้งใจที่จะบริการของ Genius ดังนั้นผมคิดว่าโฆษณานี้จะมี impact ความรู้สึกร่วมเป็นพิเศษกับคนที่มีลักษณะเหล่านี้ และทำให้รู้สึกเชื่อไปว่า หากเราไปที่ Apple Store จะได้รับความช่วยเหลือในลักษณะนี้
แต่แน่นอนว่าการสะท้อนภาพนี้ออกมาย่อมเป็นดาบสองคมอย่างที่หลายๆ คนวิพากษ์วิจารณ์ นั้นคือการสะท้อนให้รู้สึกเหมือนผู้ใช้แมคนั้นโง่ ทำอะไรไม่เป็น ต้องได้รับความช่วยเหลือ
โดยหลังจากที่ผมลองมานั่งนึกๆ ดูแล้ว ผมคิดว่าเรื่องนี้แม้ว่าจะจริงไม่น้อย แต่อาจจะไม่ได้เป็นผลเสียกับแอปเปิลอย่างที่หลายคนคิด
ประเด็นแรกคือ คนที่จะรู้สึกได้ว่าตัวละครในเรื่องนั้นโง่ ต้องเป็นคนที่รู้สึกว่าปัญหาที่ตัวละครเหล่านั้นพบช่างเล็กน้อยเหลือเกิน ฉันเองก็ทำได้นะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ย่อมต้องเป็นผู้ใช้ระดับกลางขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ซึ่งในกลุ่มนี้ถ้าเป็นฐานผู้ใช้แมคอยู่แล้วก็คงไม่รู้สึกอะไร ในขณะเดียวกันถ้าเป็นฐานอื่นอยู่ ก็คงเป็นคนที่มีแนวโน้มที่น้อยกว่าที่จะเปลี่ยนมาใช้แมคด้วยเหตุในเรื่องของการบริการ (และก็คงมีแนวโน้มน้อยที่จะเปลี่ยนเพราะเรื่องเทคนิก ตามที่กล่าวตอนต้นว่าจุดเด่นทางเทคนิกของแมคเริ่มน้อยลง)
ดังนั้นด้านเสียเหล่านี้ จึงอาจจะคุ้มกับการสื่อสารที่ทรงพลังกว่า กับกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนมาใช้แมคได้มากกว่า และน่าจะพอใจกับบริการของ Genius ได้มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ย่อมมีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรกอยู่แล้ว
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจจริงๆ คือโฆษณาชุดนี้สร้างความน่าสนใจได้มากพอหรือเปล่า เพราะถ้าดูแล้วก็จะเป็นบทสนทนาเรียบๆ ที่ไม่ได้มีความตลกขบขัน หรือตื่นเต้นอะไรสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเทียบกับโฆษณาเก่าๆ ของแอปเปิล ถือว่าอยู่ในขั้นแย่เสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าโฆษณานี้มาถูกทางแล้วในเรื่องของแนวทางที่ต้องการจะสื่อสาร แต่การสื่อสารนั้นดูเหมือนจะยังทำได้ไม่โดนใจสักเท่าไหร่ (บางทีถ้ามาจ้างครีเอทีฟจากไทยไปอาจจะทำโฆษณาที่ว้าวได้มากกว่านี้)
นี่เป็นความคิดเห็นหนึ่งที่มีกับโฆษณาชุดใหม่นี้ครับ
Why should you buy new Apple product every year.
วันนี้ผมเพิ่งทำกำไรจาก iPhone 4S มาอีก 2,000 บาท โดยการขายเครื่องเก่า แล้วซื้อเครื่องใหม่โดยใช้โปรโมชันของทรูที่ติดสัญญา 18 เดือน (ซึ่งผมใช้แพคเกจราคานั้นอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกอะไร)
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก แค่ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งที่อยากเขียนบล็อกมานาน แต่ยังไม่ได้เขียนสักที นั่นคือเรื่องของมูลค่าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กับเรื่องของเวลา
ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปมักจะลืมคิดไปเวลาซื้อของชิ้นใหญ่ๆ อะไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องของราคา และความพึงพอใจแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาประกอบกัน คือเรื่องของกรอบเวลา ค่าดูแลรักษาและความเสี่ยงด้วย
หากยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรากำลังจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง นอกจากเรื่องของสเปคเครื่อง รูปลักษณ์ (สองอย่างนี้คือความพึงพอใจของเรา) และราคาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องนึกถึง คือเราจะใช้คอมพิวเตอร์เครื่องที่ว่าไปนานเท่าไหร่ เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในการดูแลรักษาเครื่องนี้ให้ใช้งานได้ตามกรอบเวลาที่เราต้องการเท่าไหร่ และมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดการสูญเสียมากกว่าที่เราประเมินไว้
หากยกตัวอย่างง่ายๆ ผมอาจจะพิจารณาระหว่างซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 60,000 บาท โดยตั้งใจว่าจะใช้ 3 ปี หรือจะซื้อคอมพิวเตอร์ 30,000 บาทที่จะใช้ปีครึ่ง แล้วค่อยซื้อเครื่องใหม่ ซึ่งในเวลานั้น เงิน 30,000 บาทอาจจะซื้อเครื่องได้ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์รุ่น 60,000 บาทในปัจจุบันก็ได้ (อันนี้คิดง่ายๆ แบบไม่มีดอกเบี้ย)
ซึ่งหลายครั้งที่เวลามีคนมาปรึกษาผมเรื่องจะซื้อคอมพิวเตอร์ หลายๆ คนมักจะไม่สามารถตอบคำถามของผมได้เมื่อผมถามกลับว่า “ตั้งใจจะใช้นานเท่าไหร่” ทั้งๆ ที่ระยะเวลานี้ มีผลสำคัญมากว่า เราจะเลือกให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเงินอย่างไร เช่น ถ้าเราตั้งใจจะใช้นาน เราอาจจะยอมได้สเปคที่ต่ำกว่า เพื่อแลกกับแบรนด์ที่อาจมีความคงทนมากกว่า หรือถ้ามีการประมาณการค่าดูแลรักษาไว้แล้ว ก็อาจจะเลือกยี่ห้อที่มั่นใจว่าซ่อมง่ายในไทยไปเลย
สำหรับโทรศัพท์มือถือก็เช่นเดียวกัน เมื่อก่อนตั้งแต่มือถือเครื่องแรกๆ ของผม ผมจะตั้งเป้าไว้ที่ 18 เดือน โดยมักจะซื้อในงบประมาณ 16,000 บาท
ยอมรับว่าตอนผมซื้อ iPhone 3GS เครื่องแรก ผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องประเด็นนี้มากนัก แต่พอหลังจากที่ iPhone 4 ออก แล้วก็พบว่าเราอยากจะใช้ iPhone 4 อีก ตอนซื้อ iPhone 4 เลยเริ่มพิจารณาเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมสังเกตพบ และเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากการใช้มือถือรุ่นก่อนๆ ของผม กับการใช้ iPhone คือ การขายต่อนั้นทำได้ง่ายมาก และมีมูลค่ามากกว่าที่เราจินตนาการไว้เสมอ
และผมพบว่า การที่เราซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลอันล่าสุดเสมอ ซึ่งมักจะออกทุกๆ ในกรอบเวลา 1 ปี แล้วขายอันเก่าทิ้งไป เป็นตัวเลือกที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดในหลายๆ ประการ ได้แก่
- เราจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเสมอ (ซึ่งจะมีมูลค่ากับคนที่อินในเทคโนโลยีอย่างผมเป็นพิเศษ) อันนี้เป็นปกติของเทคโนโลยี
- เราจะได้ใช้อุปกรณ์ในช่วงกรอบระยะเวลาประกัน 1 ปี ซึ่งมูลค่าที่ซ่อนอยู่ของการอยู่ในประกัน มักเป็นมูลค่าที่ตลาดสินค้ามือ 2 มักมองข้าม หรือไม่สามารถตีราคาได้อย่างชัดเจน ซึ่งมักเป็นมูลค่าที่ไม่ได้เพิ่มราคาขายต่อสักเท่าไหร่ แต่เป็นประโยชน์ในช่วงเวลาที่เราถือครองผลิตภัณฑ์นั้นๆ
- ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมักเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ไม่ได้เองง่ายๆ ซึ่งแบตเตอร์รี่ก็มักจะมีอายุการใช้งานที่แย่ลงไปมากหลังจากผ่านไปหนึ่งปี เช่นเดียวกันเป็นสิ่งที่ตลาดสินค้ามือ 2 มองไม่เห็น และไม่ส่งผลต่อราคาขายต่อโดยตรง การซื้อของใหม่จะทำให้เราได้ใช้แบตเตอร์รี่ที่ดีที่สุดเสมอด้วย
- มูลค่าของ iPhone มือสองจะตกลงอย่างรวดเร็วหลังจากช่วง 1 ปีเป็นต้นไป การรีบขายในช่วงกรอบประมาณ 1 ปีจึงเป็นจังหวะที่มีความคุ้มค่าที่สุด
ซึ่งหากมองย้อนกลับไปแล้ว ในช่วงการใช้ iPhone ทั้งสามเครื่องของผมที่ผ่านมา ผมจะใช้เงินประมาณตกปีละ 6,000 – 8,000 บาท เพื่อใช้เครื่องรุ่นล่าสุดเสมอ (รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เช่นฟิล์ม) ซึ่งตัวเลขนี้หากเทียบเอาตามมูลค่าง่ายๆ แบบไม่คิดดอกเบี้ย ก็เท่ากับใช้เครื่องรุ่น 21,000 บาทเป็นเวลาประมาณ 3 ปีแล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ไปเลย แต่ต่างกันตรงที่ สองปีหลังจะได้ใช้รุ่นล่าสุดด้วย และตลอด 3 ปีมีประกันยาวทั้งหมด นอกจากนี้กรณีที่เรามีทรัพย์สินมากพอที่จะเอามาจมอยู่ในโทรศัพท์ เราก็สามารถเลือกใช้รุ่นแพงได้ โดยไม่ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อปีมากเท่ากับการซื้อเพื่อใช้จนทิ้ง
แถมตัวเลขที่ว่านี้ ยังน้อยกว่าสมัยก่อนผมใช้ iPhone เสียอีก
สุดท้ายนี้ อยากลองแนะนำให้ทุกคนลองย้อนดูประวัติการใช้โทรศัพท์มือถือ (หรืออุปกรณ์มูลค่าสูงอื่นๆ) ของตนเองดูครับว่า เรามีค่าใช้จ่ายที่แท้จริงต่อปีเท่าไหร่ และเรามีตัวเลือกที่จะใช้เงินน้อยลงเพื่อให้ได้ความพอใจเท่าเดิม หรือใช้เงินเท่าเดิมเพื่อความพอใจที่มากขึ้นหรือไม่
หวังว่าจะทำให้ทุกคนใช้เงินได้คุ้มค่าขึ้นครับ
10,000 hours of inspiration.
เมื่อสักครู่นี้ ผมเพิ่งฟังเพลงบน iTunes ครบ 10,000 ชั่วโมงครับ ซึ่งจริงๆ ก็คงรวมถึงที่ฟังบนอุปกรณ์อื่นๆ ที่เคย sync ทำให้ข้อมูลตรงกันในอดีตจนถึงปัจจุบันด้วย ซึ่งได้แก่ iPod mini 4GB, iPod U2 with color display 20GB, iPod (5th generation) 30GB, iPod shuffle (2nd generation) 1GB, iPhone 3GS 16GB, iPad 32GB, iPhone 4 32GB, iPad 2 64GB และ iPhone 4S 32GB
คุณลักษณะหนึ่งของ iTunes (ที่จริงๆ แล้วโปรแกรมจัดการเพลงค่ายอื่นก็มี) ที่ผมออกจะชื่นชมเป็นพิเศษ ก็คงเป็นความสามารถในการจัดการ library สารบรรณเพลงที่เป็นระบบระเบียบ เหมาะกับการมีเพลงเป็นพันเป็นหมื่นเพลง
ย้อนไปตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล (หากไม่นับเครื่อง Macintosh ที่ห้องทำงานพ่อที่ไปเล่นวาดรูปตอนเด็กๆ) หลังจากที่โดนจรสพงษ์ไซโคมาระยะหนึ่ง จนตัดสินใจสั่งซื้อ iPod mini โดยฝากเพื่อนซื้อมาจากอเมริกาด้วยส่วนลดของนักเรียน ซึ่งในตอนนั้นเอง ก็เป็นเหตุที่ทำให้ผมต้องย้ายสารบรรณเพลงของผมทั้งหมดจาก Windows Media Player มายัง iTunes
ในตอนนั้น อาจเพราะ iTunes บน Windows ยังไม่อ้วนหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แม้ว่าแรกๆ มันจะขัดจากความเคยชินของเราตอนใช้ Windows Media Player แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ตอนนั้นผมกลับรู้สึกว่ามันกลับใช้งานได้ง่ายกว่า (สมัยนั้น Windows Media Player ยัง clutter ระเกะระกะอยู่มาก) และสิ่งที่ทำให้ผม wow ว้าวอย่างนึงคือการค้นหาเพลงแบบ instant ที่พอเราพิมพ์ตัวอักษรนึง หน้าจอก็จะ filter คัดกรองรายชื่อเพลงที่ตรงกับตัวอักษรที่เราพิมพ์แบบสดๆ ทันที แบบที่ไม่กระตุก
แม้ว่าในแว้บแรก การที่ iPod ที่ผมซื้อมาจะต้องนำเพลงลงโดยใช้ iTunes เท่านั้น จะขัดกับความรู้สึกลึกๆ อยู่บ้าง แต่ด้วยการที่สุดท้ายแล้วมันก็มีขนาดพอกับสารบรรณเพลงของเราทั้งหมด เรื่องราวมันก็เลยกลายเป็นง่ายไป และผมกลับรู้สึกดี ที่เราเหมือนกับมีเพลงทั้งหมดที่เลือกฟังได้บน iPod ไม่ต้องคอยเลือกเอาใส่แบบเครื่องเล่น MP3 อื่นๆ ในสมัยนั้น อยากฟังเพลงอะไรก็ฟังได้ตลอด
หลังจากที่ใช้ไปได้สักพัก ผมก็เพิ่งสังเกตว่า เวลาที่เราฟังเพลงจากบน iPod แล้วมาทำให้ข้อมูลตรงกันกับ iTunes มันจะอัปเดทช่อง Last Played และ Play Count ตามที่เราเล่นบน iPod ด้วยโดยอัตโนมัติ จึงเป็นอีกจุดเล็กๆ ที่ทำให้ผมประทับใจ และรู้สึกว่าสารบรรณเพลงทั้งหมดของผมมันถูกจัดระเบียบได้อย่างเป็นที่เป็นทางจริงๆ
ซึ่งนับจากความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ หลายๆ อย่างใน iPod + iTunes ทำให้สุดท้ายผมก็ตัดสินใจที่จะมาใช้ Mac OS X ตามด้วย และหลายๆ ครั้งก็ได้นำปรัชญา แนวคิด วิธีการ หรือแม้แต่ดีไซน์เว็บของแอปเปิลมาใช้กับงานของตัวเอง จนปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีเพื่อนชื่อจรสพงษ์นั้น มีอิทธิพลกับชีวิตผมมากมายอย่างบอกไม่ถูก
Steven Levy ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Perfect Thing ไว้ว่า:
Simply handing over your iPod to a friend, your blind date, or the total stranger sitting next to you on the plane opens you up like a book. All somebody needs to do is scroll through your library on that click wheel, and, musically speaking, you’re naked. It’s not just what you like—it’s who you are.
ในโอกาสที่ผมได้สัมผัสกับดนตรีบนโลกของแอปเปิลครบ 10,000 ชั่วโมงนี้ ก็เลยขอนำสถิติสนุกๆ จากสารบรรณเพลงของผมเมื่อครบ 10,000 ชั่วโมงนี้มาแบ่งปันกันสักหน่อยครับ
สถิติทั่วไป
เพลงที่ครบ 10,000 ชั่วโมง: ขอบคุณที่รักกัน (Potato)
จำนวนที่เล่นทั้งหมด: 145,845 ครั้ง
จำนวนเพลง: 3,201
รวมเวลาเพลง: 8 วัน 15 ชั่วโมง 53 นาที 48 วินาที
รวมขนาดไฟล์: 12.8GB
จำนวนศิลปิน: 464
จำนวนอัลบั้ม: 340
จำนวนประเภท: 40
จำนวนการฟังเฉลี่ยต่อเพลง: 45.6
อัตราส่วนอัลบั้มที่สมบูรณ์: 23%
อัตราส่วนเพลงที่ได้ฟังอย่างน้อยหนึ่งครั้ง: 95%
อายุสารบรรณ: 7.2 ปี
อัตราการเติบโตเฉลี่ย: 8.5 เพลงต่อสัปดาห์
อัตราส่วน 5 ดาว: 2%
อัตราส่วน 4 ดาว: 8%
อัตราส่วน 3 ดาว : 22%
อัตราส่วน 2 ดาว: 22%
อัตราส่วน 1 ดาว: 20%
ไม่ได้จัดอันดับ: 25%
อัตราส่วน 64 – 127kbps: 25%
อัตราส่วน 128 – 191kbps: 56%
อัตราส่วน 192 – 255kbps: 15%
อัตราส่วน 256kbps ขึ้นไป: 4%
อันดับเพลงที่ฟังมากที่สุดตลอดกาล
- ถาม / Superbaker / Joy / 791
- ได้ไหม / ToR+ / Love Is : vol. 1 / 650
- สักวันหนึ่ง / ToR+ / Piano & I / 637
- คนอบอุ่น / Superbaker / Joy / 634
- คู่กัน / Scrubb / Club / 626
- ความซื่อสัตย์ / Bodyslam / Drive / 624
- บางสิ่ง / B5 / Event / 623
- เมื่อไม่มีเธอ / Tri Bhumiratna / My Diary Original Soundtrack / 612
- ได้ไหม / ToR+ / Piano & I / 586
- คนไม่พิเศษ / B5 / Event / 577
- Pass the Love Forward (E1even1h) / Boyd Kosiyabong / Rhythm & Boyd E1even1h / 570
- Minuet in G & Canon in D / ToR+ / Piano & I / 558
- Sensitive / Superbaker / Joy / 557
- ที่ฉันรู้ / Boyd Kosiyabong / Rhythm & Boyd E1even1h / 547
- บ้านของหัวใจ / Superbaker / Joy / 540
อันดับเพลงที่ฟังมากที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- รักคุณเข้าอีกแล้ว / BOYdPOD / BitterSweet / 515
- รักเธอ / ToR+ / Living in C Major / 510
- หนาว / The Strangers / The Volume One / 503
- ขอบคุณกันและกัน / The August Band / Thanx / 450
- กันและกัน (Radio Edit) / Flure / Love of Siam OST / 445
- ยาพิษ / Bodyslam / Save My Life / 442
- เรื่องจริง / Boyd Kosiyabong / Songs From Different Scenes #5 / 422
- ไม่เข็ด / Lipta / The Volume One / 407
- คืนอันเป็นนิรันดร์ / The August Band / Love of Siam OST / 374
- Superstar / Groove Riders / Lift / 372
อันดับเพลงที่ฟังมากที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- เจ็บ…และชินไปเอง / ETC. / Push / 126
- 24.7 / Singular / The White Room / 120
- สองหมื่น / Stamp / Million Ways to Write Part 1 / 118
- เบา เบา / Singular / The White Room / 115
- อะไร / ละอองฟอง / Wind Up City / 106
- เธอคือใคร / ETC. / Change / 97
- ลอง / Singular / The White Room / 94
- คิดฮอต / Bodyslam / คราม / 87
- ครั้งสุดท้าย / Stamp / เพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟัง / 82
- การเปลี่ยนแปลง / Boy Peacemaker / Sense of Sound / 81
อันดับศิลปินที่ฟังมากที่สุด
- Boyd Kosiyabong / 13,406
- ToR+ / 11,580
- B5 / 4,031
- Bodyslam / 3,603
- Superbaker / 3,399
- Narongvit / 3,021
- Nicole / 2,643
- Lipta / 2,628
- Ann / 2,346
- BOYdPOD / 2,271
อันดับอัลบั้มที่ฟังมากที่สุด
- Piano & I / ToR+ / 4,531
- Rhythm & Boyd E1even1h / Boyd Kosiyabong / 4,203
- Joy / Superbaker / 3,399
- Event / B5 / 3,215
- Living in C Major / ToR+ / 2,573
- Love Is : vol.1 / 2,376
- BitterSweet / BOYdPOD / 2,271
- Songs From Different Scenes #5 / Boyd Kosiyabong / 1,870
- Love of Siam OST / 1,791
- Sleepless Society / 1,541
ผมคงต้องยอมรับว่า 10,000 ชั่วโมงที่ผ่านมา เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญกับชีวิตของผม จนผมอดตื่นเต้นไม่ได้ว่าในอีก 10,000 ชั่วโมงข้างหน้า มันจะน่าตื่นเต้นแค่ไหน…
จนกว่าจะถึงเวลานั้นครับ
You are already naked.
วันนี้เป็นวันที่ผมได้ทราบข่าวว่า Steve Jobs ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบแล้วครับ
ถ้าให้พูดตามตรง ผมก็ตงิดๆ ตั้งแต่ที่ Steve Jobs ลาออก ไปจนถึงที่ไม่เห็นแม้แต่ Jobs ไปร่วมงาน Let’s Talk iPhone แล้วแหละครับ แต่ก็ไม่คิดว่าจะกระทันหันขนาดนี้
วันนี้จะว่าวันเวลาดูโหวงๆ ไปหน่อยก็คงจะพูดแบบนั้นได้สำหรับผม แต่ก็ยังดีว่าวันนี้ผมงานยุ่งเสียเหลือเกิน จนเรื่องนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรในจิตใจนัก จนมาตอนนี้ ดึกๆ เงียบๆ จนได้มีเวลานึกย้อนทบทวนอะไรบ้าง
ผมคิดว่าผมรู้จักกับแอปเปิล, Macintosh หรือ iPod ก่อนที่จะรู้ถึงการมีตัวตนของบุคคลที่มีชื่อว่า Steve Jobs ผมคิดว่าผมรู้จักชื่อนี้หลังจากที่ผมเริ่มทำเว็บคิวบิกคล้ายเว็บแอปเปิลเสียอีก
ประสบการณ์แรกที่ผมมีกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลคือ iPod mini รุ่นแรก ผมฝากจักรธรซื้อจาก US ด้วย Educational Discount มา โดยช่วงนั้นผมใช้ผลิตภัณฑ์ Sony แทบทุกอย่างตั้งแต่คอมพิวเตอร์ หูฟัง กล้องถ่ายรูป ไปจนถึงมือถือฯ จนใครๆ รอบตัวผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมผมถึงซื้อ iPod
ผมตอบคำถามนั้นง่ายๆ โดยการสลักหลัง iPod mini ของผมว่า “Don’t ask why I didn’t buy Sony.”
สิ่งที่จับใจผมมากในตอนนั้น คือความง่ายของการใช้งาน โดยตอนนั้นผมต้องย้ายจาก Windows Media Player เป็น iTunes และผมก็พบว่า การแค่เสียบ iPod mini เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ และเรารู้ได้ทันทีว่าเพลงทั้ง Library ของเราจะมาอยู่ใน iPod เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก และผมก็ชื่นชอบในความง่ายของ iTunes ที่ใช้ในการจัดการเพลงเยอะๆ หรือเลือกหาเพลงฟัง รวมถึงฟีเจอร์ Party Shuffle (ปัจจุบันชื่อ iTunes DJ) เป็นฟีเจอร์ที่โดนใจผมเป็นพิเศษ
หากจะว่าไป iPod mini + iTunes ถือเป็นส่วนผสมสำคัญ ที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ iPod U2 (with color display), iPod (5G), iPod U2 (5G), MacBook Pro 15″ (Early-2006), Mighty Mouse, Apple Keyboard, iPhone 3GS, Magic Mouse, MacBook Pro 15″ (mid-2010), iPad, Apple Wireless Keyboard, iPhone 4, iPad 2, Apple TV และล่าสุด Magic Trackpad
(นี่ยังไม่รวมถึง USB Modem, DVI to Video Adapter, Mini-DisplayPort to VGA Adapter, Apple VGA Adapter, Apple Digital AV Adapter และ Apple HDMI Cable หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ซื้อด้วย authority อำนาจที่มีในนามคิวบิกครีเอทีฟ)
ผมคงไม่ปฏิเสธว่า ผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Steve Jobs ที่นำมาใช้ในการดำรงชีวิตของผมเองอยู่ไม่น้อย และจริงๆ ในวันนี้ ผมก็ได้ข้อคิดอะไรอีกสักสองอย่าง
อย่างแรก Tim Cook ได้กล่าวเอาไว้ว่า “Steve leaves behind a company that only he could have built” ประโยคนี้ได้เตือนผมให้รู้ว่า ถ้าผมไม่ทำให้คิวบิกฯ เป็นองค์กรที่มีเพียงผมคนเดียวในโลกที่สร้างมันได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ผมต้องทำคิวบิกฯ
และอย่างที่สอง การที่เราตั้งวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และดำเนินตามทางนั้นอย่างมุ่งมั่นและเยือกเย็น มันทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เหมือนกับวิสัยทัศน์ของ Jobs เองที่มีต่อเทคโนโลยี องค์กร และแม้แต่การตายของเขา
แม้ว่าผมคงไม่สามารถเทียบความเจ็บป่วยที่ผมมีกับสิ่งที่ Jobs ต้องเผชิญไปได้ แต่ผมเองก็เข้าใจสิ่งที่ Jobs พูดในความรู้สึกของคนที่ครั้งหนึ่งเคยสัมผัสกับความตายอย่างใกล้ชิดแล้วครั้งหนึ่งไม่น้อย
Remembering that I’ll be dead soon is the most important tool I’ve ever encountered to help me make the big choices in life. Because almost everything — all external expectations, all pride, all fear of embarrassment or failure – these things just fall away in the face of death, leaving only what is truly important. Remembering that you are going to die is the best way I know to avoid the trap of thinking you have something to lose. You are already naked. There is no reason not to follow your heart.
Thank you.