เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากว่าเดิมวางแผนว่าจะฉลองสิ้นปีที่ออสเตรเลียโดยใช้ตั๋วการบินไทยที่ดองไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด ซึ่งตั๋วมันจะไปจบที่เมลเบิร์น แปลว่าต้องหาตั๋วกลับแยกต่างหาก พอดีกับว่าที่บ้านจะไปเยี่ยมพี่สาวที่สิงคโปร์ เลยตัดสินใจว่าจะต้องซื้อตั๋วจากเมลเบิร์นไปสิงคโปร์
Continue reading “Review: Jetstar 787 Business Class MEL-SIN”Tag: business
PPP—progress, plans and problems.
พอดีวันนี้มีโอกาสได้ผ่านไปเจอกระบวนการที่ชื่อว่า Progress, Plans and Problems หรือที่ย่อว่า PPP เป็นกระบวนการของการทำรายการเพื่อสถานะการทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ที่กำหนด (เช่นสัปดาห์, เดือน หรือไตรมาส) เพื่อใช้สื่อสารให้กับเพื่อนร่วมทีม บุคคลอื่นในองค์กร รวมถึงตัวเราเองว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเรามีทำการงานเป็นอย่างไรบ้าง Continue reading “PPP—progress, plans and problems.”
A players, B players.
เมื่อคืนเกิดเหตุการณ์ที่สะกิดใจผมอยู่พอสมควร
จริงๆ มันเริ่มจากเรื่องไม่ค่อยมีสาระที่เรานั่งเล่นเกมการ์ดอะไรกันสักอย่าง แต่เนื่องจากว่าเราคุยกันเล่นๆ ว่าอยากจะรวมหัวแกล้งคนๆ หนึ่งที่เล่นด้วย ผมเลยเสนอว่าจะจัดฉากสุ่มการ์ดเฉพาะพิเศษให้กับคนๆ นั้น โดยผมบอกทุกคนว่าเดี๋ยวพอเขาเข้ามาแล้ว ผมจะทำเป็นล้างไพ่ ให้ทุกคนดูไพ่ที่ค้างกับมือขวาของผมไว้เพราะผมจะลากไพ่ใบนั้นไว้ตลอด แล้วให้ทุกคนเลี่ยงอย่าจับใบนั้น
แต่เนื่องจากเวลานั้นที่ยังไม่ทันตกลงกันได้ชัดเจนเท่าไหร่ เป้าหมายก็เดินเข้ามาพอดี ผมก็เลยรีบยกมือขวาขึ้นกลางวงชัดๆ พร้อมพูดย้ำว่า “เอ้า จะล้างไพ่แล้วนะ” พร้อมกับเอามือขวาโปะไปบนไพ่เป้าหมายกลางวง แล้วล้างไพ่ไปมา
เรื่องราวเหมือนจะผ่านไปด้วยดี เมื่อทุกคนต่างหยิบไพ่ที่ไม่ใช่ใบนั้น และไพ่ใบนั้นก็ตกเป็นของเป้าหมายไปตามที่วางแผนกันไว้
จนกระทั่ง… Continue reading “A players, B players.”
Let’s kite.
เมื่อไม่กี่วันมานี้ คิวบิกครีเอทีฟเพิ่งประกาศตัวเลขผลการดำเนินการต่างๆ (อย่างไม่เป็นทางการ) และผมคงต้องบอกเลยว่าผมเองพอใจกับผลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเด็น sustainability ความยั่งยืนทางการเงิน
ที่ผ่านมาผมเองต้องคอยตอบคำถามซ้ำๆ เกี่ยวกับศักยภาพในการเติบโตของคิวบิกครีเอทีฟในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าพูดในทางธุรกิจจริงๆ ตัวเลขทางการเงินของคิวบิกครีเอทีฟถือว่าเติบโตอยู่ในระดับที่ช้ามาก ผมก็มักจะมีคำตอบที่ดูเหมือนง่ายๆ ของผมอยู่ว่า “อยากให้คิวบิกฯ โตเมื่อมันพร้อมเท่านั้น”
เรื่องนี้คงเป็นความเชื่อที่เถียงกับคนนู้นคนนี้ในแวดวงได้ไม่รู้จบ แต่สำหรับผมเอง ผมมีความเชื่อว่าถ้าเราพยายามบังคับองค์กรเพื่อวิ่งตามเป้าตัวเลขอะไรบางอย่าง มันอาจทำให้เราเร่งรีบจนลืมคุณค่าหรือวิสัยทัศน์ที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรจริงๆ ไปได้ ซึ่งผมเองคิดว่าเรื่องนี้เป็นกับดักที่น่ากลัว เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนในองค์กรไม่อินกับคุณค่าเหล่านั้น ธุรกิจอาจจะดำเนินไปได้ในฐานะของธุรกิจ สร้างกำไรได้ แต่ก็คงน่าเสียดายที่มันคงไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรที่มีนัยสำคัญให้กับโลกนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนที่มันได้สัมผัส
สำหรับคิวบิกฯ ผมเองมีความตั้งใจอย่างสุดตีนเท้าว่า มันจะต้องไม่เติบโตไปในรูปแบบนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับคุณค่าและวิสัยทัศน์ขององค์กร และพัฒนามันไปตามพันธกิจที่เราตั้งใจไว้ทั้ง 6 ข้อไปพร้อมๆ กันอย่างมั่นคง (พันธกิจ 6 ประการของคิวบิกฯ คือ Products, Knowledge, Human Resources, Alliance, Infrastructure และ Sustainability) และเมื่อมันพร้อม ผมเชื่อว่ามันจะเติบโตไปได้อย่างมั่นคง และไม่ต้องเครียดไม่ต้องเหนื่อยเกินกว่าความจำเป็นอีกด้วย
หากเปรียบเหมือนว่าวที่ทุกๆ คนแถวนี้คงชอบชักกัน ถ้ามันไม่มีลม เราชักให้ตายยังไงมันก็คงไม่ขึ้น แต่ถ้าเราใจเย็น เก็บแรง เอาเวลาไปเตรียมร่มให้สวยให้แข็งแรง อดทนรอจังหวะที่ลมมันมาแล้วค่อยชักว่าวให้สุดแรงเกิด แน่นอนว่ามันก็คงจะขึ้นไปยังจุดสูงสุดได้โดยไม่ยากเย็นนัก
มาถึงตอนนี้ จังหวะที่ลมกำลังมา ผมคิดว่าคิวบิกครีเอทีฟก็พร้อมที่จะโบยบินขึ้นไปแล้ว
แล้วคุณล่ะ พร้อมจะมาชักว่าวกับผมหรือยัง?
My personal thought about latest GMM’s YouTube policy.
จากที่ประเด็นเรื่อง GMM กับ YouTube ที่ก็คงเป็นที่ฮือฮากันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และล่าสุดผมก็เพิ่มเป็นคนเขียนรายงานข่าวประเด็นเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการดึงนำเอาเนื้อหาวีดีโอจาก YouTube ของเว็บ Gmember ใหม่ ในโอกาสนี้เลยอยากมาแสดงทัศนคติส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียสักหน่อย
จริงๆ ถ้าใครรู้จักผมมานาน ก็คงจะพอรู้ว่าตัวผมเองจะค่อนข้างเป็นสายลิขสิทธิ์นิยมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะตั้งแต่เริ่มฟังเพลงช่วงประมาณ ม.ต้น ก็จะซื้อเทป (แฉอายุ) และซีดีของแท้มาตลอด จนทุกวันนี้ก็ยังมั่นใจว่าเพลงใน iTunes Library ที่มีมาจากทางที่ถูกต้องเกิน 95% (ถึงจะมีประเด็นที่นับตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้วการทำซ้ำจากซีดีมาเป็นไฟล์บนคอมพิวเตอร์ก็อาจจะผิดได้อยู่ดีก็ตาม)
ดังนั้นตั้งแต่เริ่มแรกที่มีข่าวเกี่ยวกับการเลิกใช้ YouTube ของทาง GMM ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ GMM ตัดสินใจเป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็คงเป็นสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะทำอย่างไรกับการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้นก็ได้ และประเด็นที่ว่าธุรกิจย่อมต้องหารูปแบบในการหารายได้ที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจดี จะมีก็เพียงแต่ความแปลกใจเล็กน้อยในแง่มุมของทางธุรกิจ ซึ่งโดยลึกๆ ผมก็เชื่อว่าทาง GMM ก็คงมีรายละเอียดข้อมูลอะไรที่จะประกอบการตัดสินใจได้มากกว่าผมอยู่แล้ว
ซึ่งถ้าใครได้อ่านข่าวบน Blognone ของผมคงจะทราบดีว่า ผมก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องประเด็นลิขสิทธิ์หรือการวิเคราะห์ทางธุรกิจ แต่ประเด็นหลักที่ผมเขียนในข่าวคือเรื่องของการที่กระบวนการเผยแพร่สื่อของ GMM อาจขัดต่อ Term of Service ของทาง YouTube
ผมยอมรับครับว่า ในปัจจุบันประชากรโลกส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไปจนถึงการยอมรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากันอยู่มาก แม้ว่าแนวโน้มในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากตัดสินจากสภาพแวดล้อมที่ผมได้สัมผัสก็คงต้องบอกตรงๆ ว่าถือว่าดีขึ้นมาก และก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าทุกวันนี้ในใจลึกๆ ของผมจะยังรู้สึกว่ากฎหมายเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่ แต่ตราบใดที่มันยังเป็นกติกาในสังคม เราก็คงต้องยอมรับมัน และร่วมกันเสนอทางแก้ไขกันไปตามขั้นตอน
แต่ประเด็นหนึ่งที่ทุกวันนี้ผมเองจะขัดใจอยู่เล็กน้อย คือความเข้าใจและยอมรับเกี่ยวกับสิทธิสัญญาอนุญาต (License Agreement) หรือข้อตกลงการให้บริการ (Term of Service) ที่หลายๆ คนที่มักเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ดีแล้ว กลับมาตกม้าตายกับเรื่องพวกนี้ (เช่นประเด็นเรื่องการเจลเบรก iPhone ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ผิดในเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้มีใครคิดถึงเรื่อง EULA เลย)
ดังนั้นในประเด็นของ GMM เองที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องของ YouTube TOS ผมเลยคิดว่าคงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีที่จะทำให้เรื่องของ TOS ได้ผ่านหูผ่านตาสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมเองก็ยังมีความเชื่อว่า GMM น่าจะเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี และน่าจะสามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมกับ YouTube เช่นเดียวกันครับ
ขอแฉ Ensogo บ้าง
ระยะหลังๆ มานี้เหมือนว่าจะได้เห็นข่าวคราวฉาวของ Ensogo ผ่านหูผ่านตามามากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเห็นทวีทของ @mamuang ที่ RT เกี่ยวกับเรื่อง counter ตัวนับยอดซื้อบน Ensogo ก็พยายามจะหาข้อมูลเพิ่ม แต่ยังหาไม่ได้ (ใครมีข้อมูลรบกวนแจ้งหน่อยก็ดี) แต่ระหว่างที่หาก็แอบไปเจอเรื่องบ่นในเว็บพันทิพย์อีกพอสมควร เลยคิดว่ามาแฉเรื่องของตัวเองบ้างดีกว่า
เรื่องของผมคงจะเป็นเรื่องอีกฟากฝั่งบ้างนะครับ เพราะว่าผมเองเคยติดต่อกับทาง Ensogo ในฐานะของเป็นธุรกิจที่อยากจะนำสินค้าไปวางขายบนนั้นบ้าง ซึ่งตอนนั้นเลยมีโอกาสได้คุยกับคนใน Ensogo ที่จะมาเจรจาข้อตกลงกับเรา เลยทำให้พบจุดหลายๆ จุดในนั้น
จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็พอจะเดาได้นะครับว่าด้วยลักษณะของ Ensogo ที่เน้นการขายของที่ดูเหมือนราคาถูกมากๆ เพื่อดึงดูดให้คนที่ไม่เคยเป็นฐานลูกค้าเดิมของเราอยากที่จะมาลองสินค้าหรือบริการของเราโดยใช้ราคาเป็นตัวล่อ แต่ผมเองก็ไม่เคยรู้ว่าทาง Ensogo เองก็จะโหดอยู่พอสมควร
ที่ว่าโหดในที่นี้คือ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะไปฝากดีลด้วยจะตกลงกันได้ง่ายๆ นะครับ เพราะทาง Ensogo เองจะบังคับว่าตัวเลขที่ลดจะต้องหวือหวามากๆ แบบ 50% ขึ้นไปเท่านั้นอะไรแบบนี้ แถมจากตัวเลขที่ลดมาแล้ว Ensogo เองก็หักส่วนแบ่งของตัวเองไปอีกเกือบครึ่ง พูดง่ายๆ คือเงินที่จะเหลือมาถึงธุรกิจนั้นจะเหลือน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สินค้าหรือบริการที่จะนำไปเสนอขายบน Ensogo ได้ ควรจะต้องเป็นสินค้าที่มี margin ส่วนต่างกำไรสูงๆ อย่างพวกสินค้า luxury ฟุ่มเฟือยต่างๆ (ซึ่งจุดนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะคงเป็นเรื่องปกติในสินค้าหรือบริการบางอย่างที่จะมีส่วนต่างกำไรสูงเวอร์ๆ อยู่แล้ว)
แต่แน่นอนว่า กับผลิตภัณฑ์ที่ผมอยากจะไปขาย เป็นสิ่งที่ตรงเงื่อนไขนี้ได้ยาก เพราะกิจกรรมต่างๆ ของคิวบิกครีเอทีฟเอง (โดยเฉพาะค่ายพักแรม) ก็ค่อนข้างจะมีส่วนต่างกำไรที่ต่ำ แต่ตอนนั้นผมก็ตั้งใจว่าอาจจะลองจัดเอาผลิตภัณฑ์อย่างอื่นอย่างเช่นคอร์สกลางวันที่อาจจะมีส่วนต่างกำไรสูงหน่อยที่พอจะถูๆ ไถๆ ไปได้บ้าง
แต่สุดท้าย ผมตัดสินใจที่จะไม่ขายดีลบน Ensogo ต่อ เพราะผมเองค่อนข้างขัดใจกับความคิดของ Ensogo อยู่พอสมควร เพราะในระหว่างที่ผมเจรจาอยู่ด้วยนั้น ผมก็ได้พูดถึงข้อจำกัดในเรื่องส่วนต่างกำไรของผมไปบ้าง แต่คำแนะนำที่ผมได้รับกลับจาก Ensogo กลับไม่ค่อยถูกจริตผมเท่าไหร่นัก
ในตอนนั้น Ensogo แนะนำให้ผมสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่ตั้งราคาสูงๆ แต่ปรับต้นทุนให้ถูกแล้วนำเสนอขาย หรือแม้แต่นำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเดียวกัน แต่ตอนทำจริงให้ดำเนินการกับลูกค้าที่ซื้อดีลผ่าน Ensogo อีกแบบที่มีต้นทุนถูกกว่า (Ensogo ถึงกับยกตัวอย่างพวกคอร์สเสริมสวยว่า ของจริงที่จ่ายเต็มอาจจะทำ 5 ขั้นตอน 7 ขั้นตอน แต่พอเป็นดีล Ensogo ก็ให้เราแอบลดเหลือ 2 – 3 ขั้นตอนพออะไรแบบนี้) ซึ่งถ้าใครรู้จักผมมาในระดับหนึ่ง คงจะพอนึกภาพออกว่า ผมไม่ค่อยถูกจริตกับอะไรแบบนี้
แม้ว่าในทางธุรกิจ ผมจะเข้าใจได้ว่าการตั้งราคาให้สูงๆ เพื่อสร้างส่วนต่างราคาเพื่อนำไปใช้ทางการตลาด หรือเพื่อชดเชยข้อจำกัดอื่นๆ ทางธุรกิจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ในข้อหลังผมคิดว่าเป็นการหลอกลวงมากกว่าการทำธุรกิจ และมันยิ่งน่าขยะแขยงที่คนของ Ensogo เป็นคนเอ่ยปากแนะนำให้เราทำอย่างนั้นเสียเองด้วย โดยที่ตัวเองเป็นเสือนอนกินส่วนแบ่งปริมาณมหาศาลนั้นไป โดยไม่ได้สนถึงต้นทุนของคู่ค้าเลย
นับแต่วินาทีนั้น ผมจึงรู้เลยว่า Ensogo ไม่ใช่ธุรกิจที่มีวัฒนธรรมของธรรมาภิบาลที่ดี คู่ควรแก่การที่ผมจะคบหา หรือแม้แต่เป็นลูกค้าด้วย
และแม้ว่าผมจะเชื่อว่าทุกวันนี้ ก็คงมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างตรงไปตรงมาและน่านับถือขายดีลอยู่บน Ensogo อยู่บ้าง และลูกค้าหลายๆ คนก็คงโชคดีที่ได้รับสินค้าและบริการที่ดีเหล่านั้น
แต่ผมก็คงไม่ค่อยอยากจะจ่ายเงินให้กับธุรกิจดีๆ เหล่านั้น หากหมายถึงต้องจ่ายส่วนแบ่งส่วนหนึ่งให้กับอีกธุรกิจที่ !@#$%
อัปเดท (07/08/12) – ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ขอระบุนาม อ้างว่าดูจากจำนวนรายชื่อคนที่เซ็นในสมุดเซ็นชื่อ ต่างกับตัวเลขบนเว็บลิบลับ ยังไงก็ฝากทุกคนลองช่วยกันสังเกตนะครับ อันนี้ก็มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ลองใช้วิจารณญาณกันดูครับ
Brands I Love and Hate
ใจจริงว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว ผมคิดว่าสำหรับทุกๆ คนก็คงมีความชอบ/ไม่ชอบแบรนด์อะไรต่างๆ รอบตัวทั่วไป วันนี้ผมเลยจะมาพล่ามๆ ดูว่ามีแบรนด์/บริษัทอะไรบ้างที่ผมชอบหรือไม่ชอบเป็นพิเศษ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องพวกนี้คงเป็นอะไรที่ subjective นานาจิตตัง แล้วแต่คนจะมองในมุมต่างๆ
แบรนด์ทั้งหมดในโพสท์นี้แบ่งตามแบรนด์ที่ชอบและไม่ชอบ เรียงตามลำดับตัวอักษร
แบรนด์ที่ชอบ
- AirAsia – ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกสายการบินราคาประหยัดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมชอบการดำเนินการต่างๆ ภายในของ AirAsia และประสบการณ์การใช้บริการที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอเคสอะไรที่เลวร้าย ที่สำคัญ อาหารที่ขายบนเครื่องนอกจากจะไม่แพงเวอร์แล้ว ยังอร่อยอีกต่างหาก
- Apple – อันนี้คงตามความคาดหมาย ผมชอบในแนวคิดและปรัชญาหลายๆ อย่างของแบรนด์นี้ และถึงแม้ว่าคงไม่เถียงว่าก็มีหลายๆ จุดของแอปเปิลที่เป็นปัญหา (อย่างเรื่องหนึ่งที่ไม่ชอบตอนนี้คือเรื่องคดีความต่างๆ) แต่จุดเด่นในการดำเนินการต่างๆ ทั้งการจัดการ
supply chainสายอุปทาน และการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเทียบกับผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีเจ้าอื่นๆ ก็ทำให้รู้สึกดีมากกว่าจุดที่ไม่ดีอื่นๆ - BBQ Plaza – ชอบน้ำจิ้มมาก
- Black Canyon Coffee – ชอบอาหาร และชาเย็น
- BTS – รู้สึกว่าเป็นขนส่งมวลชนเพียงรายเดียวของประเทศที่พอจะอวดได้ และที่ผ่านมาก็มีประสบการณ์ที่ดีกับมันมาตลอด (ไม่เคยขึ้นเจอรถพังเหมือนกัน อาจเพราะขึ้นไม่บ่อยพอ ไม่ก็ไม่เคยขึ้นตอนชั่วโมงเร่งด่วน)
- Cathay Pacific – เป็นสายการบินสำหรับการบินไปไกลๆ ที่ประทับใจที่สุดแล้วในบรรดาสายการบินอื่นๆ ที่เคยนั่งมา (Lufthansa, THAI, Singapore Airlines, SriLankan Airlines) ค่าตั๋วถือว่าค่อนข้างถูกถ้าเทียบกับเจ้าอื่นๆ มีไฟลท์ให้เลือกเยอะมาก (ถ้ารับได้ที่ต้องไปต่อที่ HKG) และเดาว่าเพราะเป็นบริษัทในเอเชีย เลยมีอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีผลทำให้เราชื่นชอบกับการบริการมากกว่าก็เป็นได้
- DTAC – ชอบในเรื่องของบริการเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่มือถือเครื่องแรกก็ใช้ DTAC มาตลอด และพอใจกับการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคอลเซ็นเตอร์มากๆ นอกจากนี้ในอดีตจะรู้สึกได้ว่าเป็นเจ้าที่มีการหมดเม็ดพวกโปรโมชั่นน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ DTAC แล้วด้วยเหตุผลเรื่องของ 3G เป็นหลัก
- Facebook – ชอบในความแน่วแน่และการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมต่างๆ ของบริษัท แต่สิ่งที่ไม่ชอบเรื่องหนึ่งอาจเป็นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ก็ชื่นชมถึงความพยายามของ Facebook ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถึงจะยังไม่ดี แต่ก็อยู่ในจุดที่ยอมรับได้ และปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน เพราะใช้ Facebook โดยตระหนักเสมอว่าเราจะถูกละเมิด เลยหลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลอะไรก็ตามลงไป (ไม่ใส่แม้แต่วันเกิด)
- Foursquare – รู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการใส่รูปแบบของเกมเข้าไปในบริการอื่นๆ ได้อย่างดี และดูเป็นบริการที่ใช้แล้วอารมณ์ดีบอกไม่ถูก
- Fujitsu – โน๊ตบุ๊กที่บ้านตั้งแต่เมื่อก่อนเป็นยี่ห้อ Fujitsu มาตลอด (มีเราเองที่แหวกแนวตอน ปี 1 ซื้อ Vaio อยู่คนเดียว) และที่ปลื้มคือ ไม่เคยมี Fujitsu เครื่องไหนที่บ้านที่มีอะไรเจ๊งแม้แต่ครั้งเดียว จนกว่าจะตัดใจเลิกใช้ไปเองเพราะทนความอืดไม่ไหว
- GTH – ชอบเพราะเป็นค่ายหนังเมืองไทย (ที่น่าจะเป็นเจ้าเดียว) ที่ไม่เคยรู้สึกว่าหนังเรื่องไหนที่ดูอยู่ในเกณฑ์แย่ (แย่สุดก็กลางๆ) และเห็นถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจริงๆ
- JR – อันนี้ปลื้มมากจากการไปเที่ยวสะพายกระเป๋าที่ญี่ปุ่น และรู้สึกผูกพันมาก (เพราะเป็นการเดินทางเดียวที่ต้องใช้เกือบตลอด) นอกจากจะตรงเวลาจนน่ากลัวแล้ว ยังถือว่าเป็นรถไฟที่สะอาดที่สุดที่หนึ่งในหลายๆ ที่ในโลกที่เคยไป หวังลึกๆ ว่าสักวันหนึ่ง รฟท. จะทำได้สักเสี้ยวขี้ตืนของ JR บ้าง
- LOVEiS – อันนี้ชอบเพลง อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเพลงของกลุ่มบอยด์ถูกจริตก็เป็นได้ อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกได้จากผลงานหลายๆ อย่างของ LOVEiS (รวมถึง Bakery ในอดีต) คือมันเป็นเพลงที่สัมผัสได้ถึง
passionความหลงไหลที่มีในดนตรี ไม่ใช่แค่ทำส่งๆ ไปที (แต่ก็แหงแหละ บรรดาศิลปินของ LOVEiS มีแต่พวกอันจะกินแล้วทั้งนั้น การทำเพลงเพื่อหากินคงไม่ใช่ประเด็นมาก) - Microsoft – อันนี้หลายๆ คนคงไม่ทราบ แต่จริงๆ แล้วถึงแม้ว่าผมจะชอบ Apple มาก แต่ผมก็ชอบ Microsoft มากเช่นกัน (จริงๆ แล้วถ้าย้อนไปสักช่วงมัธยมคงบอกได้ว่าตัวเองเป็นสาวก Microsoft) ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมชื่นชมในผลงานหลายๆ อย่างของ Microsoft มาก เช่นชุด Office, Xbox, .NET Framework ถึงแม้ว่าจะมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกได้ว่าเป็นช่วงขาลงของ Microsoft อย่างมาก แต่จนทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับภาพลักษณ์ใหม่ของ Microsoft มากๆ และยอมรับว่า รอลุ้นให้ Windows Phone 8 หรือ Windows 8 อาจทำให้เราเปลี่ยนค่ายมือถือฯ หรือแท็ปเล็ตได้
- MK Restaurant / Yayoi – อันนี้อาจเป็นเพราะว่ามีเส้นสายที่รู้จักกับเจ้าของ MK เลยทำให้เรารู้ถึงกระบวนการทำงานหลายๆ อย่างข้างไหน ถือว่าเป็นร้านอาหารในไทยที่สามารถจัดการสายอุปทานได้อย่างมหัศจรรย์ (สามารถขยายสาขาตาม Tesco Lotus ได้ง่ายๆ แถมตอนน้ำท่วมถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมากอีกต่างหาก) และอีกอย่างคือเชื่อมั่นในความสะอาดของทั้งสองร้านนี้ว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทยแน่นอน
- MOS Burger – เคยมีโอกาสได้กินครั้งแรกตอนไปสิงค์โปร์เมื่อ ม.2 แล้วชอบเบอร์เกอร์ข้าวมาก ปัจจุบันนอกจากจะชอบเมนูเบอร์เกอร์ข้าวแล้ว ยังปลื้มในความสะอาด (ซึ่งค่อนข้างเป็นมาตรฐานของร้านอาหารที่มาจากประเทศญี่ปุ่น) ที่สำคัญคือมีแอลกอฮอล์ล้างมือแบบไม่ใช้กลีเซอรีน
- Nintendo – ชอบในวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของ Nintendo โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะขัดคอเกมเมอร์ที่ต้องการฟีเจอร์ออนไลน์เยอะๆ (และขัดใจผมเองด้วยเวลาใช้) แต่การที่ยืดหยัดในเรื่องการเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับครอบครัวนี่ก็น่าชื่นชมไม่น้อย นอกจากนี้ยังปลื้มการสร้างนวัตกรรมในสมัย Wii ด้วย เพราะจริงๆ แล้ว Nintendo ไม่ได้ทำวิจัยเองอะไรมากมาย แต่หยิบเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมารวมกันได้อย่างลงตัว อย่างที่ก็ยังแอบสงสัยว่าทำไมคนอื่นๆ ไม่มีปัญญาจะคิดให้ได้แบบนี้
- Nok Air – ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม ชอบความน่ารักของแบรนด์และลายเครื่องบิน จะขัดใจก็แค่ว่าสายการบินนี้ไม่มีสจ๊วต
- Samsung – ชื่นชอบในฐานะที่เป็นบริษัทเอเชียที่สามารถก้าวเป็นบริษัทระดับโลกได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปลื้มสมาร์ทโฟนของซัมซุงมาก และรู้สึกว่าซัมซุงมาถูกทางสุดๆ ยอมรับว่าปัจจุบันนี้คงเป็นตัวเลือกอันดับสองรองจากไอโฟนแน่นอน แอบหวังลึกๆ ว่า SCG จะเป็นได้อย่างซัมซุงบ้าง
- SCB – ไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ แต่อย่างใด แต่ชอบในการบริการที่ได้รับจาก SCB มาโดยตลอด คอลเซ็นเตอร์ติดตามเรื่องอะไรต่างๆ เริ่ดมาก (ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นลูกค้าบัตรแพลตตินัมหรือเปล่า)
- Skype – สมัยที่เห็น Skype ครั้งแรกตั้งแต่ตอนเรียนมหา’ลัย ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ได้เหมือนกัน ทุกวันนี้รู้สึกเป็นบริการที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารเวลาไปต่างประเทศช่างราบรื่น
- Sony – ชอบในยุทธศาสตร์การเอื้อประโยชน์ให้แก่กันในกลุ่มแบรนด์ของบริษัททั้งหมด ดูเหนียวแน่นดี (เช่นใช้ศิลปิน Sony Music โฆษณา Sony Ericsson, ฉายหนัง Sony Pictures บน AXN หรือใช้ Vaio และ Handycam ประกอบฉากในหนัง Sony Pictures) ทุกวันนี้ในบรรดาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปก็มักจะเลือกซื้อของ Sony ก่อนเสมอ
- Starbucks – ชอบในกระบวนการจัดการเบื้องหลังต่างๆ ที่ทำให้เกิดความ
consistencyคงที่ของการบริการในทุกสาขาในโลกที่เหมือนกันเป๊ะได้ขนาดนี้ ยิ่งถ้าเทียบกับร้านที่บริการบนเคาน์เตอร์อื่นๆ ที่สหรัฐฯ ด้วยแล้ว คุณภาพการบริการระดับพระเจ้าจริงๆ - Valve / Steam – เป็นอีกบริษัทเกมที่มีนวัตกรรมในการทำเกมจริงๆ และไม่เคยรู้สึกว่าเกมไหนที่ทำออกมาเป็นขยะ แถม Steam ยังเป็นนวัตกรรมของการขายเกมที่เริ่ดมาก
แบรนด์ที่เกลียด
- BMCL – หรือก็คือรถไฟใต้ดิน มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการใช้งานหลายๆ อย่าง รวมถึงการติดต่องานตอน Cubic Race ทุกวันนี้ถ้าเลือกได้จะยอมนั่งแท็กซี่ดีกว่าจ่ายเงินให้ BMCL
- Central Trading – ไม่ปลื้มเพราะมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อยู่ เพราะตั้งแต่เครือเซนทรัลทำ B2S ก็มีการกีดกันไม่ให้ซีเอ็ดเข้าห้างเซ็นทรัลตลอด (แต่ได้ข่าวว่า B2S หล่อนก็ไม่ได้จะรุ่งนะยะ)
- EA – เป็นบริษัทเกมที่ทำขยะออกมาได้เยอะมาก และไม่ปลื้มกับการทำ DRM ที่จุกจิกและบั่นทอนประสบการณ์ใช้งาน ถึงงั้นก็ยังมีหลายเกมที่ชอบมากๆ แต่เป็นของ EA อย่าง The Sims และ Sim City
- EMC / Iomega – เคยเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ของเจ้านี้อยู่สองสามชิ้น และทุกชิ้นมีปัญหาเสมอ รู้ตัวแล้วว่าฉันควรจะตีจากมันได้แล้ว
- Fuji – นอกจากจะแพงแล้วยังขี้งก แถมโดยส่วนตัวรู้สึกว่า Yayoi อร่อยกว่าอีก (อันนี้ถือว่าเป็นบุญ?)
- Google – ถึงทุกวันนี้จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างของ Google อยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่ไม่ชอบ Google ที่สุดคือการทำตัวมือถือสากปากถือศีลในหลายๆ เรื่อง และพยายามทำตัวเป็นตำรวจโลกแห่ง
libertyความเสรีเหมือนสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตัวเองก็มีผลประโยชน์ของตัวเองในเรื่องเหล่านี้ทั้งสิ้น ถึงการทำเพื่อตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การทำเป็นดูดี หรือว่าคนอื่นที่พยายามปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นคนเลว (อย่างกรณี Facebook) ผมคิดว่ามันเหี้ยมาก นอกนั้นอีกอย่างที่ไม่ชอบมากๆ คือการindexทำดัชนีเว็บไซต์ต่างๆ โดยถือค่าปริยายเป็นทำได้ (ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็เกลียดบริการค้นหาทุกเจ้า) - Ichitan – จริงๆ ไม่ได้ไม่ชอบอิชิตันเป็นพิเศษ แต่ไม่ปลื้มคุณตันมากกว่า คิดว่าหลายๆ อย่างเค้าเฟคไปหน่อย (ที่หงุดหงิดที่สุดคือตอนไปน้ำตาพรากออกสรยุทธ์ที่โรงงานโดนน้ำท่วม ทำเหมือนสถานการณ์สดที่พยายามจะเป็นฮีโร่ แต่ขอร้อง! ใส่หมวกกัปตันเนี่ยนะ) ทุกวันนี้เหตุผลเดียวที่จะกินอิชิตัน เพราะเกลียดโออิชิมากกว่า
- King Power – หนึ่งในธุรกิจผูกขาดที่ไม่ปลื้ม
- Oishi – ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวหรือร้านอาหาร เรื่องหนึ่งคงเพราะไม่ปลื้มไทยเบฟ แต่อีกเรื่องที่ไม่ชอบร้านอาหารเพราะรู้สึกสกปรก ขี้งก แล้วยังบริการกากอีกต่างหาก (จริงๆ ก็มีนโยบายลับๆ มาสักพักแล้วว่าคิวบิกฯ จะเลิกเลี้ยงที่โออิชิ)
- RS – นี่ไม่เกี่ยวว่ารสนิยมเพลงไม่เข้ากัน แต่มีขอพิพาททางแพ่งค้างคากันอยู่ และที่ผ่านมาไม่ได้รู้สึกว่า RS มีนวัตกรรมอะไรที่ทำให้โลกนี้เจริญขึ้นเท่าไหร่
- SCG – ถึงจะถือว่าเป็นบริษัทที่ก็ไม่แย่ แต่ก็แอบผิดหวังที่ไม่สามารถใช้ศักยภาพที่มีในการขยับขยายและสร้างนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ อย่างที่บอกไปตอนต้น หวังจริงๆ ให้ SCG ทำได้แบบ Samsung
- THAI – การบินไทยมีอะไรให้ปลื้มบ้างหรอ? ถามจริง?
- TOT – เกลียดเน็ตมันจริงๆ
- True – ถึงทุกวันนี้จะใช้บริการทรูหลายอย่างมาก แต่ก็รู้สึกว่าเป็นบริษัทที่มีคุณภาพการดูแลลูกค้าที่ต่ำมาก บวกกับการที่เป็นบริษัทที่มีระดับจริยธรรมเข้าขั้นต่ำสุด สารพัด CSR โรยหน้าทั้งนั้น ส่วนทรูปลูกปัญญา? มีแต่ crap crap crap
อย่างที่บอกในตอนต้นผมคิดว่าเรื่องพวกนี้คงเป็นเรื่องที่ต่างกันไปแต่ละบุคคลมากๆ เพราะบางคนอาจจะบังเอิญเจอประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีกับแบรนด์ต่างๆ สุ่มๆ กันไป หรืออาจมีความเชื่อในจุดยืนต่างๆ ที่ต่างไป
แต่ก็หวังลึกๆ จริงๆ ว่าสารพัดแบรนด์ไทย (โดยเฉพาะแบรนด์ที่เกลียด) จะก้าวข้ามอะไรบางอย่าง และกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้สักที
หากว่าวันนี้โชคดีได้พบกับเธอ…
ที่หลายๆ คนทราบดีอยู่แล้ว นอกจากผมจะทำคิวบิกฯ เป็นหลักแล้ว ตอนนี้ผมยังมีงานอดิเรกอีกอย่าง (ที่ค่อนข้างจริงจัง) นั่นก็คือปาดับปา
จริงๆ ผมเองเคยคิดมาเสมออยู่แล้วว่า นอกเหนือจากความตั้งใจหลักในเรื่องการศึกษาของผม (ซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่ในรูปของคิวบิกครีเอทีฟ) ผมเองก็อยากจะได้มีส่วนร่วมในอุตสากรรมศิลปะสักแขนงที่เป็นไปได้ ซึ่งที่ตั้งแต่เด็กๆ มองไว้คงเป็นเรื่องของเกมคอมพิวเตอร์ในฐานะของการเป็น interactive art ศิลปะตอบสนอง
ดนตรีเองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมมองๆ ไว้มาโดยตลอด เพียงแต่โดยส่วนตัวแล้วแม้ว่าจะชอบฟังเพลง แต่ไม่ได้มีความสามารถทางด้านดนตรีดีเด่นอะไร เลยเคยคิดไว้ว่าน่าจะทำงานในลักษณะของการบริหารหรืออะไรซะมากกว่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สักสองสามปีที่แล้ว หากใครทราบ ผมเคยบ้าจี้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อสมอลล์รูมด้วยซ้ำ
จริงๆ คงเป็นจังหวะที่น่าสนใจครับ ที่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อยู่ๆ ดนตรีก็มีที่ยืนแปลกๆ อยู่ในคิวบิกครีเอทีฟ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคงต้องเครดิตถึงคอนเสิร์ตงาน CCFC2 ของกอล์ฟที่เป็น milestone หลักไมล์ที่สำคัญในเรื่องนี้ของคิวบิกฯ
และจากงานนั้น ก็ทำให้กลุ่มคนทางดนตรี รวมกลุ่มก้อนกันได้ในคิวบิกฯ จากที่ปล่อยให้กลุ่มบ้าคอมฯ, บ้ากล้องฯ, บ้าแอปเปิล และบ้าเพศตรงข้ามรวมกลุ่มอยู่เป็นหลัก และจังหวะนี้เอง ที่ทำให้ภาคินที่จริงๆ น่าจะหลุดจากวงโคจรไปแล้ว โดนดูดกลับเข้ามาจนได้ (ไม่รอด)
จริงๆ ถ้าถามว่าปาดับปาเกิดขึ้นมาได้ยังไง และเพื่ออะไร ผมเองก็คงไม่มีคำตอบชัดๆ มากนะครับ รู้แต่ว่าตอนแรกเค้าแค่อยากจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับดนตรี พอผมทราบว่าภาคินสนใจจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ผมก็เลยรีบขายไอเดียห้องสตูดิโอของผมที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนสร้างตึก PlayCube ซึ่งเป็นห้องที่ตั้งใจทำไว้ให้ไม่มีหน้าต่าง และเผื่อไว้จะทำสตูดิโอใดๆ รู้ตัวอีกที เราก็ซื้อแผ่นอคูสติกมาแปะ โดยที่ตอนนั้นจริงๆ ตอนนั้นยังไม่รู้กันเลยด้วยซ้ำว่าพวกเราจะทำอะไร (จำได้ว่า ระหว่างสาวๆ ดมกาวแปะแผ่นอคูสติกอยู่ในห้องสตูฯ หนุ่มๆ ก็มาประชุมกันว่าจะทำอะไรดีอยู่ห้องข้างๆ ช่างเป็นอะไรที่คิวบิกฯ เสียมากๆ) สุดท้ายตอนนั้นเราก็ได้ข้อสรุปว่าจะทำโปรดักชั่นเพลงโคเวอร์อัปขึ้น YouTube ไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วค่อยดูต่อว่าจะไปทางไหนต่อ โดยที่ในมุมของผม ผมยังขอให้คิวบิกฯ ช่วยสนับสนุน โดยแลกกับการที่ปาดับปาก็ทำงานเป็นหน่วยย่อยในคิวบิกฯ ด้วย
ผ่านมาเกือบปี ถ้าถามผมตอนนี้ ผมก็รู้สึกว่า เราทำตามความตั้งใจแรกได้ไม่เลวเลยนะครับ คำถามต่อไปเลยน่าจะเป็นว่า ปาดับปาจะไปทางไหนต่อ ซึ่งผมเองถึงจะมีไอเดียคร่าวๆ ในหัวบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มีความคิดไหนที่โดดเด่น และเห็นความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจที่ชัดเจนสักเท่าไหร่
แต่ก็ว่าไปเถอะครับ หากย้อนมองไปดูคิวบิกครีเอทีฟตอนจุดเริ่มต้น ผมคิดว่าตอนนั้นพวกเราเองก็คงไม่ได้มีภาพที่ชัดเจนมาก มากกว่าความตั้งใจที่จะอยาก “ทำอะไรสักอย่าง” ในเรื่องที่เรา passionate มีความหลงไหล นั่นก็คือเรื่องความสนุกกับการศึกษา
ผมเอง จะเป็นพวกขัดกับแนวคิดการทำธุรกิจในตำราแบบต้องมีแผนธุรกิจอะไรอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้ไปพูดที่งานไหนก็ตาม ผมจะย้ำเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจไม่ใช่วิสัยทัศน์ (vision) แต่เป็นความรักในสิ่งที่ทำ (passion) ต่างหาก เพราะวิสัยทัศน์จะเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ความหลงไหลในสิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเราตลอดไป เป็นสิ่งที่เราไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับปาดับปาแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มที่น่าสนใจ เพราะมันเต็มไปด้วยความหลงไหล และความหลงไหลนั้นกำลังสร้างสรรค์ผลงานอะไรขึ้นมาจริงๆ
สุดท้ายนี้ขอฝากโปรโมตผลงานล่าสุดของปาดับปาด้วยครับ 🙂