TESSERAX, the next dimension has begun.

TESSERAX, the next dimension has begun.

ถ้าใครที่ได้เข้าร่วมงาน Cubic Thanks Party 2016 เมื่อวานที่ผ่านมา ก็คงจะได้ทราบเกี่ยวกับ TESSERAX ที่กำลังจะมาเป็น business unit หน่วยธุรกิจใหม่ของคิวบิกครีเอทีฟ ตามหลัง Paduppa ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

TESSERAX เติบโตจากทีมที่รับผิดชอบงานทางด้านไอทีของคิวบิกครีเอทีฟคล้ายๆ กับที่ Paduppa เกิดขึ้นจากทีมทางด้านมัลติมีเดีย ที่จริงๆ ตอนนี้ก็ตลกดีที่คิวบิกครีเอทีฟมีทีมงานแบบเต็มเวลากับงานทางไอทีเยอะกว่าฝ่ายอื่นๆ เสียอีก Continue reading “TESSERAX, the next dimension has begun.”

Well fought. I concede.

Well fought. I concede.

ชีวิตนี้ผมเคยวิ่งหนีมาแล้วหลายครั้ง

ครั้งหนึ่งผมเลือกที่จะวิ่งหนีจากการเรียนที่ผมรู้ตัวดีว่าไม่มีทางผ่านพ้นมันไปได้ และคงดีกว่าที่จะเริ่มต้นในทางที่เรามั่นใจกว่า

ครั้งหนึ่งผมเลือกที่จะวิ่งหนีจากความฝัน เพื่อเว้นระยะพักผ่อนกับตัวเอง หนีปัญหาต่างๆ ที่สะสมเกินกว่าที่เราจะรู้ว่าจะแก้มันยังไงได้ รอให้เรื่องราวต่างๆ คลี่คลายแล้วจึงกลับมาก้าวเดินต่อไปอีกครั้ง

ถึงจะค้านกับความหัวรั้นของผม แต่ผมเชื่อเสมอว่าการหนีเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ฉลาด หลายๆ ครั้งมันทำให้เราหรือใครไม่ต้องเจ็บปวดเพิ่มเติม และอย่างน้อยการหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัย ก็ทำให้เราสามารถสะสมเรี่ยวแรง หรือเว้นระยะให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายตามธรรมชาติของมัน ก่อนที่จะกลับเข้าไปในเส้นทางวังวนนั้น

ผมเคยคิดว่าการวิ่งหนีเป็นตัวเลือกหนึ่งของผมเสมอ จนเมื่อผมรู้ตัวอีกครั้ง ตัวเลือกนี้มันได้หายไปจากชีวิต ณ ปัจจุบันอีกแล้ว

ผมกลายมาอยู่ในจุดที่การวิ่งหนีไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป มันไม่ใช่สิ่งที่ผมทำกับตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เพราะการวิ่งหนีของผมในครั้งนี้มันจะส่งผลกระทบกับคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ต้องพึ่งพิงการยืนหยัดของผม

แต่สิ่งที่ผมเผชิญอยู่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ผมรู้ตัวว่า ถ้าผมไม่หาวิธีปลดชนวนมันให้ได้ มันก็คงจะระเบิดในอีกไม่ช้า ตลกร้าย ผมนึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่าจะปลดชนวนระเบิดนี้ออกอย่างไร

ซ้ำร้าย ผมวิ่งหนีมันไม่ได้

ผมได้แต่ยืนมองดูมันนับถอยหลังอย่างช้าๆ โดยที่ทำอะไรไม่ได้ และเพียงแค่รอว่าเมื่อไหร่มันจะระเบิดออกมาทำลายตัวผมและคนรอบข้างออกเป็นเสี่ยงๆ

A players, B players.

เมื่อคืนเกิดเหตุการณ์ที่สะกิดใจผมอยู่พอสมควร

จริงๆ มันเริ่มจากเรื่องไม่ค่อยมีสาระที่เรานั่งเล่นเกมการ์ดอะไรกันสักอย่าง แต่เนื่องจากว่าเราคุยกันเล่นๆ ว่าอยากจะรวมหัวแกล้งคนๆ หนึ่งที่เล่นด้วย ผมเลยเสนอว่าจะจัดฉากสุ่มการ์ดเฉพาะพิเศษให้กับคนๆ นั้น โดยผมบอกทุกคนว่าเดี๋ยวพอเขาเข้ามาแล้ว ผมจะทำเป็นล้างไพ่ ให้ทุกคนดูไพ่ที่ค้างกับมือขวาของผมไว้เพราะผมจะลากไพ่ใบนั้นไว้ตลอด แล้วให้ทุกคนเลี่ยงอย่าจับใบนั้น

แต่เนื่องจากเวลานั้นที่ยังไม่ทันตกลงกันได้ชัดเจนเท่าไหร่ เป้าหมายก็เดินเข้ามาพอดี ผมก็เลยรีบยกมือขวาขึ้นกลางวงชัดๆ พร้อมพูดย้ำว่า “เอ้า จะล้างไพ่แล้วนะ” พร้อมกับเอามือขวาโปะไปบนไพ่เป้าหมายกลางวง แล้วล้างไพ่ไปมา

เรื่องราวเหมือนจะผ่านไปด้วยดี เมื่อทุกคนต่างหยิบไพ่ที่ไม่ใช่ใบนั้น และไพ่ใบนั้นก็ตกเป็นของเป้าหมายไปตามที่วางแผนกันไว้

จนกระทั่ง… Continue reading “A players, B players.”

My five most proud activity designs.

เพิ่งจบจากค่าย CCC10 มา ตอนทำๆ ค่ายอยู่ก็รู้สึกมานึกๆ ว่าจากกิจกรรมที่เคยออกแบบมาทั้งหมด รู้สึกภูมิใจ/ประทับใจกับอันไหนเป็นพิเศษบ้าง เลยอยากมาเล่าเล่นๆ ตรงนี้ รวมถึงที่มาแรงบันดาลใจของแต่ละกิจกรรม

อันดับที่ 5 – เข้ารหัสรัก…ปักหัวใจ

กิจกรรมนี้ออกแบบและถูกใช้ครั้งแรกใน SPRT04 เริ่มต้นจากไอเดียที่ว่าอยากทำกิจกรรมที่เอาโจทย์การเข้ารหัส/ถอดรหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์มาเป็นกิจกรรมในโลกจริง จนออกมาเป็นกิจกรรมที่ว่า ที่มีลักษณะโจทย์เป็นการออกแบบกระบวนการส่งข้อมูลต่างๆ (protocol) ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานเชิงวิศวกรรม กิจกรรมนี้ยังเป็นกิจกรรมแรกที่เป็นฐานของโครงงานวิศวกรรมเชิงกระบวนการ (ไม่ใช่เชิงชิ้นงาน) ที่ต่อยอดไปยังกิจกรรมอื่นๆ เช่นปราการแสงไฟ, ศึกหอคอยคู่พิฆาต หรือเม้าท์สนั่น มันส์ระเบิด

กิจกรรม เข้ารหัสรัก…ปักหัวใจ ยังเป็นกิจกรรมแรกๆ ของคิวบิกฯ ที่มีโครงเรื่อง (plot) เพื่อสร้างความน่าสนใจ โดยต่อมาใน ICTFC4 มีการสร้างกระบวนการเล่าเรื่อง (narrative) ในรูปแบบของละครสั้นแทรกทุกๆ โจทย์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจขึ้นไปอีก

อันดับที่ 4 – Cubic Quest

ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่ถูกต่อยอดมากที่สุด และมีการเอาไปทำที่อื่นเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ก็ยังให้เป็นอันดับ 4 อยู่ดี กิจกรรมนี้ถูกออกแบบครั้งแรกตั้งแต่ KUSFC1 โดยมีแบบแผนแรกจากระบบเควสของ Ragnarok เป็นหลัก ซึ่งในสมัยนั้นยังอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าไอเท็มต่างๆ ยังสามารถมีได้ไม่จำกัด

ต่อมา Cubic Quest ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายๆ รูปแบบ เริ่มมีการปรับจากการทำไอเท็มไม่จำกัดแล้วนับคะแนนตามมูลค่าไอเท็มเป็นมีไอเท็มชุดเดียว ทำเควสซ้ำไม่ได้ และวัดผลเป็นเปอร์เซ็นต์สำเร็จตอน Cubic Quest 5 (ICTFC3), แนวต่อสู้แบบ Cubic Quest 7 (ICTFC4) ไปจนถึงแนวข้อมูลสืบสวนสอบสวนไขปริศนา หรือเรียกกันเองว่าเควสกลางคืน (KUSFC4) ที่ภายหลังก็มีมาจัดกลางวัน

กิจกรรม Cubic Quest ถือเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียการดึงเอากลไกเกมจากวิดีโอเกมมาสู่โลกจริง ที่ก็เป็นฐานให้กับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนเริ่มต้นไอเดียเองตั้งแต่ครั้งแรกตอน KUSFC1 มาจนถึงครั้งที่ 21 ในปัจจุบัน ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครเคยรู้คือ ผมเองไม่เคยเป็นคนดำเนินการหรือรับผิดชอบการออกแบบกิจกรรมเควสทั้ง 21 ครั้งเลย

อันดับที่ 3 – Cubic Route Cards

ถูกออกแบบและเริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อค่าย Cubic Innovator Camp 2 (2007) โดยในเริ่มแรกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลัก โดยใช้เป็นการคิดคะแนนของกิจกรรมฐานกลางคืน (หรือเรียกกันติดปากว่างานวัด) หลังจากนั้นก็มีการใช้งานเป็นกิจกรรมกลางตลอดช่วงระยะเวลาค่ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคิวบิกฯ ตอน Cubic ICT Fun Camp 4 (2007) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นแรกของการเริ่มเปลี่ยนระบบการให้รางวัลแต่ละกิจกรรม จากเดิมที่ให้เป็นขนมโดยตรง ก็เปลี่ยนเป็นการให้รางวัลเป็นคะแนนอะไรสักอย่างที่ต้องนำไปใช้ในกิจกรรมกลาง ก่อนที่จะไปแลกเป็นของรางวัลอื่นๆ อีกที (ถ้าให้คนยุคหลังๆ เข้าใจ ก็ต้องบอกว่าคือ Cubic World Civilization 4 ขึ้นไป)

ลักษณะการเล่นคือ จะเป็นการ์ดที่มี 4 ด้าน แต่ละด้านมีสัญลักษณ์ที่เป็นไปได้ 6 แบบ การ์ดสามารถนำมาวางต่อกันในตาราง โดยกติกาคือจะวางติดกันได้ก็ต่อเมื่อหันสัญลักษณ์ที่เหมือนกันเข้าด้านเดียวกัน (ใครไม่เห็นภาพลองดูรูปด้านล่างได้) ซึ่งข้อจำกัดนี้เป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นคนอื่น (trading) เพื่อให้ได้การ์ดตามที่ต้องการ

อีกอย่างที่ภูมิใจเล็กๆ คือการตัดสินใจเลือกใช้สัญลักษณ์แทนสีเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคกับผู้เล่นที่ตาบอดสี ซึ่งได้แรงบันดาลใจเริ่มต้นจากตลับหมึกเครื่องพิมพ์ของ HP และสัญลักษณ์ทั้ง 6 เอามาจากเกม Tetris Attack ถือว่าเป็นก้าวแรกของกิจกรรมคิวบิกครีเอทีฟที่มีการคิดถึงการเข้าถึงกิจกรรม (accessibility) ที่ต่อมากลายเป็นจุดขายสำคัญของค่ายคิวบิกฯ

Screen Shot 2014-04-29 at 3.50.41

อันดับที่ 2 – Cubic Mega Project X

กิจกรรมนี้ถ้าให้ย้อนไป มีจุดเริ่มต้นจากกิจกรรมโครงพิลึก (CCFC2) โดยในตอนนั้นมีฐานแรงบันดาลใจจากเกม World of Goo ที่เน้นไปที่การสร้างโครงสร้างตามโจทย์ที่กำหนด โดยโครงสร้างจะสร้างขึ้นจากอุปกรณ์ที่เรียบง่ายคือไม้เสียบลูกชิ้นกับก้อนโฟมเป็นหลัก

ในตอนนั้นจึงพยายามคิดหาวิธีจัดกิจกรรมที่มีโจทย์ทางวิศวกรรมต่างๆ ให้เลือกทำ จนได้ข้อสรุปสุดท้ายในรูปแบบของการมีฐานที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป แล้วให้ผู้เล่นไปเลือกทำโจทย์ที่ต้องการ โดยเพิ่มองค์ประกอบของการซื้ออุปกรณ์มาทำ แล้วถ้าทำได้มีผลตอบแทนเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรและการลงทุน พร้อมๆ กับเงื่อนไขการแย่งทำโครงงานต่างๆ ให้ได้ก่อนคนอื่นเพื่อองค์ประกอบในเรื่องความเสี่ยง (ที่จะนำไปสู่ความสนุก)

ต่อมา Cubic Mega Project X จึงต่อยอดจากแนวคิดของกิจกรรมโครงพิลึกเดิม โดยเพิ่มในส่วนของผู้ลงทุนที่จะเป็นคนให้เงินผู้รับเหมา (หรือเดิมก็คือผู้เล่นทั้งหมดในโครงพิลึก) ซึ่งจุดนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มโจทย์ในเรื่องของการประเมินความเสี่ยงให้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นที่อยู่คนละกลุ่มของกิจกรรมทั้งหมดตามสมัยนิยมที่เริ่มมีในช่วงครึ่งทศวรรษหลังของคิวบิกครีเอทีฟ

ชื่อกิจกรรม Cubic Mega Project X ถูกตั้งเพื่อล้อกับกิจกรรมโครงงานวิศวกรรมของค่ายซีเอ็ดที่ชื่อว่า Project X โดยเป็นการบอกโดยนัยว่า คือกิจกรรมโครงงานวิศวกรรมที่เหนือกว่า Project X ธรรมดา เพราะมีเรื่องของการลงทุนเข้ามาด้วย

อันดับที่ 1 – Cubic Battlefield

กว่าจะมาเป็นกิจกรรมนี้ คงต้องกล่าวย้อนไปถึงกิจกรรมที่มีชื่อว่าปราการแสงไฟในค่าย KUSFC2 ที่แรกเริ่มเดิมทีมีไอเดียที่ต้องการทำกิจกรรมกลางคืนในลักษณะที่เล่นกับเทียนแทนพลังชีวิต แล้วมีการโจมตีเทียนของกันและกัน แต่ว่าในตอนนั้นก็ติดปัญหาว่าไม่สามารถที่จะหารูปแบบการจัดที่เหมาะสมได้ โดยติดปัญหาหลักๆ อยู่ที่เรื่องของการควบคุมกติกาและความปลอดภัยเป็นหลัก จนสุดท้ายกิจกรรมปราการแสงไฟใน KUSFC2 ก็กลายพันธุ์กลายเป็นกิจกรรมแนวหาของแก้ปริศนาแบบ Resident Evil ไปเสียฉิบ

ต่อมาเคยมีความพยายามจะนำกิจกรรมนี้กลับมาทำใหม่อีกหลายครั้ง กิจกรรมที่ดูจะประสบความสำเร็จที่สุดคงเป็นของค่าย Cubic-O (ไม่แน่ใจว่า 1 หรือ 2) แต่ตอนนั้นกติกาที่ออกแบบไว้สามารถดำเนินการได้ง่ายเพราะผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นน้องโต และด้วยลักษณะค่ายทำให้เรามีจำนวนทีมงานต่อน้องสูงพอที่จะจัดได้

หลายปีต่อมาจนถึงยุค CCFC2 กิจกรรมนี้ถูกรื้อมาอีกครั้ง โดยในเริ่มแรกมีการเสนอแนวคิดที่หลากหลายที่จะเล่นกับเทียน จนสุดท้ายได้เป็นไอเดียคร่าวๆ ว่าจะเป็นถือเทียนเพื่อผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้เทียนดับที่จัดโดยทีมงาน ซึ่งตอนนั้นแม้ว่าจะได้ไอเดียดังกล่าวแล้ว แต่รูปแบบการดำเนินการที่ชัดเจนยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่างจนเหลือเวลาไม่ถึงสัปดาห์ก่อนวันแรกของค่าย

จนในคืนหนึ่งก่อนหน้าค่ายไม่กี่วัน ระหว่างที่กำลังนอนเคลิ้มๆ จะหลับ ผมก็คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นผมเองกำลังเล่นเกม Final Fantasy XIII อยู่ และค่อนข้างประทับใจกับระบบ Paradigm เลยทำให้เป็นโจทย์คิดเล่นๆ ในใจว่า จะทำกิจกรรมอะไรดีที่ทำให้ผู้เล่นสามารถกำหนดกลยุทธ์ในภาพใหญ่ (macro-strategy) ได้โดยไม่ต้องใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ (micro-strategy) พร้อมๆ กับบรรยากาศที่รวดเร็ว (fast-paced) แบบระบบการต่อสู้ Paradigm ใน FFXIII

ระหว่างที่กำลังนอนคิดไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อยู่ๆ ก็ปิ๊งแว้บว่าน่าจะเอามารวมกับแนวคิดของการต่อสู้ฐานเทียนที่ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของปราการแสงไฟใน CCFC2 แล้วที่น่ามหัศจรรย์ก็คือ ตอนนั้นสามารถคิดกระบวนการจัดการต่างๆ ที่แก้ปัญหาที่เดิมๆ เคยมีได้แบบคอมโบจนกิจกรรมเกือบสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่นอนคิดๆ อยู่ไม่กี่นาที

ไอเดียต่างๆ ในตอนนั้นเริ่มต้นจากแนวคิดของการมีผู้ที่สั่งคำสั่งเพียงอย่างเดียวที่จะสนใจเฉพาะในภาพรวมของการรบ และคนที่ทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ปัญหาที่ตามมาคือ รูปแบบของกติกาที่จะบังคับให้ผู้ตามต้องทำตามผู้สั่ง ซึ่งกติกาที่มาแก้ไขในจุดนี้ก็คือเรื่องของการจับธงให้ครบทั้งกลุ่มที่เป็นกติกาหลักของกิจกรรม

ผมใช้เวลาอีกสองสามวันในการปรึกษากับทีมเพื่อเตรียมการกิจกรรมนี้ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกิจกรรมเป็น Cubic Battlefield และทดลองเล่นครั้งแรกในเดย์ซีโร่ของค่าย CCFC2 โดยพี่เลี้ยงที่ได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กับการสนับสนุนจากทีมมัลติมีเดียของค่าย CCFC2 ที่นำโดยภาคินและแม็พ ทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรกของคิวบิกครีเอทีฟที่เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้เอฟเฟคพิเศษทางด้านแสงสีเสียงเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศของกิจกรรม

เหตุผลที่ผมให้กิจกรรม Cubic Battlefield เป็นอันดับหนึ่งคงเป็นเพราะกิจกรรมนี้ถูกคิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ผมรู้สึกผิดหวังกับตัวเองเล็กๆ ที่ในช่วงนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถคิดกิจกรรมเด็ดๆ ได้ จนเหมือนกับว่าเราได้สูญเสียเวทย์มนตร์อะไรบางอย่างในการคิดกิจกรรมใหม่ๆ การคิด Cubic Battlefield ได้จึงเป็นเหมือนสิ่งที่เตือนกับตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราก็ยังสามารถคิดกิจกรรมเจ๋งๆ ใหม่ๆ ได้อยู่เสมอนะ

ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่า ในไม่ช้านี้จะสามารถคิดกิจกรรมใหม่ที่จะสามารถมาแทนที่ 5 อันดับนี้ได้ ไม่ช้าก็เร็ววันนี้…

Javascript and Circumcision

บางทีก็อยากจะเขียนบล็อกที่มีสาระสร้างสรรค์มาสู้กับบล็อกของกฤษษี่ดูบ้าง เนื่องจากล่าสุดเพิ่งทำเว็บของโครงการ Cubic Staff Program อันใหม่ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการทำเว็บใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ เลยอยากจะมาแชร์ในหัวข้อนี้บ้าง แนะนำว่าถ้าใครยังไม่เคยเข้าไป ก็อาจจะเข้าไปดูผ่านๆ ก่อนทีนึงเผื่อจะเก็ตในสาระที่จะสื่อสารบ้าง

(ปล. ปกติตามนโยบายของคิวบิกครีเอทีฟคงจะไม่สามารถมาโพสท์เรื่องงานในที่สาธารณะแบบนี้ได้ แต่ขออนุญาต CEO เป็นกรณีพิเศษแล้วเฉพาะกรณีนี้เท่านั้น ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานในกรณีอื่นๆ แต่อย่างใด)

Screen Shot 2013-11-21 at 20.53.52

ก่อนอื่นเลย แนวคิดเริ่มต้นที่จะทำเว็บอันนี้ ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นการซ้อมมือเพื่อเตรียมปรับสไตล์ของเว็บคิวบิกฯ ให้ตามสมัยนิยมมากขึ้น โดยถ้าให้สรุปหลักๆ ก็จะมีแนวคิดดีไซน์แบบ Flat Design, Big Picture, Parallax และ Scrolling-sensitive Content เข้าไว้ด้วยกัน

Flat Design

อันนี้ไม่มีอะไรมาก ตามสมัยนิยมที่นำเทรนด์โดย Microsoft ก็พยายามจะลดการไล่สีลงในหลายๆ จุดที่เป็นไปได้ แต่ด้วยความที่คิวบิกฯ ยังคงต้องการดีไซน์ที่ดูหวือหวามีมิติอยู่ การจะเปลี่ยนให้แบน 100% คงจะไม่เวิร์ค เพราะฉะนั้นในหลายๆ จุดก็จะยังมีการไล่สีอยู่ (เช่นพื้นหลัง หรือแบบอักษรหัวเรื่อง)

Big Picture

ด้วยความที่แบรนด์ของคิวบิกครีเอทีฟเราขายในเรื่องของความสนุกซึ่งเป็นอารมณ์ รวมกับจุดเด่นของเราที่มีรูปที่ถ่ายดีๆ สวยๆ ของเราเองอยู่มากพอสมควร แนวคิดการดีไซน์ที่จะดึงจุดเด่นของรูปพวกนี้ออกมาให้เห็นชัดๆ เลยน่าจะยิ่งสามารถทำให้เว็บสื่ออารมณ์ได้ดีมากขึ้น

จริงๆ แนวคิด Big Picture ของคิวบิกครีเอทีฟเริ่มต้นอันแรกกับธีมเว็บไซต์ของ Paduppa Studio (เป็นธีมสำเร็จรูป ผู้เขียนไม่ได้ออกแบบเอง) หลังจากนั้นก็เริ่มมาใส่ในดีไซน์ของเว็บคิวบิกฯ ยุคที่ 5 (เริ่มประมาณปลายปี 2012 พร้อมๆ กับการเริ่มทำ Responsive Design กับการรองรับ Retina Display) ตัวอย่างที่เห็นชัดคือหน้าเกี่ยวกับคิวบิกครีเอทีฟ ซึ่งการใช้รูปใหญ่ๆ ยังเป็นดีไซน์ที่ง่ายกับการทำเว็บ Responsive และรองรับ Retina Display

ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลถึงการใช้พื้นที่เต็มหน้าจอโดยไม่มีการเว้นขอบซ้ายขวาเหมือนเว็บของคิวบิกครีเอทีฟในยุคก่อนๆ การไม่มีขอบจะทำให้การดูเว็บในอุปกรณ์จอแคบดูดีขึ้น (การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นตั้งแต่เว็บ Cubic Thanks Party 2013)

Screen Shot 2013-11-21 at 22.03.09

Parallax

สุดท้าย คือเรื่องของการใช้อนิเมชันแบบ Parallax ตามสมัยนิยม ซึ่งเว็บแรกที่สะดุดตาคือเว็บของ Flickr และในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการใช้ดีไซน์ในลักษณะนี้เต็มไปหมด (เช่นเว็บ Apple ในช่วง Q4 2013)

สำหรับเว็บของ Cubic Staff Program อันนี้ จะมี Scrolling Parallax ที่รูปใหญ่ๆ ที่แทรกระหว่างเนื้อหาเป็นพักๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้พวก Parallax ก็มีไลบรารีสำเร็จรูปที่ใช้ได้เต็มไปหมด แต่เนื่องจากโดยส่วนตัวเป็นพวกขอบเขียนโปรแกรมแบบฮาร์ดโค้ด และดูหนังโป๊แบบฮาร์ดคอร์ เลยเขียนเองแม่งแม่ของคุณเสียเลย

วิธีการก็คือว่า เราจะแบ่งทั้งเพจนี้เป็นช่วงต่างๆ โดยแต่ละช่วงจะปรับขนาดตามหน้าต่างที่ดู แต่ไม่น้อยกว่า 800px ต่อช่วง และจะมีทั้งแบบเต็มจอ หรือครึ่งจอ โดยเราจะนับระยะสำหรับครึ่งจอเป็น 1 หน่วย และเต็มจอเป็น 2 หน่วย

หลังจากนั้นในบรรดา <div> ของแต่ละช่วงทั้งหมด เราจะกำหนด attribute พิเศษไว้ ตั้งชื่อว่า px-length โดยถ้า <div> ไหนเราอยากให้แสดงเต็มจอ ก็ตั้งเป็น px-length=”2″ ส่วนอันไหนเราอยากให้เป็นครึ่งจอก็ตั้งเป็น px-length=”1″ ซึ่งตอนโหลดหน้าครั้งแรก หรือเมื่อมีการปรับขนาดหน้าจอ Javascript ก็จะใช้ค่านี้เพื่อกำหนดความสูงของ <div> แต่ละตัวใหม่

ต่อมาในส่วนของ Parallax เนื่องจากเราต้องให้เอฟเฟคแสดงผลเมื่อผู้ใช้เลื่อนหน้าจอมาถึงแล้วเท่านั้น เราจะรู้ว่าผู้ใช้เลื่อนมาถึงแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ว่า <div> ดังกล่าวอยู่ที่ตำแหน่งเท่าไหร่ของทั้งเพจ แต่เนื่องจากเรารู้ว่า <div> ทั้งหมดแต่ละอันมีค่า px-length เท่าไหร่บ้าง รวมกับขนาดความสูงหน้าจอ เราจึงสามารถคำนวณตำแหน่งของตัวเองได้ไปในคราวเดียวกัน แล้วก็เก็บค่านี้ไว้ที่ px-start และ px-stop เป็นระยะที่เราต้องการให้เริ่มมีเอฟเฟค Parallax และหยุดทำเมื่อใด

ต่อมาการทำให้ภาพเลื่อนอยู่ในกรอบ ก็เริ่มจากการมี <div> ครอบด้านนอกที่ตั้งสไตล์ overflow: hidden; ไว้ ส่วน <div> ข้างในก็แสดงภาพ โดยใช้สไตล์ transform: translateY(y); ในการเลื่อน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า

เพื่อให้เอฟเฟคเนียนยิ่งขึ้น ต้องเพิ่มโค้ดที่หลอกให้เบราวเซอร์เปิดการใช้งาน Hardware Acceleration โดยเติม transform: translate3d(0, 0, 0); เข้าไปอีกที

ส่วนป้ายชื่อที่มีการเลื่อนที่แตกต่างกัน ก็ใช้วิธีเดียวกันกับภาพพื้นหลัง แต่ตั้งให้ป้ายชื่อแต่ละชิ้นมีอัตราส่วนในการเคลื่อนที่ตามการเลื่อนจอที่แตกต่างกัน โดยตั้งเป็น attribute ที่มีชื่อว่า px-ratio เป็นค่าไว้สำหรับให้ Javascript นำไปใช้คำนวณ

Scrolling-sensitive Content

สุดท้ายอันนี้คือการทำให้เนื้อหามีอนิเมชันที่สอดคล้องกับการเลื่อนจอของผู้ใช้ (เช่นป้ายชื่อเลื่อนเข้ามาเมื่อผู้ใช้เลื่อนหน้าจอมาถึงจุดนั้น) ซึ่งก็ใช้วิธีเดียวกันกับด้านบนในการหาตำแหน่งค่า px-start และ px-stop แล้วจึงใช้ CSS Transition / CSS Animation เพื่อทำอนิเมชันต่างๆ

Screen Shot 2013-11-21 at 21.59.46

Fallback

สำหรับในกรณีที่ผู้ใช้ไม่มี Javascript หรือเบราวเซอร์ไม่รองรับ CSS3 เราก็ให้แสดงภาพแต่แรกไปเลยดื้อๆ โดยใช้วิธีง่ายๆ คือให้แสดงอนิเมชันเฉพาะเบราวเซอร์ที่เป็น WebKit แล้วค่า CSS ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำเอฟเฟคให้ขึ้นต้นด้วย -webkit- ให้หมด แม้ว่าจะเป็นค่าที่ CSS เก่าๆ มีก็ตาม (เช่นใช้ -webkit-opacity แทน opacity เฉยๆ)

วิธีนี้จริงๆ มักง่ายไปหน่อย แต่ไม่ใช่ปัญหามากนักเพราะเดี๋ยวนี้ส่วนมากก็ใช้ WebKit เยอะแล้ว และการไม่ใช้ WebKit ก็ไม่ได้ทำให้ไม่ได้รับสารใดๆ ในหน้าเว็บนี้น้อยลง

จะมีปัญหาอีกเล็กน้อยที่ควรจะแก้แต่ขี้เกียจแก้ คือขนาดตัวอักษรที่จะเล็กมากในอุปกรณ์พกพา เด็กๆ ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะจ๊ะ

ซึ่งแนวทางการดีไซน์นี้คงจะมีให้เห็นในเว็บไซต์ของคิวบิกครีเอทีฟในช่วงปีสองปีนี้แน่ๆ เป็นอย่างน้อย (และประสิทธิภาพควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์) นอกจากนี้เว็บใหญ่ถัดไป (Cubic Creative Camp 10) ก็มีการดีไซน์ใหม่ที่จะเริ่มใช้ด้วย แต่ยังขออุบไว้ก่อนให้รอลุ้นกันเล่นๆ

และเนื่องจากว่าเว็บนี้จะต้องมีการใช้ Javascript เยอะมาก โพสท์นี้จึงมีหัวเรื่องว่า Javascript ส่วน Circumcision ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

เย่!

หากว่าวันนี้โชคดีได้พบกับเธอ…

ที่หลายๆ คนทราบดีอยู่แล้ว นอกจากผมจะทำคิวบิกฯ เป็นหลักแล้ว ตอนนี้ผมยังมีงานอดิเรกอีกอย่าง (ที่ค่อนข้างจริงจัง) นั่นก็คือปาดับปา

จริงๆ ผมเองเคยคิดมาเสมออยู่แล้วว่า นอกเหนือจากความตั้งใจหลักในเรื่องการศึกษาของผม (ซึ่งกำลังดำเนินไปอยู่ในรูปของคิวบิกครีเอทีฟ) ผมเองก็อยากจะได้มีส่วนร่วมในอุตสากรรมศิลปะสักแขนงที่เป็นไปได้ ซึ่งที่ตั้งแต่เด็กๆ มองไว้คงเป็นเรื่องของเกมคอมพิวเตอร์ในฐานะของการเป็น interactive art ศิลปะตอบสนอง

ดนตรีเองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมมองๆ ไว้มาโดยตลอด เพียงแต่โดยส่วนตัวแล้วแม้ว่าจะชอบฟังเพลง แต่ไม่ได้มีความสามารถทางด้านดนตรีดีเด่นอะไร เลยเคยคิดไว้ว่าน่าจะทำงานในลักษณะของการบริหารหรืออะไรซะมากกว่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สักสองสามปีที่แล้ว หากใครทราบ ผมเคยบ้าจี้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อสมอลล์รูมด้วยซ้ำ

จริงๆ คงเป็นจังหวะที่น่าสนใจครับ ที่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา อยู่ๆ ดนตรีก็มีที่ยืนแปลกๆ อยู่ในคิวบิกครีเอทีฟ ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคงต้องเครดิตถึงคอนเสิร์ตงาน CCFC2 ของกอล์ฟที่เป็น milestone หลักไมล์ที่สำคัญในเรื่องนี้ของคิวบิกฯ

และจากงานนั้น ก็ทำให้กลุ่มคนทางดนตรี รวมกลุ่มก้อนกันได้ในคิวบิกฯ จากที่ปล่อยให้กลุ่มบ้าคอมฯ, บ้ากล้องฯ, บ้าแอปเปิล และบ้าเพศตรงข้ามรวมกลุ่มอยู่เป็นหลัก และจังหวะนี้เอง ที่ทำให้ภาคินที่จริงๆ น่าจะหลุดจากวงโคจรไปแล้ว โดนดูดกลับเข้ามาจนได้ (ไม่รอด)

จริงๆ ถ้าถามว่าปาดับปาเกิดขึ้นมาได้ยังไง และเพื่ออะไร ผมเองก็คงไม่มีคำตอบชัดๆ มากนะครับ รู้แต่ว่าตอนแรกเค้าแค่อยากจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับดนตรี พอผมทราบว่าภาคินสนใจจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ผมก็เลยรีบขายไอเดียห้องสตูดิโอของผมที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนสร้างตึก PlayCube ซึ่งเป็นห้องที่ตั้งใจทำไว้ให้ไม่มีหน้าต่าง และเผื่อไว้จะทำสตูดิโอใดๆ รู้ตัวอีกที เราก็ซื้อแผ่นอคูสติกมาแปะ โดยที่ตอนนั้นจริงๆ ตอนนั้นยังไม่รู้กันเลยด้วยซ้ำว่าพวกเราจะทำอะไร (จำได้ว่า ระหว่างสาวๆ ดมกาวแปะแผ่นอคูสติกอยู่ในห้องสตูฯ หนุ่มๆ ก็มาประชุมกันว่าจะทำอะไรดีอยู่ห้องข้างๆ ช่างเป็นอะไรที่คิวบิกฯ เสียมากๆ) สุดท้ายตอนนั้นเราก็ได้ข้อสรุปว่าจะทำโปรดักชั่นเพลงโคเวอร์อัปขึ้น YouTube ไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วค่อยดูต่อว่าจะไปทางไหนต่อ โดยที่ในมุมของผม ผมยังขอให้คิวบิกฯ ช่วยสนับสนุน โดยแลกกับการที่ปาดับปาก็ทำงานเป็นหน่วยย่อยในคิวบิกฯ ด้วย

ผ่านมาเกือบปี ถ้าถามผมตอนนี้ ผมก็รู้สึกว่า เราทำตามความตั้งใจแรกได้ไม่เลวเลยนะครับ คำถามต่อไปเลยน่าจะเป็นว่า ปาดับปาจะไปทางไหนต่อ ซึ่งผมเองถึงจะมีไอเดียคร่าวๆ ในหัวบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มีความคิดไหนที่โดดเด่น และเห็นความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจที่ชัดเจนสักเท่าไหร่

แต่ก็ว่าไปเถอะครับ หากย้อนมองไปดูคิวบิกครีเอทีฟตอนจุดเริ่มต้น ผมคิดว่าตอนนั้นพวกเราเองก็คงไม่ได้มีภาพที่ชัดเจนมาก มากกว่าความตั้งใจที่จะอยาก “ทำอะไรสักอย่าง” ในเรื่องที่เรา passionate มีความหลงไหล นั่นก็คือเรื่องความสนุกกับการศึกษา

ผมเอง จะเป็นพวกขัดกับแนวคิดการทำธุรกิจในตำราแบบต้องมีแผนธุรกิจอะไรอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้ไปพูดที่งานไหนก็ตาม ผมจะย้ำเสมอว่า สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจไม่ใช่วิสัยทัศน์ (vision) แต่เป็นความรักในสิ่งที่ทำ (passion) ต่างหาก เพราะวิสัยทัศน์จะเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้ และเป็นสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ความหลงไหลในสิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเราตลอดไป เป็นสิ่งที่เราไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับปาดับปาแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มที่น่าสนใจ เพราะมันเต็มไปด้วยความหลงไหล และความหลงไหลนั้นกำลังสร้างสรรค์ผลงานอะไรขึ้นมาจริงๆ

สุดท้ายนี้ขอฝากโปรโมตผลงานล่าสุดของปาดับปาด้วยครับ 🙂

Web is what you make of it.

จริงๆ อยากจะโม้เรื่องนี้นานแล้ว แต่ยังไม่ถึงจังหวะที่คิดว่าเปิดเผยสู่สาธารณะได้ เลยยังไม่พูด

จริงๆ เรื่องเริ่มจากทาง Google ติดต่อคุณพ่อมา ว่าอยากเอาเรื่องคุณพ่อไปทำ TVC แบบ Dear Sophie ที่เมกา (เวอร์ชันไทย) แต่ปรากฎว่า ด้วยเวลาคุณพ่อไม่สะดวก เพราะว่าถ้าอยากเอาไปเป็นพรีเซนเตอร์ อยากให้รอเกษียณก่อน (ไม่ให้เกี่ยวกับมหา’ลัย) แต่โครงการเค้ารอไม่ได้ สุดท้ายใน TVC ของ Google Chrome 3 ชุดในไทย อันครอบครัวเลยเอา Dear Sophie มารีเมค กลายเป็นชุด จากใจพ่อ

ทีนี้ทางกูเกิลก็เลยติดต่อจะเอาคุณพ่อไปออกรายการสุริวิภา ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็มีแค่พี่สาว (พี่นุ่ม) กับคุณพ่อ แต่พอครีเอทีฟรายการมาคุย แล้วลามมาถึงลูกคนสุดท้อง ทางครีเอทีฟก็สนใจคิวบิกครีเอทีฟมาก เลยเอาไปออกรายการ (ถ้าสงสัยว่าลูกคนกลางหายไปไหน โปรดอ่าน Wednesday Child)

ยังไงก็…ขอขอบพระคุณ Google มา ณ โอกาสนี้ครับ

ถ้าชาติหน้ามีจริง ผมจะใช้ Android ครับ

 

(อีกนิด ขอแชร์เป็นการส่วนตัว)

Territorial Me

สมัยคบอยู่กับแฟนเก่า ผมออกจะเป็นคนขี้หึงเสียสักหน่อยครับ จนแฟนเก่าผมเขาก็ทักว่าผมเป็นคนที่ territorial เสียมากๆ ตอนนั้นผมยังไม่รู้ความหมายของคำนี้เลยด้วยซ้ำ เผื่อใครไม่ทราบ ในความหมายนี้คือจะบอกว่าผมเป็นคนที่หวงขอบเขตของตัวเอง อารมณ์หมาหวงที่อะไรแบบนี้

จริงๆ การที่บอกว่าผมเป็นคน territorial หวงถิ่นก็คงจะตรงอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะผมเป็นคนที่ชัดเจนในเรื่องของขอบเขตอยู่พอสมควร ในเขตที่ผมตั้งว่าเป็นของตัวเอง ผมก็จะไม่ชอบให้ใครมายุ่ง ในขณะเดียวกันถ้าเป็นเขตของคนอื่น ผมก็จะไม่ค่อยชอบเข้าไปยุ่งสักเท่าไหร่ (เข้าไปรู้ กับเข้าไปยุ่งนี่คนละแบบกันนะครับ แบบแรกนี่ทำตลอด) เว้นแต่ไอ้เขตของคนอื่นมันจะมีเรื่องอะไรที่มากระทบกับเขตของผม ผมก็จะเข้าไปวุ่นเป็นบ้าเลยครับ

สมัย ICTFC1 (ปี 2547) ผมเคยมีดราม่ากับโอครั้งนึง จริงๆ จำละเอียดมากไม่ได้แล้ว แต่เหมือนกับโอจะเผลอไปประกาศอะไรสักอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมของผมที่ยังไม่ได้บอกน้อง จริงๆ โอก็คงหวังดีน่ะแหละครับ แต่วันนั้นพอผมมาทีหลังแล้วพบว่าโอเข้ามาแย่งหน้าที่ผม ผมก็ออกจะหงุดหงิดเสียมากๆ จนงอนตุ๊บป่องหนีขึ้นห้องไปเสียตั้งนาน มานึกดูตอนนี้ก็รู้สึกว่าถึงโอจะผิดยังไง เราก็ overreact แสดงออกเวอร์ไปอยู่ดี

ถ้าพูดถึงเรื่องทำงาน หลายๆ คนที่คุ้นเคยกับผมคงจะพอนึกภาพออกถึงความ territorial หวงถิ่นของผม เพราะผมจะจู้จี้จุกจิกในทุกรายละเอียดตราบเท่าที่ผมรู้สึกว่ามันเป็น “พื้นที่” ของผม ในขณะนี้เรื่องอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่ผมคิดว่าผมไม่เกี่ยว ไม่ได้มีหน้าที่อะไร ผมก็มักจะปล่อยไปและไม่ยุ่ง แม้ว่าจะมีอะไรที่ไม่ถูกใจก็ตาม

อย่างตอนค่าย MICT เมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ภพเป็นประธาน ถ้าให้พูดกันตามตรงก็มีเป็นล้านเรื่องเลยครับที่ออกจะขัดหูขัดตาผม อย่างเรื่องคนไม่ยอมไปนอน หรือเรื่องคนหลับในเวร ซึ่งถ้าเป็นค่ายของผมแล้วมีอะไรแบบนี้ผมคงจะจัดการจนดับสูญกันไปหมดแล้ว แต่อย่างในค่ายนี้พอมันไม่ใช่เรื่องอะไรของผม ผมทำได้อย่างมากก็แค่เสนอความคิดเห็นกับภพ แล้วภพจะทำหรือไม่ทำจริงๆ มันก็เรื่องของผม ไม่ใช่ธุระที่ผมจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ไม่ว่าภพจะทำตามหรือไม่ทำก็ตามแต่

อาจเพราะผมเองก็ทำงานอยู่ในฐานะของผู้ตัดสินใจอยู่บ่อยๆ ผมเองเลยไม่ค่อยรู้สึกอะไรเวลาที่คนมีอำนาจตัดสินใจสูงกว่าผมจะตัดสินใจอะไรที่ไม่ตรงใจผมนะครับ เพราะประการแรกผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตรงใจผมยังไง ก็ต้องไม่ตรงใจใครอยู่ดี และการที่ผู้นำจะตัดสินใจให้ตรงใจใครไปหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ ผมเองอยู่ในจุดนั้นจึงพอจะเข้าใจ และประการที่สอง ต่อให้ไม่มีผู้ตามสักคนเห็นด้วย แต่ผมก็เคารพใน authority สิทธิ์ของคนที่ได้รับสิทธิ์นั้นๆ ซึ่งแปลว่าตรงนี้คือพื้นที่ของเขา ไม่ว่าเขาจะมีวิสัยทัศน์อะไรที่เราไม่เข้าใจก็ตาม

แต่นี่ก็คงไม่รวมถึงกรณีที่ถ้าเรามีสิทธิ์อะไรที่เราต้องปกป้องนะครับ อย่างที่ผมเคยพูดในบล็อก Privileged Unparity Liberally Conservative ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็แปลว่าบางคนกำลังจะบุกรุกพื้นที่ของเรา ถ้าเป็นผม ก็คงสู้จนตัวตายเหมือนกัน

ผมเองคงไม่สรุปนะครับว่าแนวคิดของการที่มีขอบเขตชัดเจนนี่เป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า ผมคงกล้าพูดแค่ว่านี่เป็นสไตล์ผม ที่อย่างน้อยก็พยายามจะชัดเจนว่าอะไรคือเรื่องของเรา อะไรไม่ใช่ แต่ถ้าจะให้เถียงว่าดีกว่าหรือแย่กว่าแบบไหนอย่างไรผมก็คงจะจนปัญญา และไม่รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ของผมที่ต้องเถียงสักเท่าไหร่

และสำหรับบางเรื่อง แม้ว่าตัวผมเองก็จะไม่ได้มีความสุขกับข้อเท็จจริงนี้ แต่ตราบเท่าที่ด้วยกฎด้วยเกณฑ์ทั้งหมดแล้ว นี่คือพื้นที่ของผม และผมคือคนที่มีสิทธิ์

Suck it up or get out of my way. ♥ XOXO

Money Money

วันนี้จะมาโพสท์เรื่องเงินๆ ทองๆ บ้างครับ

ตอนสมัยเรียน ผมจำได้ว่าลิ้งค์เคยพูดว่า “คบกับคนที่มาฐานะเท่าๆ กันน่ะแหละสบายใจสุดแล้ว” ถึงตอนนั้นผมจะเข้าใจว่าลิ้งค์จะสื่อถึงการคบเป็นแฟนกัน แต่ก็ยังเห็นด้วยกับสถานการณ์ทั่วๆ ไป แม้ว่าจะยังไม่เคยประสบปัญหาอะไรในลักษณะดังกล่าวก็ตาม

หลายปีให้หลัง ผมเริ่มจะรู้สึกเสียแล้วสิ

ประเด็นก็คือในช่วงปีกว่าๆ มานี้ ผมมีโอกาสได้อยู่กับคนที่ทั้งมีฐานะสูงกว่าเราพอสมควร กับคนที่อาจพูดได้ว่าไม่ได้มีสภาพคล่องเท่ากับผมเท่าไหร่นัก (พยายามจะหาคำพูดที่ไม่ offense กระทบ แต่ไม่แน่ใจว่าหาได้ดีกว่านี้มั้ย) ก็ต้องพูดตามตรงว่า มีเรื่องชวนอึดอัดใจอยู่พอสมควรครับ

ในด้านหนึ่งถ้าเราเป็นคนที่มีกำลังจ่ายน้อยกว่า เวลาไปไหนมาไหนด้วย เราก็จะรู้สึกเกรงใจถ้าเราจะไม่สามารถกินหรือใช้อะไรที่มันสมฐานะหรือเป็นระดับที่อีกฝ่ายคุ้นเคยได้ (เพราะเราจ่ายไม่ไหว) ในขณะเดียวกัน จะให้อีกฝ่ายจ่ายให้ก็รู้สึกกระอักกระอ่วนพอสมควร

ในทางกลับกัน พอเราไปอยู่กับคนที่อาจจะใช้สอยน้อยกว่าเรา หลายๆ ครั้งที่เราอาจจะอยากกินอะไรอยากใช้อะไรที่มันหรูหราสักหน่อยก็จะรู้สึกอึดอัดกระวนกระวาย ว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอะไรหรือเปล่าที่เรากินอะไรใช้อะไรหรูกว่าเขา จะหาว่าเราเป็นพวกอวดรวยมั้ย? อย่างเช่นอาจจะสั่งอาหารสั่งน้ำอะไรที่มันแพงหน่อย หรือจะดูหนังแถวบน ฯลฯ ครั้นจะแบ่งให้ หรือออกเงินให้ก็กลัวว่าจะเป็นการ offense ดูถูกหรือเปล่า สรุปก็คืออึดอัดไปหมด

ถ้าให้พูดตามตรง ก็เลยต้องบอกเลยครับว่าถ้าเวลาจะไปเที่ยวไหนมาไหน ก็อยากจะไปกับคนที่มีกำลังจ่ายพอๆ กับเรา ไม่มากกว่าหรือน้อยกว่าเกินไปนัก เพราะก็ทำให้เราไม่ต้องคิดมาก บวกกับได้ซื้อได้ใช้ของในระดับที่เราพอใจพอดี

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมจะคบกับคนที่ฐานะทางการเงินไม่เท่ากันไม่ได้หรอกนะครับ เพียงแต่ให้พูดตามตรง ถ้าไม่ใช่ว่าสนิทหรือรู้ใจกันมากๆ ถึงระดับหนึ่งแล้ว มันก็คงจะกระอักกระอ่วนอยู่พอสมควร ถ้าสนิทกันจริงๆ เราก็คงไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายจะคิดอะไร และก็คงพูดอะไรได้อย่างตรงไปตรงมา

พูดถึงเรื่องเงินๆ อีกอย่างทุกวันนี้ก็รู้สึกทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน ว่าจะต้องแสดงออกถึงฐานะของตัวเองมากแค่ไหนถึงจะพอดี (ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องคิวบิกฯ) เมื่อก่อนพยายามทำตัว low-profile เงียบๆ เจียมๆ ก็ชวนให้คนสงสัยว่าเอาเงินมาจากไหน พอพยายามแสดงฐานะตัวเองหลังๆ มานี่ก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบเวลาถูกประชดประชันเรื่องเงินๆ ทองๆ สักเท่าไหร่ (แต่จริงๆ อาจจะต้องทำใจเพราะอย่างไรก็คงมีเรื่องให้โดนด่าอยู่ดี)

ปล. ถึงจะนอกเรื่อง แต่ก็ยังยืนยันจุดยืนเล็กๆ ของตัวเองว่าไม่มีเงินจ่ายซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ข้ออ้างในการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทุกวันนี้ก็เซ็งที่เวลาเถียงอะไรทำนองนี้แล้วจะถูกแดกดันกลับว่าเพราะเรามีปัญญาจะจ่ายเลยไม่เข้าใจคนไม่มีเงินจะจ่าย เฮ้อ… (แต่ปากดีไปเรา ทุกวันนี้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังไม่ลงถึง 0% ดี ฮา…)

Dead Thing

เฮ้อ…ก็เนี่ยน้า…

สมัยผมอยู่ ม.ปลาย ตอนนั้นจะมีอาจารย์คนนึงที่ผมเองเคารพรักมาก นั่นก็คือ อ.สุวจี จริงๆ แล้วอาจารย์เค้าค่อนข้างจะมีรูปแบบความเป็นครูของตัวเองที่อาจจะไม่เข้าหูไม่เข้าตาคนยุคเก่าเสียหน่อย แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่าเค้าเองเป็นคนที่มีความเป็นครูสูง และเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะเสียสละให้กับนักเรียนจริงๆ ได้อย่างสุดๆ (พูดไปก็นึกถึง GTO ถึงจะไม่บ้าบิ่นขนาดนั้นก็เถอะ)

และด้วยเหตุนั้นเอง ผมคิดว่าถึงขนาดผมไม่ได้อยู่ประจำชั้นด้วย และไม่ได้เรียนด้วย แต่ผมก็มีความสนิทชิดเชื้อมากอยู่พอสมควร ทำให้ผมไว้ใจพอที่จะปรึกษาปัญหาหลายๆ เรื่องได้ ซึ่งแน่นอนในชีวิตวัยรุ่นหลายๆ ครั้งเราก็มีปัญหาเยอะมากเสียด้วย

จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ดูเหมือนอาจารย์ดูจะน้อยใจ และส่งเพลงร้านขายยานี้มาให้ผม จนตอนนั้นเองก็ทำให้ผมฉุกคิดได้เหมือนกันว่า เออว่ะ เราหาเค้าแต่ตอนที่เรามีปัญหาจริงๆ ด้วย จนหลังจากนั้นเองผมก็เลยพยายามจะใส่ใจกับอาจารย์เค้ามากขึ้น ไม่ใช่ว่ามีแต่ปัญหาถึงไปคุยกับเค้า

จริงๆ ตอนนี้ผมก็เหมือนจะเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้วครับ

ทุกวันนี้จากตำแหน่งที่ผมอยู่ ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีน้องๆ ที่นับหน้าถือตา เวลามีปัญหาอะไร ก็มักจะวิ่งรี่เข้ามาปรึกษาให้ช่วยแก้ไข ตั้งแต่อกหักยันเน็ตพัง ซึ่งทุกๆ ครั้งผมก็พยายามจะช่วยเหลือผ่อนหนักให้เป็นเบาให้ได้เท่าที่จะเป็นไปได้ (ถึงยังงั้นก็จะยังมีคนงอนว่าผมไม่แคร์อยู่เป็นระยะๆ อันนี้ก็ต้องขออภัย เกินความสามารถส่วนตัว)

จนบางทีผมก็อดน้อยใจไม่ได้ครับว่า ทำไมเวลาตอนชีวิตมีความสุขดี ไม่เห็นจะโทรหากู ไม่เห็นจะทักสไกป์กูมาพูดมาคุยบ้างเว้ย โทรศัพท์มากี่ครั้งก็ต้องมีปัญหาให้กูช่วยอะไรสักอย่างตลอด ยังไงซะ กูก็ร้านขายยาดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ชิ

ยิ่งกับงานคิวบิก หลายๆ ทีก็อดน้อยใจว่างานเราเป็นของตายไม่ได้นะครับ แบบ พอว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็มาช่วย แต่พอบอกว่าจะมาช่วยแล้วอยู่ๆ มีอย่างอื่นอยากทำมากกว่าก็ชิ่งไปซะอย่างนั้น ถึงจะรู้สึกว่าเป็นสิทธิ์ของเค้า และพยายามแยกเรื่องงานกับความรู้สึกส่วนตัวแล้ว แต่พูดก็พูดเถอะครับ เจอแบบนี้บ่อยๆ เข้าก็อดเซ็งไม่ได้เหมือนกันว่า ทำไมกูต้องเป็นของตายฟะ (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เพราะหาคนทำงานไม่ได้ กูก็ต้องเป็นฝ่ายง้อจริงๆ น่ะแหละ)

ที่เซ็งไปกว่านั้นคือ ด้วยตำแหน่งหน้าที่แล้วเนี่ย จะมาน้อยใจมางอนให้คนอื่นคอยง้อ (เหมือนเวลาคนอื่นน้อยใจพี่นัทว่าพี่นัทไม่แคร์) ก็คงไม่ได้อีก สุดท้ายก็เลยได้แต่ทน และมางอนในบล็อกตัวเองแบบนี้

ก็คิดว่าทำอะไรไม่ได้แหละครับนอกจากต้องทนต่อไป

ยังไงซะเราก็มันแค่ของตาย…ชิ!