Privileged Unparity Liberally Conservative

ผ่านไปอีกครั้งสำหรับเทศกาล April Fools ที่ก็ยังคงมีการเล่นมุขตลกมากมายจากทั่วสารทิศ อันหนึ่งที่ดูจะฮิตที่สุดในปีนี้คงจะเป็นการตั้งความสัมพันธ์บน Facebook แต่นอกจากนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พอจะผมพอจะสังเกตได้ คือการเล่นมุขตลกล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ ที่คิดว่ามาตรา 112 คงไม่มีผลอะไรเพราะคงไม่ได้ระบุถึงวันที่ 1 เมษายนไว้ด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ดูวีดีโอของ RSA Animate ที่มีชื่อว่า The Internet Society : Empowering or Censoring Citizens? แล้วก็มีประเด็นหนึ่งที่ผมแอบฉุกสังเกตขึ้นมาได้ว่า ผมเองถือว่าเป็นคนที่เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาก และดูออกว่าจะเป็นคนทางสายนี้เสียด้วยซ้ำ ซึ่งในทางกลับกัน ผมกลับไม่ค่อยจะเชื่อในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  หรือแม้แต่เป็นประชาธิปไตยได้เหมือนกับเทรนด์ที่อาจพูดได้ว่าเป็น “สมัยใหม่” เสียสักเท่าไหร่

ที่ผ่านมา ถ้าพูดกันตามตรง ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดเห็นที่รุนแรงหรือมีจุดยืนที่หนักแน่นอะไรทางการเมืองเสียเท่าไหร่ ผมยังไม่กล้าพูดเสียด้วยซ้ำว่าผมเป็นคนที่เชื่อในประชาธิปไตย เพียงแต่ตัวเองก็ไม่ได้มีไอเดียอะไรที่ดีกว่านี้เลยไม่คิดจะออกความเห็นอะไร อย่างหนึ่งคงเพราะว่าผมสนใจในเรื่องอื่นอย่างเรื่องการศึกษาเสียมากกว่า และอีกอย่างคงเป็นเพราะผมไม่เคยต้องเสียประโยชน์อะไรจนต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจและต้องมาร้องแร่แห่กระเชิง

ถึงอย่างนั้น ผมก็เชื่อในความคิดพื้นฐานของการเมืองที่ว่าด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมนะครับ ในทางเดียวกัน ผมจึงไม่เคยรู้สึกอะไรหากใครก็ตามจะมาเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว ผมคิดว่านั่นเป็นสัจธรรมที่สิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกนี้ต้องต่อสู้เพื่อตัวเองอยู่แล้ว อันนี้คงสะท้อนได้ง่ายๆ จากประเทศสิงค์โปร์ที่จริงๆ แล้วรัฐบาลออกจะมีความเป็นเผด็จการ มีการควบคุมข่าวสารต่างๆ ที่ยิ่งกว่าประเทศไทยเสียอีก แต่แค่เพราะเขาสามารถทำให้ทุกคนมีความสุข อยู่ดีกินดีได้ เลยไม่มีใครที่คิดจะมาวุ่นวายอะไรเสียเท่าไหร่

ดังนั้นหากมาถึงประเด็นของระบอบกษัตริย์แล้ว ผมก็คงต้องพูดตรงๆ ว่าสำหรับตัวผมเอง การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของสถาบันฯ คงไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของผมมากมายจนรู้สึกว่าต้องหันเหไปทางไหน ผมเองก็คงไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็น royalist รอยัลลิสต์เพราะก็ไม่ได้จงรักภักดีอะไรขนาดนั้น อาจด้วยเพราะเกิดมาในยุคที่ไม่ได้เห็นคุณประโยชน์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันกว่าการเป็นสัญลักษณ์ทางการกุศลต่างๆ อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ถึงกระนั้น ผมก็คงไม่ได้รู้สึก convinced ทำให้เชื่อว่าการมีอยู่ของสถาบันเป็นพิษเป็นภัยอะไร ซึ่งเหตุผลคงมีดังต่อไปนี้

ประการแรก ผมมีคติหนึ่งที่คิดอยู่เสมอคือ “Life is unfair.” และผมเลยไม่เคยรู้สึกมีปัญหาว่าตนเองจะเกิดมามีมากหรือมีน้อยกว่าใครในประเด็นไหน เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ที่ทุกคนจะอยู่กันได้แบบเท่ากันอย่างในอุดมคติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็อยู่กับแบบที่ผู้มีอำนาจมากกว่ากำหนดชะตาผู้มีน้อยกว่าอยู่แล้ว ถ้าเราจะบอกว่าการที่เราเกิดมาถูกคนอื่นกดขี่นั้นเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่เราเองก็ยังกดขี่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ตั้งแต่หมูหมากาไก่ไปถึงแบคทีเรียและไวรัสเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ make sense สมเหตุสมผลเสียเลยที่เราจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่คิดจะยุติธรรมกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ด้อยกว่าเรา

แต่ประเด็นนี้อย่างหนึ่งที่ผมต้องพูดให้ชัดเจนคือ ผมไม่มีปัญหาที่ใครจะต่อสู้เพื่อตนเองอย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว แต่นั้นก็คือการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นการที่จะเอาอุดมการณ์มาอ้างเลยดูเป็นเรื่องที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวกันในสายตาผมเสียมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ยังเคารพหากใครจะมีอุดมการณ์ส่วนตัวในเรื่องใดๆ เพราะผมเองก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ประการที่สอง ผมเองรู้สึกว่าผมไม่มีบรรทัดฐานอะไรที่จะไปตัดสินว่าการที่คนๆ หนึ่งจะเกิดมาได้อำนาจเบ็ดเสร็จในขอบเขตหนึ่งนั้นเป็นเรื่องผิดอะไร ทุกวันนี้ผมเกิดมาก็บังเอิญได้รับสิทธิ์บางอย่างพร้อมๆ กับการอยู่ใต้การถูกควบคุมสิทธิ์อยู่แล้ว ผมอาจจะเกิดมามีบ้านเป็นของตัวเอง หรือเกิดมาเช่าบ้านเขาอยู่ ผมเลยรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่ใครบางคนจะได้ถือครองอะไรบางอย่างมาแบบไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว ผมเลยนึกไม่ออกว่าถ้าผมบังเอิญมีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินส่วนหนึ่งและกำหนดชะตาชีวิตของต้นไม้ หรือไปไล่หมาแมวที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้ ทำไมการที่คนๆ นึงที่บังเอิญมีสิทธิ์พิเศษบางอย่างในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เขาบังเอิญเกิดมาได้สิทธิ์นั้นจะเป็นสิ่งที่ผิด

เช่นเดียวกัน ผมเองก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ถ้าเราเป็นหมาเป็นแมวที่ถูกไล่ที่จะต่อสู้เพื่อเอาผลประโยชน์เราคืนมา เพียงแต่มันก็ต่างกันอยู่มากกับการที่เราจะไปตัดสินว่าการที่คนๆ นั้นบังเอิญมีสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด และทำเป็นอ้างนู้นอ้างนี่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราก็กำลังสู้เพื่อตัวเองเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผมคงต้องอ้างถึงประโยคเด็ดของ Peter Parker ในเรื่อง Spiderman ว่า “With great power comes with great responsibility. This is my gift, my curse.” เรื่องนึงที่ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเองเกิดมาอย่าง privileged มีกินมีใช้เหนือกว่าคนอื่นอยู่พอสมควร ยิ่งในระหว่างนั้นผมมีโอกาสได้ทำงานในจุดที่มีอำนาจบางอย่างได้โตกว่าตัวผมเองในความเป็นจริงอยู่มาก สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ การที่เรามีเงินและอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นนั้น ทำให้เราเองควบคุมชีวิตเราได้ยากขึ้นเท่านั้น อย่างหนึ่งคือคนอาจคิดไปว่าเรามีมากกว่าคนอื่น เราน่าจะสบายหรือได้อะไรถูกจิตถูกใจกว่าคนอื่น แต่จริงๆ แล้วการที่ผมมีอำนาจอยู่มาก ผมก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย และหลายๆ ครั้งหลายๆ สิ่งรอบตัวมันก็ไม่ได้ถูกจิตถูกใจอย่างที่คนอื่นคิด แต่บางทีเพราะจุดที่เราอยู่เราพูดอะไรไม่ได้ คนก็คิดไปว่าเราไม่ได้มีปัญหาอะไร พอใจ หรือเห็นด้วยกับสิ่งนั้นๆ

นอกจากนี้แล้ว คนก็จะตีตราหาค่าและสรุปตัวตนของเราจากสิ่งที่เรามี โดยอาจไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรก็ได้ เช่นอาจจะคิดไปว่าผมเองได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการมีอยู่ของคิวบิกครีเอทีฟ เพราะไม่เข้าใจว่าผมมีเงินมาจากไหน หรือถูกตีตราไปว่าผมต้องอยู่คนละฝั่งกับ KUSAC ทั้งๆ ที่ผมเคยมีปัญหาในระดับส่วนตัวแค่กับบุคคลบางคนเท่านั้น แต่ที่เหลือกลายเป็นเรื่องที่ตามมาจากตำแหน่งหน้าที่ หรืออำนาจของผมทั้งๆ ที่ตัวผมเองไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย

ผมเลยคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการแยกแยะระหว่างตัวคน กับตำแหน่งหน้าที่และระบบที่มีอยู่ เราอาจไม่เห็นด้วยกับบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้ด้วยเหตุด้วยผล แต่การที่เราจะชิงชังตัวคนนั้นๆ เพราะเขาบังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่เราไม่เห็นด้วยอาจเป็นคนละเรื่องกัน ทุกวันนี้ผมเองก็ยังคาดหวังว่าเมื่อไหร่น้องๆ KUSAC ที่ไม่พอใจอะไร KUSAC จะเลิกมาบ่นกับผมด้วยความที่อนุมานไปเองว่าผมจะเป็นคนละพวกกับ KUSAC เสียสักที ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผมโคตรที่จะเข้าข้าง KUSAC เสียด้วยซ้ำ หรือเลิกเกลียดผมเพราะไม่ชอบไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คิวบิกครีเอทีฟทำ เพราะตัวผมจริงๆ กับตัวผมในฐานะของคนในคิวบิกครีเอทีฟ เป็นคนละคนกัน

ผมเลยมองเห็นว่าการต่อสู้ในเรื่องนี้ด้วยความรักตัวเองหรือพวกพ้อง มันแตกต่างกับการต่อสู้ด้วยความรู้สึกเกลียดชังตัวบุคคลหรือสถาบัน และมันก็ให้คุณค่าที่ต่างกันเสียมาก

ทุกวันนี้ คนรอบตัวผมก็มีคนที่ต่อสู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่พอสมควร หลายๆ คนผมก็เห็นว่าเป็นคนที่ต่อสู้ด้วยเหตุผลและตรรกะที่น่าชื่นชม (เช่น @chayanin) ในขณะที่หลายๆ คน ผมก็กลับรู้สึกว่าพวกเขากำลังต่อสู้โดยใช้ความชิงชังเป็นที่ตั้ง

จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ความชิงชังนี้หรือเปล่าที่เปลี่ยนพวกเขาที่แสนสดใสสนุกสนานคนเดิมที่ผมรู้จัก กลายเป็นอีกคนที่ผมหวาดกลัวไปได้

ถูกจิต ถูกใจ

วันนี้จะมาอัปบล็อก #masathaly บ้างครับ

เหตุผลก็คงสืบเนื่องมาจากตอนนี้กลับมาทำค่าย หลังจากที่ไม่ได้ทำมานาน นอกจากว่าตอนนี้จะผมร่วงจนเป็นหมาขี้เรื้อน กับผิวลอกหน้าลอกจนอุบาทว์แล้ว บรรยากาศการทำงานที่เราไม่ได้เป็นประธานงาน ก็ออกจะดูแปลกหูแปลกตาดีเหมือนกันนะฮะ

เมื่อสักเกือบสัปดาห์ก่อน ผมโพสท์บล็อก That Rock บน Cubic Blog ไป เนื้อหาหลักๆ ก็คงพูดถึงการทำงานกับคนที่เราไม่ได้ถูกจริตด้วย การปรับจิตใจของเรานั้นง่ายกว่าการแก้ไขคนอื่นอยู่โข มาที่บล็อกของตัวเอง ผมก็มีเรื่องอยากจะเสริมในลักษณะส่วนตัวอยู่เล็กน้อย

เรื่องแรก

ถึงจะพยายามปรับความคิดให้รับได้กับคนที่เราไม่ชอบ ก็ไม่ใช่แปลว่าทำได้สำเร็จทุกครั้ง หรือจะไม่ต้องการอยากทำงานกับคนที่ถูกจริตด้วยหรอกนะครับ สำหรับผม เวลาทำงานกับคนที่ทำอะไรขัดหูขัดตาเนี่ย ก็พาลจะบั่นทอนจิตใจได้อยู่เรื่อยๆ

ถ้าถามผม ผมชอบทำงานกับคนที่ลุยๆ เต็มที่กับการทำงาน จะทำผิดทำถูกทำห่วยแค่ไหนก็ตามแต่ แต่ถ้าพยายามตั้งใจทำเต็มที่ มันก็ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ ที่ทำงานด้วย จะบ่น จะดุ จะด่าอะไร ก็รู้สึกเกรงใจในความตั้งใจนั้นๆ อยู่พอสมควร

ต่อมา ผมจะไม่ชอบคิดเล็กคิดน้อย ขี้บ่น จุกจิก อย่างที่บอกไปว่าเวลาทำงานกันเนี่ย มันก็มีคนนู้นคนนี้ทำอะไรให้เราไม่ชอบไม่ชื่นไม่ชมอยู่แล้ว จะมาบ่นนั่นบ่นนี่อยู่ตลอดเวลาก็คงน่าเบื่อที่จะฟัง จนหลายๆ ทีก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ชอบที่จะจับผิดชาวบ้านชาวช่องเขาเสียเหลือเกิน

สุดท้าย ก็คงเป็นประเภทที่แฟร์ๆ เรื่องไหนเรื่องไหนก็แบ่งได้เป็นเรื่องๆ จบเรื่องนี้ก็ไม่ค้างมาอีกเรื่อง เวลาทำงานด้วยแล้วสบายใจ เพราะต่อให้มีความขัดแย้งอะไรที่การทำงานปกติต้องมี เราก็มั่นใจว่ามันจะไม่ลามไปเรื่องอื่นๆ

เรื่องที่สอง

การให้เกียรติกันเวลาอยู่ในสังคมการทำงาน ดูจะเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะเวลาคนเราอยู่ด้วยกัน ก็คงเป็นเรื่องปกติที่เราคาดหวังให้คนอื่นแสดงการยอมรับกับเรา ถ้ามีอะไรในตัวเราที่เขาไม่ชอบ เขาไม่ยอมรับ ก็คงจะทำให้อึดอัดอยู่พอดู

การให้เกียรติกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ว่าเรายอมรับและให้เกียรติในทุกความคิด ความเชื่อ นิสัย ศาสนา วัฒนธรรม จริต และรสนิยมของคนนั้นๆ แม้ว่าจะแตกต่างกับเราอยู่พอสมควร

ทุกวันนี้ผมก็พอจะรู้ตัวนะครับว่า ผมสามารถที่จะยอมรับและให้เกียรติหลายๆ คนได้อย่างดี ในขณะที่คงบกพร่องกับหลายๆ คนไปบ้าง ในขณะที่ก็มีหลายๆ คนที่ทำให้ผมรู้สึกว่า เขาไม่ได้ยอมรับและให้เกียรติกับผมเสียสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าผมก็ไม่ได้ให้เกียรติเขาได้ดีมากพอด้วยแล้ว จะทำงานด้วยกันไปในระยะยาวก็คงยากจริงๆ

 

แล้วคนอื่นๆ ล่ะครับ? คนที่ถูกจิตถูกใจเป็นแบบไหน?

บรรยากาศแบบเดิมๆ ไม่ต้องการเพิ่มอะไรสักที

วันนี้มีงาน Cubic Step-Inw Camp #1 ครับ (ดูรูปได้ที่นี่) ก็ถือว่าเป็นโครงการอีกอันหนึ่งที่ผมเป็นตัวตั้งตัวตีขึ้นมา และก็โชคดีที่มีน้องๆ ทีม Cubic Android Group ช่วยกันทำงานจนสำเร็จขึ้นมาได้

หากถามผม บรรยากาศการทำงานในวันนี้ ก็ดูคล้ายๆ กับนิทรรศการวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 1 เมื่อราวๆ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคิวบิกครีเอทีฟ

ถึงจะไม่มีอะไรมากมาย การทำงานก็ออกจะดูติดขัดบ้าง แต่บรรยากาศของการทำอะไรด้วยความสุขแบบสบายๆ ป้ายชื่อมีไม่ครบทุกคนแบบนี้ ก็หาไม่ได้บ่อยๆ ในช่วงระยะหลังนี้

แน่นอนว่าโครงการนี้เราคงจัดอีก และด้วยธรรมชาติของคิวบิกครีเอทีฟ เราก็คงจะตั้งใจมากขึ้น เพื่อให้งานพร้อมสมบูรณ์มากขึ้น บรรยากาศการทำงานก็คงจริงจังมากขึ้นกว่านี้

ก็ไม่ได้แปลว่าจะดีหรือแย่อย่างไรนะครับ ผมคิดว่าแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง เพียงแต่การได้แวะเวียนมาสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ บางทีมันก็ทำให้ใจล่องลอยไปได้บ้างเหมือนกัน

อาจจะต้องขอยืมคำชาวบ้านมาอีกแล้วว่า

ถึงไม่เลิศหรู แต่ก็อบอุ่น 🙂