Krabi.

Krabi.

 

ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ตอนผมอยู่ ม.2 มีงานวิชาสังคมงานหนึ่งให้ทำแผ่นพับแนะนำจังหวัดต่างๆ โดยแต่ละคนในห้องจะต้องเลือกจังหวัดมา 1 จังหวัดโดยไม่ซ้ำกัน

ผมเองจำไม่ได้แน่ชัดว่าตอนนั้นทำไมผมถึงเลือกกระบี่ อาจจะเพราะมันอยู่บนสุดเวลาเรียง หรือแค่เพราะไม่มีใครเอาก็ไม่ทราบได้ แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมได้รู้จักกับจังหวัดกระบี่มากกว่าที่เคยรับรู้ว่ามันคือจังหวัดในภาคใต้ตั้งแต่ ป.5 (และถ้าให้พูดตามตรง เพิ่งรู้ว่ามันอยู่ฝั่งอันดามันก็ตอน ม.2 เนี่ยแหละ)

ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นแผ่นพับที่โคตรจะตั้งใจทำเลยครับ สมัยนั้นยังไม่ใช่ยุคที่ใครจะใช้วิธีพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์กันมากๆ ตอนนั้นเลยถือว่าเก๋น่าดู แถมจัดหน้าอะไรใน Word ซะเป๊ะ ก็เป็นทักษะที่ตอนนั้นกล้าพูดว่านอกจากพอแล้วคงไม่มีใครสู้ได้ (ถึงจะต้องลองพับไปพับมาชวนสับสนอยู่นานจนกว่าจะเก็ตว่ามันจะพับ 3 ส่วนยังไงและหน้าไหนหน้าแรกก็เถอะ)

มาจน ม.5 ก็มีงานวิชาสังคมให้ทำแผ่นพับจังหวัดอีกครั้ง ผมก็รีบจับจองจังหวัดกระบี่ทันที เพราะคิดว่ายังพอจำอะไรๆ ได้มากคงทำได้ง่ายๆ แม้ว่าไฟล์ตอน ม.2 จะสาบสูญไปแล้วในตอนนั้น (ไฟล์ของ ม.5 ยังอยู่ เผื่อใครจะอยากเอาไปพิมพ์ส่ง)

และก็แปลกอีกที่แม้ว่าผมจะรู้จักกับกระบี่มาหลายวันตั้งแต่ ม.2 แล้ว แต่กว่าผมจะมีโอกาสได้ไปกระบี่จริงๆ ก็อีกหลายวันต่อมาครั้งแรกในปี 2556 และอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จนบัดนี้รายละเอียดหรือชื่อสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ของกระบี่ก็ยังติดตรึงอยู่ในใจผมได้ดี คงแปลกพิลึกที่งานในโรงเรียนจะได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาขนาดนี้

เอาเป็นว่า ถ้าในโอกาสหน้าผมได้ไป Rwanda จะมาเล่าให้ฟังว่าทำไมผมถึงเลือกทำแผ่นพับประเทศนี้ในวิชาภาษาอังกฤษ ม.4

Three times four is twelve.

จริงๆ กะจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่เขาโพสท์กันใหม่ๆ แล้ว แต่ก็ลืมไป จนดราม่าออกมาบนเว็บดราม่าก็เลยนึกขึ้นได้ ขอดราม่าอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้งละกัน

เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็น เรื่องการกระทำของครู กับเรื่องกระแสของสังคมที่มีกลับมา

อย่างหนึ่งที่คงต้องยอมรับกันก่อนว่า ในทางนิยามของคณิตศาสตร์ 4×3 มันไม่เหมือนกับ 3×4 จริงๆ ซึ่งในคอนเมนต์ท้ายสุดที่เว็บดราม่าฯ เอามาใส่ไว้ก็ชี้แจงได้ค่อนข้างชัดเจนถึงที่มาที่ไป ตอน ป.2 ที่เริ่มเรียนเรื่องการคูณเองผมก็จำได้ว่ามีปัญหาในลักษณะนี้เหมือนกัน ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมการคูณถึงต้องนิยามให้ขัดกับหลัก common sense สามัญสำนึก แต่ตอนนั้นอาจจะเพราะยังเด็กไปก็เลยยังไม่ได้ตั้งคำถามอะไรมากมาย จนโตๆ มาถึงจะพอเข้าใจได้ว่าคณิตศาสตร์มันอยู่บนพื้นฐานของการนิยาม ดังนั้นมันเลยต้องตั้งต้นว่าต้องนิยามให้เหมือนกันก่อน แต่ถ้าอะไรจะได้ผลลัพธ์เท่ากับอะไรก็ต้องไปพิสูจน์กันก่อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นปัญหาของเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากการที่ครูเองไม่มีบรรทัดฐานแล้วให้ข้อหนึ่งผิดข้อหนึ่งถูกทั้งๆ ที่ใช้นิยามเดียวกันแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ว่าครูไม่สามารถอธิบายหรือสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจได้ว่าความผิดนี้เกิดจากอะไร และผิดในจุดไหนของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ทั้งหมดที่จะนำไปสู่คำตอบ แม้ว่ามันจะได้ผลลัพธ์เท่ากันก็ตาม

แต่สิ่งที่น่าละเหี่ยใจกว่า คือสารพัดผู้คนที่เข้ามารุมวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ว่า “ก็มันเท่ากัน ครูให้ผิดได้อย่างไร” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลของความล้มเหลวทางการศึกษาคณิตศาสตร์ที่ทำให้นักเรียนมุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์โดยไม่สนใจกระบวนการที่มาที่ไปของเหตุและผลทางคณิตศาสตร์ ทั้งๆ ที่ความมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์มันอยู่ที่กระบวนการและนิยามต่างๆ มากมายที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่นๆ ได้ แต่การเรียนคณิตศาสตร์แบบคิดเลขเร็วและขืนใจให้ทุกๆ คนเรียนอย่างไม่มีทางเลือกก็ทำลายความงดงามนี้ไปหมดสิ้น

ที่จะเหลืออยู่ ก็คงมีเพียงความเกลียดชังที่มีต่อคณิตศาสตร์จากประสบการณ์เลวร้ายที่ฝังเป็นแผลลึกในใจของผู้คนตลอดไป

Education and its economical value.

วันนี้บังเอิญได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกนอกระบบผ่านเข้ามาบนหน้า Facebook ผม ถึงกับมีการสร้าง Page ขึ้นมาเลยทีเดียว

หากพูดตามตรง ผมไม่มีรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเชิงลึกมากนัก และคงไม่กล้าที่จะวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ ไปจนถึงการตัดสินว่าควรหรือไม่ควรที่จะมีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ประเด็นหนึ่งที่จะค่อนข้างมีจุดยืนที่ตายตัวอยู่แล้ว คือเรื่องการ subsidize อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาจากภาครัฐ (ซึ่งในความเข้าใจของผม น่าจะเป็นประเด็นแยกจากการอยู่ในระบบหรือออกนอกระบบ เพราะจะอยู่ในระบบไหนถ้ารัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายซะอย่างก็คงทำได้อยู่แล้ว)

ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างจะไม่ปลื้มระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะของประเทศไหนๆ) ด้วยความไร้ประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการต่างๆ จะรู้สึกว่ามันมีความสิ้นเปลืองในหลายๆ ส่วนอยู่มาก จนทุกวันนี้ผมคิดว่า เราจ่ายเงินเป็นแสนๆ ล้านๆ เพื่อใบปริญญาที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีคุณค่าที่แท้จริงอะไรเทียบได้กับจำนวนเงินที่เสียไปสักเท่าไหร่

และผมเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับโมเดลของการ subsidize อุดหนุนค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ด้วยความเชื่อลึกๆ ว่า ใน free market ตลาดเสรีนี้ การซื้อขายทุกอย่างควรเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของมัน แล้วการให้ความสำคัญและมูลค่าของสิ่งต่างๆ จะเป็นไปอย่างสมดุล รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการด้วย

แต่แน่นอนครับว่า ในชีวิตสังคมจริง โมเดลของการอุดหนุนเหล่านี้ก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้สักทีเดียว เราอาจจะยังมีบางเรื่องบางสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่รัฐควรให้การสนับสนุนประชาชน เพราะสังคมโดยรวมจะได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนนั้น (ยกตัวอย่างเช่น ช่วยแก้ปัญหาปากท้อง ก็ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมในสังคม หรืออุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ก็อาจจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคร้ายบางอย่าง ฯลฯ) ซึ่งการที่จะตัดสินว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสมนั้น ก็คงเป็นความคิดที่แตกต่างไปของแต่ละคน

แต่ด้วยความเชื่อที่ผมมองว่าการศึกษาในปัจจุบันนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าในสังคมสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่เราจำเป็นต้องลงทุนไปในระบบด้วยแล้ว ยิ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ผมเห็นด้วยที่รัฐจะมีการอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีคุณภาพมากพอที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่สำหรับการศึกษาภาคอุดมศึกษาแล้ว ผมมองว่าเป็นการศึกษาระดับวิชาชีพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และด้วยลักษณะเนื้อหาที่เข้มข้น เฉพาะทาง เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะกับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพดังกล่าวนั้นให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม

แต่ทุกวันนี้ภาพของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กลับเต็มไปด้วยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ที่สุดท้ายแล้วยากนักที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ใช้เงินร่ำเรียนมามากมายให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้คุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น

ผู้เรียนที่ไม่ได้เป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียน ย่อมไม่ได้เห็นความสำคัญของมูลค่าที่แท้จริงของการศึกษา และไม่ได้นำปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของวิชาชีพนั้นๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าศึกษาในสถาบันหรือสาขาวิชาต่างๆ เหมือนที่พวกเราจะเลือกซื้อสินค้าต่างๆ หรือการที่นักธุรกิจจะเลือกตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆ

อีกทั้งสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องแข่งขันกันสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและความพึงพอใจคุ้มค่ากับราคาขายที่ผู้เรียนต้องซื้อ เพราะด้วยเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ลอยมา ร่วมกับการที่ต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งให้ได้มากที่สุด ล้วนแล้วแต่เกื้อหนุนยิ่งให้เกิดการศึกษาที่ไร้คุณภาพ และการไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษาของผู้เรียน

ดังนั้นโมเดลที่ผมเองออกจะเห็นด้วยมากกว่า คือโมเดลของการมีค่าเล่าเรียนที่สะท้อนความเป็นจริง แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้หรือทรัพย์สินน้อยได้ใช้เงินในอนาคตของตนเองมาใช้จ่ายล่วงหน้า ซึ่งก็เป็นเงินที่บุคคลเหล่านั้นควรจะหาได้มากขึ้น จากการเรียนที่มากขึ้นนี้เช่นเดียวกัน

แต่จริงๆ แล้ว ภาพการออกมาต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างตื้นเขิน และนำค่าเล่าเรียนเป็นตัวนำ และปราศจากการมองภาพให้รอบในเชิงลึกก็ค่อนข้างสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การศึกษา ไม่ว่าจะในระดับพื้นฐาน หรือในระดับอุดมศึกษานี้ล้มเหลวอย่างไร

จนบางที ผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ในประเทศที่เราแสนจะภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตย แต่เรากลับมีรากฐานทางความคิดที่ออกจะเอียงไปทาง communism สังคมนิยมที่เราตราหน้าว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายได้แบบนี้

Life, flow, connected.

20110504-193914.jpg

จริงๆ ตอนนี้ผมยังอยู่ที่ปราณบุรี เป็นจังหวะที่กำลังมาเที่ยวกับน้องๆ ในคิวบิกฯ (ที่นานๆ จะจัดกันได้สำเร็จสักทีหนึ่ง) การมาที่นี่ก็มีเหตุการณ์สะท้อนใจอยู่หลายเรื่องพอดูนะครับ เพียงแต่วันนี้มีเหตุเกิดอีกนิดหน่อย และผมคงรู้สึกอัดอั้นจนต้องพยายามพิมพ์บล็อกนี้บน iPad ก่อนที่จะกลับไปเขียนเรื่องอื่นๆ บนคอมที่บ้านอีกทีนึง

วันนี้มีการประกาศผลแอดมิชชัน หรือก็คือการประกาศว่าใครจะได้ติดมหา’ลัยไหนบ้าง จากที่เลือกไว้ 4 อันดับ

จริงๆ เหตุการณ์แบบนี้มันก็มีอยู่ทุกปีนะครับ แต่ปีนี้ดูจะเป็นหลักระยะทางในชีวิตผมเองสักหน่อยตรงที่มีน้องใกล้ๆ ตัวผมอยู่สองสามคนที่ต้องผิดหวังกับผลที่ได้รับ จากที่ปกติถ้าไม่ใช่คนใกล้ตัว ก็มักจะได้ตามที่หวังกันไว้ไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไรมากมาย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดูจะสะกิดใจผมอยู่สองประเด็น เรื่องหนึ่งก็คงเป็นเรื่องของระบบการศึกษา และสังคมแห่งความคาดหวังที่คิดว่าบล็อก “ปริญญา ค่านิยม สังคมไทย” ของพอคงจะสะท้อนได้ชัดเจนอยู่พอสมควรอยู่แล้ว

อีกเรื่องหนึ่งคงเป็นการที่ผมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างบอกไม่ถูก แม้ว่าน้องบางคนจะดูพยายามที่จะเก็บความรู้สึกผิดหวังไว้ แต่ผมก็อดจะรู้สึกเศร้าไปด้วยเสียไม่ได้ แม้ว่าผมเองจะไม่ค่อยต้องเครียดและลงทุนลงแรงอะไรมากมายกับการเข้ามหา’ลัย (เผื่อใครไม่ทราบ ผมได้โควต้าตั้งแต่ ม.4 เลยทำให้ช่วง ม.ปลายชิวมาก) แต่ผมเองก็อาจจะพอจินตนาการได้ถึงความตั้งใจของน้องๆ ที่ต้องขยันขันแข็งดูหนังสือเรียนพิเศษต่างๆ ด้วยความกดดัน และยิ่งเราพยายามมากเท่าไหร่ เมื่อผลไม่เป็นดังหวัง เราก็ยิ่งล้มเจ็บลงมากเท่านั้น

ที่น่าสังเกตคือ ผมรู้สึกเศร้าไปกับความผิดหวังนี้ด้วยอย่างบอกไม่ถูก จนรู้สึกอัศจรรย์ใจขึ้นมาว่า ชีวิตของคนเราจะเกี่ยวพันกันได้ขนาดนี้

จริงๆ เพราะเรื่องนี้เอง คงเป็นสิ่งที่ทำให้การให้มีอยู่บนโลกใบนี้ เพราะเราจะร่วมมีความสุขกับความสุขของคนที่ได้รับ แม้ว่าเราจะต้องเสียอะไรไปบางอย่างจากการให้นั้นเอง

และเช่นเดียวกัน ผมจึงอดที่จะต้องเจ็บปวดไปด้วยไม่ได้ ในค่ำคืนริมทะเลแห่งนี้

Dead Thing

เฮ้อ…ก็เนี่ยน้า…

สมัยผมอยู่ ม.ปลาย ตอนนั้นจะมีอาจารย์คนนึงที่ผมเองเคารพรักมาก นั่นก็คือ อ.สุวจี จริงๆ แล้วอาจารย์เค้าค่อนข้างจะมีรูปแบบความเป็นครูของตัวเองที่อาจจะไม่เข้าหูไม่เข้าตาคนยุคเก่าเสียหน่อย แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่าเค้าเองเป็นคนที่มีความเป็นครูสูง และเข้าอกเข้าใจ และพร้อมที่จะเสียสละให้กับนักเรียนจริงๆ ได้อย่างสุดๆ (พูดไปก็นึกถึง GTO ถึงจะไม่บ้าบิ่นขนาดนั้นก็เถอะ)

และด้วยเหตุนั้นเอง ผมคิดว่าถึงขนาดผมไม่ได้อยู่ประจำชั้นด้วย และไม่ได้เรียนด้วย แต่ผมก็มีความสนิทชิดเชื้อมากอยู่พอสมควร ทำให้ผมไว้ใจพอที่จะปรึกษาปัญหาหลายๆ เรื่องได้ ซึ่งแน่นอนในชีวิตวัยรุ่นหลายๆ ครั้งเราก็มีปัญหาเยอะมากเสียด้วย

จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง ดูเหมือนอาจารย์ดูจะน้อยใจ และส่งเพลงร้านขายยานี้มาให้ผม จนตอนนั้นเองก็ทำให้ผมฉุกคิดได้เหมือนกันว่า เออว่ะ เราหาเค้าแต่ตอนที่เรามีปัญหาจริงๆ ด้วย จนหลังจากนั้นเองผมก็เลยพยายามจะใส่ใจกับอาจารย์เค้ามากขึ้น ไม่ใช่ว่ามีแต่ปัญหาถึงไปคุยกับเค้า

จริงๆ ตอนนี้ผมก็เหมือนจะเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้วครับ

ทุกวันนี้จากตำแหน่งที่ผมอยู่ ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีน้องๆ ที่นับหน้าถือตา เวลามีปัญหาอะไร ก็มักจะวิ่งรี่เข้ามาปรึกษาให้ช่วยแก้ไข ตั้งแต่อกหักยันเน็ตพัง ซึ่งทุกๆ ครั้งผมก็พยายามจะช่วยเหลือผ่อนหนักให้เป็นเบาให้ได้เท่าที่จะเป็นไปได้ (ถึงยังงั้นก็จะยังมีคนงอนว่าผมไม่แคร์อยู่เป็นระยะๆ อันนี้ก็ต้องขออภัย เกินความสามารถส่วนตัว)

จนบางทีผมก็อดน้อยใจไม่ได้ครับว่า ทำไมเวลาตอนชีวิตมีความสุขดี ไม่เห็นจะโทรหากู ไม่เห็นจะทักสไกป์กูมาพูดมาคุยบ้างเว้ย โทรศัพท์มากี่ครั้งก็ต้องมีปัญหาให้กูช่วยอะไรสักอย่างตลอด ยังไงซะ กูก็ร้านขายยาดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ชิ

ยิ่งกับงานคิวบิก หลายๆ ทีก็อดน้อยใจว่างานเราเป็นของตายไม่ได้นะครับ แบบ พอว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็มาช่วย แต่พอบอกว่าจะมาช่วยแล้วอยู่ๆ มีอย่างอื่นอยากทำมากกว่าก็ชิ่งไปซะอย่างนั้น ถึงจะรู้สึกว่าเป็นสิทธิ์ของเค้า และพยายามแยกเรื่องงานกับความรู้สึกส่วนตัวแล้ว แต่พูดก็พูดเถอะครับ เจอแบบนี้บ่อยๆ เข้าก็อดเซ็งไม่ได้เหมือนกันว่า ทำไมกูต้องเป็นของตายฟะ (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เพราะหาคนทำงานไม่ได้ กูก็ต้องเป็นฝ่ายง้อจริงๆ น่ะแหละ)

ที่เซ็งไปกว่านั้นคือ ด้วยตำแหน่งหน้าที่แล้วเนี่ย จะมาน้อยใจมางอนให้คนอื่นคอยง้อ (เหมือนเวลาคนอื่นน้อยใจพี่นัทว่าพี่นัทไม่แคร์) ก็คงไม่ได้อีก สุดท้ายก็เลยได้แต่ทน และมางอนในบล็อกตัวเองแบบนี้

ก็คิดว่าทำอะไรไม่ได้แหละครับนอกจากต้องทนต่อไป

ยังไงซะเราก็มันแค่ของตาย…ชิ!