JP/US 2014 – Day 11

วันนี้ก็มีกำหนดการที่จะไปเที่ยวเป้าหมายส่วนตัวต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของ San Francisco โดยเป้าหมายทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องขับรถไป ตอนนี้เลยเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสลองใช้บริการ Hertz 24/7

ลักษณะของ Hertz 24/7 คือการเช่ารถรายชั่วโมงแบบคิดเหมารวมน้ำมันไปเลย แล้วเราสามารถที่จะเอารถแล้วก็คืนรถเมื่อไหร่ก็ได้ด้วยตนเองเลย ไม่ต้องใช้คนมาบริการ ขั้นตอนแรกคือเราจะต้องสมัครเป็นสมาชิกเพื่อผูกบัตรเครดิตและใบขับขี่เราก่อน โดยในขั้นตอนนี้ยังจะต้องไปที่ศูนย์ Hertz ก่อน หลังจากที่เขาตรวจสอบยืนยันบัตรเครดิตและใบขับขี่เรียบร้อยแล้ว เขาจะให้แท็ก RFID แบบนี้มาเป็นของเรา

IMG_8029

หลังจากนั้นเราก็ทำการจองรถโดยเลือกสถานที่รับ/คืนรถ และเวลาที่ต้องการรับ/คืน แล้วเขาจะมีรายการให้เราเลือกว่ามีรถรุ่นไหนให้เลือกบ้าง และราคาเท่าไหร่ โดยราคาจะคิดเป็นต่อชั่วโมงโดยรวมค่าน้ำมันแล้ว ถ้าน้ำมันหมด เราสามารถใช้การ์ดในรถเติมน้ำมันได้ฟรี

หลังจากที่เราเลือกรถแล้ว พอใกล้ถึงเวลาประมาณ 15 นาทีก่อนรับรถ ก็จะมีอีเมลมาแจ้งรุ่น สี และป้ายทะเบียนของรถที่เราจอง โดยรถจะจอดอยู่ที่จุดจอด Hertz 24/7 ที่เราเลือกไว้ เราก็เอาแท็ก RFID ที่ได้มาไปแปะหน้ารถ รถก็จะเปิดล็อกให้เราเข้าไปได้ โดยกุญแจรถจะอยู่ในรถอยู่แล้ว แล้วก็สามารถขับออกไปได้ทันที หลังจากนั้นพอตอนเราจะคืนรถ ก็แค่ว่าเอารถกลับมาจอดที่ที่กำหนดไว้ แล้วเก็บของออกให้เรียบร้อย ทิ้งกุญแจรถไว้ในรถ แล้วก็เอา RFID ของเราแปะหน้ารถอีกครั้ง รถก็จะล็อก ก็เป็นอันเรียบร้อย

ในวันนี้เป้าหมายแรกที่ไปคือบ้าน Steve Jobs ที่ Palo Alto ก็ได้ไปถ่ายรูปที่หน้าบ้านสักรูปสองรูป ในจังหวะนั้นเอง ก็มีรถ BMW สีบรอนซ์ทอง เป็นผู้หญิงขับ แล้วก็มีเด็กผู้หญิงนั่งอยู่อีกคนขับเข้ามา กรี๊ด! หนีแทบไม่ทัน ดีนะไม่โดนด่า (แค่เค้าอาจจะชินแล้วมั้ง)

IMG_7854

ต่อจากนั้นเราก็ไปต่อที่ Mountain View โดยไปถ่ายรูปกับหุ่นแอนดรอยด์ แล้วก็ไปทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารไทยในดาวน์ทาวน์

IMG_7866

แล้วก็สิ่งที่ขาดไม่ได้ เราก็ต้องไปที่ Cupertino เพื่อไปถ่ายรูปกับป้าย 1 Infinite Loop และแวะ Apple Company Store ซึ่งจะเป็นร้านที่ขายของที่ระลึกเช่นเสื้อผ้า แก้ว ปากกา สมุด บลาๆ ตราแอปเปิลทั้งหลายแหล่ สุดท้ายก็โดนเสื้อไป 2 ตัว

IMG_7869

IMG_7875

ขากลับ เนื่องจากว่าเวลายังเหลืออยู่เล็กน้อย เลยตัดสินใจว่าจะขับผ่าน Stanford กินลมชมบรรยากาศ จริงๆ เกิดความระทึกครั้งนึงใน Stanford เมื่อเผลอเลี้ยวขวาแล้วชิดซ้าย คนที่ขับมาอีกคนชูนิ้วด่าด้วย แต่ถึงงั้นก็ได้เจอวิวสวยๆ ถือว่าชดเชยกันได้

IMG_7880

หลังจากนั้นก็ขับกลับมา San Francisco เพื่อเอารถมาคืน ก่อนที่จะเดินไปชมวิวดูบรรยากาศที่ Pier 39 (อารมณ์คล้ายๆ เพลินวาน + Asiatique) ก่อนที่จะเผ่นไปทานข้าวเย็นที่ China Town เพราะอยากประหยัด ก็เป็นอันสิ้นสุดการเที่ยวในวันนี้ที่ San Francisco

หมายเหตุ: โพสท์นี้เป็นโพสท์ย้อนหลัง

Okay Google, don’t be evil.

เรื่องของเรื่องคือ วันนี้ผมกำลังจะเข้าจีเมล์โดยใช้โครม หลังจากที่พิมพ์ตัวอักษร ‘g’ ได้ตัวเดียว แล้วก็เกิดเผลอกด return ไปทันที สิ่งที่ขึ้นมาคือภาพนี้ครับImage

ตอนแรกผมเลยคิดไปเองว่า กูเกิลอาจจะคิดไปเองว่าผมอยากจะพิมพ์คำว่า ‘gmail.com’ ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลอะไรก็ตามแต่ เลยลองอีกครั้งบนซาฟารี ก็ยังได้ผลแบบเดียวกัน

เรื่องของเรื่องก็คือว่า ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าการที่กูเกิลเอาบริการจีเมลขึ้นมาไว้อันแรกจะเป็นการใช้อัลกอริธึมตามปกติหรือเปล่า ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวไม่คิดว่าถ้าใช้การจัดอันดับตามปกติ บริการจีเมลจะสามารถชนะหัวข้อ ‘g-force’ หรืออักษร ‘G’ ของวิกิพีเดียได้ สังเกตว่าทั้งการแสดงผลไม่มีสักจุดที่จะแสดงเป็นตัวหนาได้ด้วยซ้ำ

และยิ่งถ้าลองดูลึกลงไป จริงๆ แล้วอักษร ‘G’ เป็นตัวย่อของหุ้น Genpact Limited ใน NYSE ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบกับการพิมพ์ ‘x’ เข้าไปในช่องเสิร์ช จะพบว่ามีข้อมูลหุ้นของ United States Steel Corporation ซึ่งใช้ตัวย่อว่า ‘X’ ใน NYSE เช่นเดียวกันแสดงขึ้นมาอันแรก ในขณะที่ถ้าอยากให้แสดงข้อมูลของ Genpact Limited กลับต้องพิมพ์ว่า ‘g stock’

Image

ครั้นถ้าจะเป็นการสร้างข้อยกเว้นของตัวเอง ผมคิดว่าวิธีการที่เหมาะสมคือการที่กูเกิลควรจะแสดงจีเมลในรูปแบบของโฆษณาให้ชัดเจนมากกว่า (ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีการจ่ายเงินให้ตัวเองก็ตามที)

เพราะการเนียนเอาโฆษณามาใส่เป็นผลการค้นหาแบบออร์แกนิกแบบนี้ต่ำเกินไป

Web is what you make of it.

จริงๆ อยากจะโม้เรื่องนี้นานแล้ว แต่ยังไม่ถึงจังหวะที่คิดว่าเปิดเผยสู่สาธารณะได้ เลยยังไม่พูด

จริงๆ เรื่องเริ่มจากทาง Google ติดต่อคุณพ่อมา ว่าอยากเอาเรื่องคุณพ่อไปทำ TVC แบบ Dear Sophie ที่เมกา (เวอร์ชันไทย) แต่ปรากฎว่า ด้วยเวลาคุณพ่อไม่สะดวก เพราะว่าถ้าอยากเอาไปเป็นพรีเซนเตอร์ อยากให้รอเกษียณก่อน (ไม่ให้เกี่ยวกับมหา’ลัย) แต่โครงการเค้ารอไม่ได้ สุดท้ายใน TVC ของ Google Chrome 3 ชุดในไทย อันครอบครัวเลยเอา Dear Sophie มารีเมค กลายเป็นชุด จากใจพ่อ

ทีนี้ทางกูเกิลก็เลยติดต่อจะเอาคุณพ่อไปออกรายการสุริวิภา ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็มีแค่พี่สาว (พี่นุ่ม) กับคุณพ่อ แต่พอครีเอทีฟรายการมาคุย แล้วลามมาถึงลูกคนสุดท้อง ทางครีเอทีฟก็สนใจคิวบิกครีเอทีฟมาก เลยเอาไปออกรายการ (ถ้าสงสัยว่าลูกคนกลางหายไปไหน โปรดอ่าน Wednesday Child)

ยังไงก็…ขอขอบพระคุณ Google มา ณ โอกาสนี้ครับ

ถ้าชาติหน้ามีจริง ผมจะใช้ Android ครับ

 

(อีกนิด ขอแชร์เป็นการส่วนตัว)

Google+ or Google-?

ก็เป็นที่ฮือฮาอยู่พอสมควรในช่วงนี้ สำหรับข่าว Google Plus (หากใครยังไม่ทราบ ก็ขอสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเว็บเครือข่ายสังคมของทาง Google ที่มีเป้าหมายลึกๆ ที่จะตี Facebook ให้ได้)

จุดเด่นที่สำคัญที่สุดที่ Google Plus พยายามนำเสนอมา (และคิดว่าเป็นจุดที่เหนือกว่า Facebook) คงเป็นเรื่องของ Circles หรือการจัดการเพื่อนของเราออกเป็นวงต่างๆ และทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้นว่าจะแชร์อะไรให้เพื่อนวงไหน

ถ้าให้พูดตามตรง ผมเองไม่ค่อยมีความเห็นที่แน่ชัดกับ Google Plus มากกว่าจะรุ่งหรือจะร่วง (ต่างกับตอนที่เห็น Google Wave หรือ Google Buzz ออกมาทีแรกแล้วค่อนข้างมั่นใจว่าดับแน่ๆ)

แต่ตอนนี้ถ้าให้แสดงความคิดเห็นสั้นๆ เร็วๆ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการที่จะทำให้ Google Plus ไปรอดได้

ประการแรก Facebook ต้องพลาดท่า ซึ่งถ้าอิงจากกรณีของ Hi5 นั่นคือเมื่อถึงจุดที่ Facebook ไม่สามารถควบคุม user-generated content คอนเทนต์ที่เกิดจากผู้ใช้หรือ third-party content คอนเทนต์จากบุคคลที่สาม (เช่นแอปหรือเกมต่างๆ) ให้อยู่กับร่องกับรอยจนไม่กระทบกับประสบการณ์ใช้งานโดยรวมได้ ผมคิดว่า Facebook เคยเกือบพลาดพลั้งแล้วครั้งหนึ่งช่วงที่มี Wall Post จากเกมเยอะๆ แต่ถือว่า Facebook ก็จัดการได้ดีทีเดียว ในอนาคตสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคงเป็นเรื่องที่ Facebook จะดูแลและควบคุมการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อการตลาดของเหล่านักธุรกิจ (เช่นแท็กโฆษณา หรือการจัดแคมเปญต่างๆ) ได้อย่างไร (ซึ่งล่าสุดก็มีการออกแนวทางปฏิบัติมาแล้ว)

ประการที่สองที่ค่อนข้างสำคัญ และเป็นจุดอ่อนของ Google มาตลอด คือการทำให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจระบบ Circles (ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ง่าย)

ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของ Google มีฟีเจอร์ที่ดีและโดดเด่นกว่าคู่แข่งอยู่เยอะ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของ Google คือความพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจริงๆ แล้วดี แต่ความเข้าใจยากเกินไปสำหรับผู้ใช้ทั่วไป (เช่นเป็นรายแรกๆ ที่พยายามจะทำอีเมลเป็น conversation รวมกลุ่มตามการสนทนาซึ่งจะขัดกับความเข้าใจเดิมของผู้ใช้ที่มีต่ออีเมลปกติ หรือการเก็บเอกสารแบบ Google Docs ที่ค่อนข้างขัดกับความเข้าใจในเรื่องของระบบไฟล์ที่ผู้ใช้เดิมมี ไปจนถึง Google Wave เองที่ล้ำจนไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร) ดังนั้นที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงมักจะเป็นที่นิยมแต่ในกลุ่ม power user ผู้ใช้ระดับสูงที่มีความชำนาญพอจะเข้าใจอะไรต่อมิอะไรของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้

อย่างหนึ่งที่เราสังเกตได้จาก Google Plus คือการพยายามออกแบบในเรื่องของสิทธิ์การเข้าถึงของเนื้อหาต่างๆ ที่ผู้ใช้โพสท์เข้าไปตั้งแต่เริ่มต้น (ซึ่ง Circles เป็นผลจากความพยายามอันนั้น) ปัญหาคือ ผมคิดว่า Circles นั้นเข้าใจยากกว่าการบอกว่าเป็นเพื่อนกัน (บน Facebook) หรือบอกว่าใครตามอ่านของใคร (ใน Twitter) อยู่มาก และค่อนข้างชวนสับสนว่าเราควรจะจัดอะไรไปอยู่ที่ไหนอย่างไร และผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร แม้แต่ผมเองในช่วงแรกๆ ก็เกิดอาการ “ชะงัก” อยู่ไม่น้อยว่าจะจัดอะไรอย่างไรดี และในระยะยาวผมคิดว่าการจัดการกลุ่มจำนวนมากเหล่านี้ รวมถึงการเลือกว่าจะแชร์อะไรให้ใครไม่แชร์ให้ใครคงจะวุ่นวายน่าดู อีกทั้งการจัดการความทับซ้อนของความสัมพันธ์ (เช่นบางคนอาจจะเป็นทั้งเพื่อนที่โรงเรียน และเพื่อนที่ทำงาน) บางทีเราจัดซ้อนไปซ้อนมาก็ค่อนข้างชวนให้งง และยังไม่เห็นวิธีง่ายๆ ที่จะจัดการรายชื่อเหล่านี้ในอนาคต ตรงนี้ Google คงต้องทำการบ้านอย่างมากว่าอินเตอร์เฟซจะเป็นอย่างไรให้เข้าถึงผู้ใช้ทั่วไปให้ได้มากที่สุด

แต่ถ้าให้เลือกตอนนี้ ผมคงต้องบอกว่าขอลงเดิมพันไว้กับ Facebook ก่อน ทั้งในเรื่องของฐานผู้ใช้ และพันธมิตรต่างๆ รอบตัวที่ทำได้ไว้ค่อนข้างดีในเวลาที่ผ่านมา