Javascript and Circumcision

บางทีก็อยากจะเขียนบล็อกที่มีสาระสร้างสรรค์มาสู้กับบล็อกของกฤษษี่ดูบ้าง เนื่องจากล่าสุดเพิ่งทำเว็บของโครงการ Cubic Staff Program อันใหม่ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับการทำเว็บใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ เลยอยากจะมาแชร์ในหัวข้อนี้บ้าง แนะนำว่าถ้าใครยังไม่เคยเข้าไป ก็อาจจะเข้าไปดูผ่านๆ ก่อนทีนึงเผื่อจะเก็ตในสาระที่จะสื่อสารบ้าง

(ปล. ปกติตามนโยบายของคิวบิกครีเอทีฟคงจะไม่สามารถมาโพสท์เรื่องงานในที่สาธารณะแบบนี้ได้ แต่ขออนุญาต CEO เป็นกรณีพิเศษแล้วเฉพาะกรณีนี้เท่านั้น ไม่ถือเป็นบรรทัดฐานในกรณีอื่นๆ แต่อย่างใด)

Screen Shot 2013-11-21 at 20.53.52

ก่อนอื่นเลย แนวคิดเริ่มต้นที่จะทำเว็บอันนี้ ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นการซ้อมมือเพื่อเตรียมปรับสไตล์ของเว็บคิวบิกฯ ให้ตามสมัยนิยมมากขึ้น โดยถ้าให้สรุปหลักๆ ก็จะมีแนวคิดดีไซน์แบบ Flat Design, Big Picture, Parallax และ Scrolling-sensitive Content เข้าไว้ด้วยกัน

Flat Design

อันนี้ไม่มีอะไรมาก ตามสมัยนิยมที่นำเทรนด์โดย Microsoft ก็พยายามจะลดการไล่สีลงในหลายๆ จุดที่เป็นไปได้ แต่ด้วยความที่คิวบิกฯ ยังคงต้องการดีไซน์ที่ดูหวือหวามีมิติอยู่ การจะเปลี่ยนให้แบน 100% คงจะไม่เวิร์ค เพราะฉะนั้นในหลายๆ จุดก็จะยังมีการไล่สีอยู่ (เช่นพื้นหลัง หรือแบบอักษรหัวเรื่อง)

Big Picture

ด้วยความที่แบรนด์ของคิวบิกครีเอทีฟเราขายในเรื่องของความสนุกซึ่งเป็นอารมณ์ รวมกับจุดเด่นของเราที่มีรูปที่ถ่ายดีๆ สวยๆ ของเราเองอยู่มากพอสมควร แนวคิดการดีไซน์ที่จะดึงจุดเด่นของรูปพวกนี้ออกมาให้เห็นชัดๆ เลยน่าจะยิ่งสามารถทำให้เว็บสื่ออารมณ์ได้ดีมากขึ้น

จริงๆ แนวคิด Big Picture ของคิวบิกครีเอทีฟเริ่มต้นอันแรกกับธีมเว็บไซต์ของ Paduppa Studio (เป็นธีมสำเร็จรูป ผู้เขียนไม่ได้ออกแบบเอง) หลังจากนั้นก็เริ่มมาใส่ในดีไซน์ของเว็บคิวบิกฯ ยุคที่ 5 (เริ่มประมาณปลายปี 2012 พร้อมๆ กับการเริ่มทำ Responsive Design กับการรองรับ Retina Display) ตัวอย่างที่เห็นชัดคือหน้าเกี่ยวกับคิวบิกครีเอทีฟ ซึ่งการใช้รูปใหญ่ๆ ยังเป็นดีไซน์ที่ง่ายกับการทำเว็บ Responsive และรองรับ Retina Display

ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลถึงการใช้พื้นที่เต็มหน้าจอโดยไม่มีการเว้นขอบซ้ายขวาเหมือนเว็บของคิวบิกครีเอทีฟในยุคก่อนๆ การไม่มีขอบจะทำให้การดูเว็บในอุปกรณ์จอแคบดูดีขึ้น (การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นตั้งแต่เว็บ Cubic Thanks Party 2013)

Screen Shot 2013-11-21 at 22.03.09

Parallax

สุดท้าย คือเรื่องของการใช้อนิเมชันแบบ Parallax ตามสมัยนิยม ซึ่งเว็บแรกที่สะดุดตาคือเว็บของ Flickr และในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการใช้ดีไซน์ในลักษณะนี้เต็มไปหมด (เช่นเว็บ Apple ในช่วง Q4 2013)

สำหรับเว็บของ Cubic Staff Program อันนี้ จะมี Scrolling Parallax ที่รูปใหญ่ๆ ที่แทรกระหว่างเนื้อหาเป็นพักๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้พวก Parallax ก็มีไลบรารีสำเร็จรูปที่ใช้ได้เต็มไปหมด แต่เนื่องจากโดยส่วนตัวเป็นพวกขอบเขียนโปรแกรมแบบฮาร์ดโค้ด และดูหนังโป๊แบบฮาร์ดคอร์ เลยเขียนเองแม่งแม่ของคุณเสียเลย

วิธีการก็คือว่า เราจะแบ่งทั้งเพจนี้เป็นช่วงต่างๆ โดยแต่ละช่วงจะปรับขนาดตามหน้าต่างที่ดู แต่ไม่น้อยกว่า 800px ต่อช่วง และจะมีทั้งแบบเต็มจอ หรือครึ่งจอ โดยเราจะนับระยะสำหรับครึ่งจอเป็น 1 หน่วย และเต็มจอเป็น 2 หน่วย

หลังจากนั้นในบรรดา <div> ของแต่ละช่วงทั้งหมด เราจะกำหนด attribute พิเศษไว้ ตั้งชื่อว่า px-length โดยถ้า <div> ไหนเราอยากให้แสดงเต็มจอ ก็ตั้งเป็น px-length=”2″ ส่วนอันไหนเราอยากให้เป็นครึ่งจอก็ตั้งเป็น px-length=”1″ ซึ่งตอนโหลดหน้าครั้งแรก หรือเมื่อมีการปรับขนาดหน้าจอ Javascript ก็จะใช้ค่านี้เพื่อกำหนดความสูงของ <div> แต่ละตัวใหม่

ต่อมาในส่วนของ Parallax เนื่องจากเราต้องให้เอฟเฟคแสดงผลเมื่อผู้ใช้เลื่อนหน้าจอมาถึงแล้วเท่านั้น เราจะรู้ว่าผู้ใช้เลื่อนมาถึงแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ว่า <div> ดังกล่าวอยู่ที่ตำแหน่งเท่าไหร่ของทั้งเพจ แต่เนื่องจากเรารู้ว่า <div> ทั้งหมดแต่ละอันมีค่า px-length เท่าไหร่บ้าง รวมกับขนาดความสูงหน้าจอ เราจึงสามารถคำนวณตำแหน่งของตัวเองได้ไปในคราวเดียวกัน แล้วก็เก็บค่านี้ไว้ที่ px-start และ px-stop เป็นระยะที่เราต้องการให้เริ่มมีเอฟเฟค Parallax และหยุดทำเมื่อใด

ต่อมาการทำให้ภาพเลื่อนอยู่ในกรอบ ก็เริ่มจากการมี <div> ครอบด้านนอกที่ตั้งสไตล์ overflow: hidden; ไว้ ส่วน <div> ข้างในก็แสดงภาพ โดยใช้สไตล์ transform: translateY(y); ในการเลื่อน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า

เพื่อให้เอฟเฟคเนียนยิ่งขึ้น ต้องเพิ่มโค้ดที่หลอกให้เบราวเซอร์เปิดการใช้งาน Hardware Acceleration โดยเติม transform: translate3d(0, 0, 0); เข้าไปอีกที

ส่วนป้ายชื่อที่มีการเลื่อนที่แตกต่างกัน ก็ใช้วิธีเดียวกันกับภาพพื้นหลัง แต่ตั้งให้ป้ายชื่อแต่ละชิ้นมีอัตราส่วนในการเคลื่อนที่ตามการเลื่อนจอที่แตกต่างกัน โดยตั้งเป็น attribute ที่มีชื่อว่า px-ratio เป็นค่าไว้สำหรับให้ Javascript นำไปใช้คำนวณ

Scrolling-sensitive Content

สุดท้ายอันนี้คือการทำให้เนื้อหามีอนิเมชันที่สอดคล้องกับการเลื่อนจอของผู้ใช้ (เช่นป้ายชื่อเลื่อนเข้ามาเมื่อผู้ใช้เลื่อนหน้าจอมาถึงจุดนั้น) ซึ่งก็ใช้วิธีเดียวกันกับด้านบนในการหาตำแหน่งค่า px-start และ px-stop แล้วจึงใช้ CSS Transition / CSS Animation เพื่อทำอนิเมชันต่างๆ

Screen Shot 2013-11-21 at 21.59.46

Fallback

สำหรับในกรณีที่ผู้ใช้ไม่มี Javascript หรือเบราวเซอร์ไม่รองรับ CSS3 เราก็ให้แสดงภาพแต่แรกไปเลยดื้อๆ โดยใช้วิธีง่ายๆ คือให้แสดงอนิเมชันเฉพาะเบราวเซอร์ที่เป็น WebKit แล้วค่า CSS ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำเอฟเฟคให้ขึ้นต้นด้วย -webkit- ให้หมด แม้ว่าจะเป็นค่าที่ CSS เก่าๆ มีก็ตาม (เช่นใช้ -webkit-opacity แทน opacity เฉยๆ)

วิธีนี้จริงๆ มักง่ายไปหน่อย แต่ไม่ใช่ปัญหามากนักเพราะเดี๋ยวนี้ส่วนมากก็ใช้ WebKit เยอะแล้ว และการไม่ใช้ WebKit ก็ไม่ได้ทำให้ไม่ได้รับสารใดๆ ในหน้าเว็บนี้น้อยลง

จะมีปัญหาอีกเล็กน้อยที่ควรจะแก้แต่ขี้เกียจแก้ คือขนาดตัวอักษรที่จะเล็กมากในอุปกรณ์พกพา เด็กๆ ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะจ๊ะ

ซึ่งแนวทางการดีไซน์นี้คงจะมีให้เห็นในเว็บไซต์ของคิวบิกครีเอทีฟในช่วงปีสองปีนี้แน่ๆ เป็นอย่างน้อย (และประสิทธิภาพควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์) นอกจากนี้เว็บใหญ่ถัดไป (Cubic Creative Camp 10) ก็มีการดีไซน์ใหม่ที่จะเริ่มใช้ด้วย แต่ยังขออุบไว้ก่อนให้รอลุ้นกันเล่นๆ

และเนื่องจากว่าเว็บนี้จะต้องมีการใช้ Javascript เยอะมาก โพสท์นี้จึงมีหัวเรื่องว่า Javascript ส่วน Circumcision ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

เย่!

Google+ or Google-?

ก็เป็นที่ฮือฮาอยู่พอสมควรในช่วงนี้ สำหรับข่าว Google Plus (หากใครยังไม่ทราบ ก็ขอสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเว็บเครือข่ายสังคมของทาง Google ที่มีเป้าหมายลึกๆ ที่จะตี Facebook ให้ได้)

จุดเด่นที่สำคัญที่สุดที่ Google Plus พยายามนำเสนอมา (และคิดว่าเป็นจุดที่เหนือกว่า Facebook) คงเป็นเรื่องของ Circles หรือการจัดการเพื่อนของเราออกเป็นวงต่างๆ และทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้นว่าจะแชร์อะไรให้เพื่อนวงไหน

ถ้าให้พูดตามตรง ผมเองไม่ค่อยมีความเห็นที่แน่ชัดกับ Google Plus มากกว่าจะรุ่งหรือจะร่วง (ต่างกับตอนที่เห็น Google Wave หรือ Google Buzz ออกมาทีแรกแล้วค่อนข้างมั่นใจว่าดับแน่ๆ)

แต่ตอนนี้ถ้าให้แสดงความคิดเห็นสั้นๆ เร็วๆ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการที่จะทำให้ Google Plus ไปรอดได้

ประการแรก Facebook ต้องพลาดท่า ซึ่งถ้าอิงจากกรณีของ Hi5 นั่นคือเมื่อถึงจุดที่ Facebook ไม่สามารถควบคุม user-generated content คอนเทนต์ที่เกิดจากผู้ใช้หรือ third-party content คอนเทนต์จากบุคคลที่สาม (เช่นแอปหรือเกมต่างๆ) ให้อยู่กับร่องกับรอยจนไม่กระทบกับประสบการณ์ใช้งานโดยรวมได้ ผมคิดว่า Facebook เคยเกือบพลาดพลั้งแล้วครั้งหนึ่งช่วงที่มี Wall Post จากเกมเยอะๆ แต่ถือว่า Facebook ก็จัดการได้ดีทีเดียว ในอนาคตสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคงเป็นเรื่องที่ Facebook จะดูแลและควบคุมการใช้ฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อการตลาดของเหล่านักธุรกิจ (เช่นแท็กโฆษณา หรือการจัดแคมเปญต่างๆ) ได้อย่างไร (ซึ่งล่าสุดก็มีการออกแนวทางปฏิบัติมาแล้ว)

ประการที่สองที่ค่อนข้างสำคัญ และเป็นจุดอ่อนของ Google มาตลอด คือการทำให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจระบบ Circles (ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ง่าย)

ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของ Google มีฟีเจอร์ที่ดีและโดดเด่นกว่าคู่แข่งอยู่เยอะ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของ Google คือความพยายามที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งจริงๆ แล้วดี แต่ความเข้าใจยากเกินไปสำหรับผู้ใช้ทั่วไป (เช่นเป็นรายแรกๆ ที่พยายามจะทำอีเมลเป็น conversation รวมกลุ่มตามการสนทนาซึ่งจะขัดกับความเข้าใจเดิมของผู้ใช้ที่มีต่ออีเมลปกติ หรือการเก็บเอกสารแบบ Google Docs ที่ค่อนข้างขัดกับความเข้าใจในเรื่องของระบบไฟล์ที่ผู้ใช้เดิมมี ไปจนถึง Google Wave เองที่ล้ำจนไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไร) ดังนั้นที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงมักจะเป็นที่นิยมแต่ในกลุ่ม power user ผู้ใช้ระดับสูงที่มีความชำนาญพอจะเข้าใจอะไรต่อมิอะไรของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้

อย่างหนึ่งที่เราสังเกตได้จาก Google Plus คือการพยายามออกแบบในเรื่องของสิทธิ์การเข้าถึงของเนื้อหาต่างๆ ที่ผู้ใช้โพสท์เข้าไปตั้งแต่เริ่มต้น (ซึ่ง Circles เป็นผลจากความพยายามอันนั้น) ปัญหาคือ ผมคิดว่า Circles นั้นเข้าใจยากกว่าการบอกว่าเป็นเพื่อนกัน (บน Facebook) หรือบอกว่าใครตามอ่านของใคร (ใน Twitter) อยู่มาก และค่อนข้างชวนสับสนว่าเราควรจะจัดอะไรไปอยู่ที่ไหนอย่างไร และผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร แม้แต่ผมเองในช่วงแรกๆ ก็เกิดอาการ “ชะงัก” อยู่ไม่น้อยว่าจะจัดอะไรอย่างไรดี และในระยะยาวผมคิดว่าการจัดการกลุ่มจำนวนมากเหล่านี้ รวมถึงการเลือกว่าจะแชร์อะไรให้ใครไม่แชร์ให้ใครคงจะวุ่นวายน่าดู อีกทั้งการจัดการความทับซ้อนของความสัมพันธ์ (เช่นบางคนอาจจะเป็นทั้งเพื่อนที่โรงเรียน และเพื่อนที่ทำงาน) บางทีเราจัดซ้อนไปซ้อนมาก็ค่อนข้างชวนให้งง และยังไม่เห็นวิธีง่ายๆ ที่จะจัดการรายชื่อเหล่านี้ในอนาคต ตรงนี้ Google คงต้องทำการบ้านอย่างมากว่าอินเตอร์เฟซจะเป็นอย่างไรให้เข้าถึงผู้ใช้ทั่วไปให้ได้มากที่สุด

แต่ถ้าให้เลือกตอนนี้ ผมคงต้องบอกว่าขอลงเดิมพันไว้กับ Facebook ก่อน ทั้งในเรื่องของฐานผู้ใช้ และพันธมิตรต่างๆ รอบตัวที่ทำได้ไว้ค่อนข้างดีในเวลาที่ผ่านมา

Raw Law

ตอนนี้เรื่องหนึ่งที่คงเป็นกระแสในช่วงนี้ นอกจากเรื่องคนยี่สิบกว่าคนวิ่งไล่ลูกกลมๆ ในสนาม 90+ นาทีแล้ว ก็คงเป็นเรื่องร่าง พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่หลายคนกำลังมองว่ามันถูก “เร่ง” ทั้งๆ ที่ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่อีกมากมาย จนกลายเป็นกระแสให้ “หยุด” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ก่อน

จริงๆ แล้วให้พูดตามตรง ผมก็ไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้มากพอที่จะมาถกมาเถียงกับใครได้หรอกนะครับ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลที่ผมได้อ่านจากสรุปประเด็นนี้แล้ว ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นเรื่องความชัดเจนของภาษา การนิยาม และการตีความต่างๆ มากกว่าเจตนารมย์ของมัน

หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนกับเอาคนไม่รู้เรื่องเทคนิก มาออกกฎหมายเชิงเทคนิกน่ะแหละครับ

ผมก็คงไม่สามารถพูดได้แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับใครเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า (เลยไม่สามารถจะกล่าวหาใครในประเด็นทางการเมืองได้) และถ้าให้พูดตามตรง ก็ไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยหรือคัดค้านกับร่างกฎหมายฉบับนี้เสียสักเท่าไหร่

แต่ที่พอจะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองบ้างในเรื่องราวนี้ นอกจากเรื่องที่ว่าเอาคนไม่รู้เทคนิกมาออกกฎหมายเชิงเทคนิกแล้ว ก็มีอีกสองสามเรื่อง

เรื่องแรกคือเรื่องที่มีการถกเถียงกันในประเด็นของบทลงโทษเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. ฉบับอื่นๆ เช่นเรื่องยาเสพย์ติด ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากประเด็นหนึ่งว่า การที่กฎหมายจะระบุว่าความผิดอะไรควรจำคุกนานเท่าไร หรือปรับมากแค่ไหน เราใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดตัวเลขนั้นๆ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่าการใช้ความรู้สึกเข้าใส่ และเปรียบเทียบให้มันมากกว่าหรือน้อยกว่ากับความผิดอื่นๆ ที่เทียบเคียงอยู่ในมิติเดียวกัน

ทีนี้ปัญหาของมันก็คือ ถ้าเราจะเปรียบเทียบอะไรที่มันอยู่ในมิติเดียวกันคงไม่ยากเท่าไหร่ เช่นการเปรียบเทียบโทษของผู้ดูแลระบบกับผู้ใช้ มันก็อาจจะยังพอพูดง่ายว่าใครควรจะผิดมากผิดน้อยกว่าใคร แต่การที่จะเอาความผิดทางคอมพิวเตอร์ไปเทียบกับความผิดทางยาเสพติด อันนี้มันคงเริ่มคิดยากเสียสักหน่อย เหมือนกับอยู่ๆ ถ้าผมถามว่าเงินเดือนของวิศวกรคุมไซต์ก่อสร้างกับเงินเดือนของครีเอทีฟโฆษณาใครควรจะได้เงินเยอะกว่ากัน คนที่จะตอบได้ชัดเจนก็คงต้องเป็นคนที่ expertise มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั้งสองด้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหาก็คือ มันคงหาได้ยากมาก

ผมจึงไม่รู้สึกว่าประเด็นของบทลงโทษทีหนักหรือเบาไปเมื่อเทียบกับกฎหมายในระบบอื่นๆ ที่อาจเทียบเคียงได้ยากนั้นเป็นเหตุผลที่ดีที่จะใช้ในการบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่พร้อม เพราะมันไม่มีทางจะเถียงกันได้จบอยู่แล้ว การที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้แรงไป มันอาจจะเกิดจากการที่ฉบับนั้นเบาไปก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสังเกตต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาจะไร้ประโยชน์ซะทีเดียวนะครับ มันก็ควรจะถูกนำไปใช้เพื่อปรับสมดุลของบทลงโทษในภาพรวม เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่น่าจะตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจน คือคนที่มีความเชี่ยวชาญและเห็นภาพของผลกระทบของความผิดนั้นๆ ต่อสังคมได้อย่างชัดเจนจริงๆ ทั้งสองกฎหมายที่นำมาเปรียบเทียบ ดังนั้นเรื่องนี้มันภาพใหญ่กว่าการจะเอามาปรักปรำกฎหมายฉบับเดียว

ย้ำว่าไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยที่ควรจะผ่านร่างฯ ฉบับนี้นะครับ แต่ผมคิดว่าการจะบอกว่ามันไม่เหมาะสมเพราะยังมีความกำกวม มันดูสมเหตุสมผลมากกว่าการไปเปรียบเทียบบทลงโทษกับกฎหมายยาเสพติดอยู่มาก

เรื่องที่สอง ผมคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้รู้สึกจริงๆ ว่า อำนาจนิติบัญญัติไม่เคยมาจากประชาชนจริงๆ สักเท่าไหร่ แม้ว่าประชาชนจะเป็นคนเลือกผู้แทนเข้าไปก็ตาม แต่มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ไปรับรู้ในรายละเอียดของกฎหมาย เพราะหากพูดตามตรง ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสได้มานั่งศึกษารายละเอียดของร่างกฎหมายใหม่นี้ และมีความคิดเห็นจนจะมาเต้นแร้งเต้นกากันนี้คงมีอยู่ไม่กี่คน จริงๆ เรื่องนี้พูดไปก็อาจจะเป็นอคติส่วนตัวเพราะไม่เคยจะชื่นชอบประชาธิปไตยในระบอบสภาฯ สักเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ากันเสียสักเท่าไหร่ การที่มีคนตื่นตัวมาเต้นแร้งเต้นกาแบบนี้เมื่อกฎหมายกำลังจะริดรอนผลประโยชน์ส่วนตน โดยที่แยกประเด็นการเรียกร้องได้อย่างชัดเจน ไม่เอาสีเอาฝ่ายมาขวางกันมั่วซั่ว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อยครับ และก็คงหวังไว้ลึกๆ ว่าประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับการจัดสรรผลประโยชน์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ไม่ใช่เป็นแค่เบี้ยที่ถูกหลอกด้วยแรงศรัทธากับแม่สีต่างๆ ให้ไปในทิศโน้นทางนี้แบบมิติเดียวดิบๆ