กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม

กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม

เปลี่ยนโหมดท่องเที่ยวมาเป็นเรื่องการเมืองสักนิด จริงๆ ปกติจะเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรที่เป็นสาธารณะมากๆ เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนอำนาจนิยม ทนไม่ค่อยได้กับความเห็นต่าง แต่ครั้งนี้จะขอพลีชีพสักครั้ง เพื่อแสดงทรรศนะว่าทำไมเราไม่ควรโหวตอย่างมียุทธศาสตร์ และเชิญชวนให้ใครที่อยากเลือกพรรคก้าวไกลอยู่แล้วให้เลือกไปเลย

Continue reading “กาก้าวไกล พรรคเพื่อไทยไม่เหมือนเดิม”

Political Depression

วันนี้รู้สึกหมองๆ เป็นพิเศษ จะทำงานทำการอะไรก็ไม่มีกะจิตกะใจสักเท่าไหร่

จะว่าไปผมก็ออกจะเป็นคนที่ sensitive อ่อนไหวเกินไปเสียอยู่เหมือนกัน โดยส่วนตัวผมเองจะเป็นคนไม่ค่อยชอบความขัดแย้ง (จะว่าเป็นพวกโลกสวยตามนิยามสลิ่มของ คำ ผกา ก็ไม่ปาน ถึงชีวิตจะมีเรื่องขัดแย้งกับชาวบ้านเยอะก็เถอะ)

เพราะงั้น เวลาบรรยากาศบ้านเมืองร้อนๆ ขึ้นมาทีไร ก็จะรู้สึกซึมเศร้า เบื่อๆ เซ็งๆ ไปด้วยเสียทุกที อย่างตอนที่เสื้อเหลืองปิดสนามบิน หรือเสื้อแดงยึดราชประสงค์ ก็จะรู้สึกซังกะตายไม่อยากลุกจากเตียงเป็นสัปดาห์ๆ

จริงๆ ช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มกรุ่นๆ มาสักพักแล้วตั้งแต่ดราม่าโรเล็กซ์ของเลดี้กาก้า ประมาณว่าตื่นมาเปิดทวิตเตอร์ก็เจอแต่ทวีท (และรีทวีท) ด่าคนด่ากาก้า ถึงด้วย logic ตรรกะเราจะรู้สึกว่าเข้าใจได้ที่คนจะแสดงความคิดเห็นออกมาแบบนั้น แต่พอเห็นเยอะๆ มันก็ทำให้ใจขุ่นๆ แปลกๆ (ย้ำว่าโดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับการแสดงความคิดเห็นนะครับ ไม่ได้รู้สึกแย่อะไรกับคนที่แสดงความคิดเห็น แค่ว่าเห็นอะไรแบบนี้เยอะๆ มันทำให้ตัวเองรู้สึกหม่นๆ ไปมากกว่า)

พอมาวันนี้ตั้งแต่เช้าเรื่องประชาไท มาจนถึงรังสิมาขอแชร์นะคะ ก็เลยยิ่งฉุดอารมณ์ให้ down ตกลงไปอีก (ย้ำเหมือนเมื่อกี๊อีกทีว่าเคารพและให้เกียรติการแสดงความคิดเห็น แค่เห็นอะไรแบบนี้เยอะๆ แล้วใจหม่นไปเอง)

จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะโทษใครเท่าไหร่ เพราะดูจาก form ท่าที่แล้วก็เหมือนจะเป็นปัญหาที่ตัวเองมากกว่า จนบางทีก็เซ็งๆ ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้เหมือนกัน (แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจซะ)

เฮ้อ…

Reality Distortion Field

วลี Reality Distortion Field ถ้าใครได้อ่านชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ ฉบับทางการก็คงจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว (หากใครงง ลองอ่านได้บน Wikipedia) พอดีวันนี้มีเหตุการณ์บางอย่างที่สะกิดใจผมขึ้นมาเล็กน้อย นั่นคือเรื่องประกาศบนเฟซบุ๊กของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผมขอคัดลอกมาดังนี้

ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมเองไม่ได้มีทัศนคติที่ชัดเจนเอนเอียงไปด้านใดเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีมาตรา 112 รวมถึงการตัดสินใจของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ แต่ความคิดเห็นที่ผมมี และที่จะกล่าวถึงในบล็อกนี้ คือการสื่อสารของคุณสมคิดที่ใช้ในกรณีนี้ โดยอนุมานว่า ยังไงก็จะไม่ให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม

โดยปกติแล้ว หากเราต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง เพื่อต้องการความร่วมมือ หรือโน้มน้าวใจผู้รับสารแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องตีออกมาให้ชัดว่า ความต้องการของผู้รับสารคืออะไร มีสิ่งใดที่เขาต้องการ และสิ่งใดคือสิ่งที่ขัดต่อจุดยืน ที่เขาไม่มีวันยอมรับ จนผมมีวลีเด็ดที่ผมจะพูดเสมอๆ กับน้องๆ เวลามีใครมาปรึกษาเรื่องทำนองนี้ว่า “อย่าอ้างเหตุผลที่จุดยืนของเขาไม่มีวันยอมรับ แม้ว่าเราจะคิดว่ามันมีเหตุผลก็ตาม” (เฉพาะกรณีที่เรายังต้องการให้เขาให้ความร่วมมือเราอยู่นะครับ ถ้ากรณีที่เราเองก็คงไม่ได้ต้องการสมัครสมานสามัคคีอะไรด้วยแล้ว กรณีนี้คงไม่จำเป็น)

ในกรณีนี้ หากมองในมุมที่ว่าการตัดสินใจคือการไม่ให้ใช้พื้นที่แล้ว ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม หากผมมีหน้าที่ในการสื่อสาร ผมจะเลือกสื่อสารด้วยเหตุผลที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวสามารถยอมรับได้ ซึ่งข้อความที่คุณสมคิดใช้ มีประเด็นที่ขัดต่อจุดยืนของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 อยู่หลักๆ 2 ประการ

ประการแรก คือการอ้างเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ ซึ่งในมุมของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในอำนาจของประชาชน การอ้างอำนาจของรัฐ ย่อมขัดต่อความรู้สึกของคนกลุ่มนี้โดยปริยาย

ประการที่สอง คือการอ้างเหตุผลที่กลัวว่าบุคคลภายนอกจะมองว่าความคิดเห็นทางการเมืองนี้เป็นของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการทำให้คิดได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนี้ และตัดสินว่าความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่ผิด จึงไม่ควรถูกนำมาเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ผู้รับสารจะไม่ยอมรับ

ผมคิดว่าในข้อความที่คุณสมคิดใช้ เหตุผลที่อ้างได้อย่างดีที่สุด และควรหยิบยกเป็นประเด็นหลักประเด็นเดียว คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล และมนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าใจความสำคัญของประเด็นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน (ซึ่งมีความซ้อนทับกับกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 สูง) จะยิ่งเข้าใจประเด็นนี้ได้มากเป็นพิเศษ

ดังนั้น หากผมจะต้องเป็นโฆษกในกรณีลักษณะนี้ แม้ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะคืออะไรก็ตาม แล้วผมมีหน้าที่ที่ต้องทำให้ผลการสื่อสารออกมาสวยที่สุด ผมจะเลือกที่จะพูดว่า

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นในทิศทางใดก็ตาม และเชื่อมั่นในเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่แสดงถึงความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงมีความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ทางมหาวิทยาลัยจึงมีมติเพื่อขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย งดเว้นการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อการจัดกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีความเสี่ยงและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้จนกว่าสถานการณ์จะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัย ยังมีความเชื่อและเคารพในการแสดงความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวพ้นความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ในเร็ววัน

แม้ว่าข้อความดังกล่าว อาจจะไม่สามารถดับความไม่พอใจของฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ได้อย่างสนิทสักทีเดียวนัก แต่อย่างน้อย ก็จะเป็นการลดความรู้สึกไม่พอใจ รวมถึงลดเหตุผลบางอย่างที่จะเป็นจุดอ่อนที่สามารถถูกมาใช้ในการตอบโต้กลับได้ เช่นเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ เป็นต้น

ย้ำอีกครั้งว่า ผมเองก็คงไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคืออะไร และผมเองก็ไม่ได้มีความคิดเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะห้ามหรือไม่ห้ามอย่างไร แต่ความคิดเห็นนี้มีต่อการสื่อสารเป็นหลัก โดยอนุมานว่าวัตถุประสงค์หลักคือยังไงก็จะไม่ให้จัดเป็นหลัก

There’re no real truth in this world, it’s just what we decided to say.

And my very first vote goes to…

ไม่ไหวแล้ว!

ที่ผ่านมา หลายๆ คนรอบๆ ตัวผมคงจะพอทราบดีว่า ในชีวิตนี้ผมยังไม่เคยไปเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว แม้่ว่าจะมีสิทธิ์มาแล้วหลายครั้ง

สำหรับมุมมองทางการเมืองของผม แม้ว่าผมจะไม่ได้มีความเชื่อที่รุนแรงกับระบอบประชาธิปไตยมากมายนัก แต่ก็เป็นกระบวนการที่ผมยอมรับได้ ซึ่งในมุมนี้ ผมมองว่าการเลือกตั้ง คือการเลือกผู้แทนเราเพื่อไปปกป้องผลประโยชน์ของเรา หรือถ้าให้พูดกันง่ายๆ ตรงไปตรงมาก็คือ เราใช้สิทธิ์ของเราในการเลือกผู้แทนเรา ที่คิดว่าจะไปทำให้เราเกิดผลประโยชน์สูงสุด หรืออย่างน้อยที่สุดคือในขอบเขตที่ยอมรับได้

ที่ผ่านมา ผมคงต้องพูดตามตรงว่า ผมมองไม่เห็นว่าการที่ถ้าใครจะได้เป็นผู้แทนในเขตผม หรือใครจะได้เป็นรัฐบาลแล้ว จะทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนแปลง ได้ หรือว่าเสียผลประโยชน์อย่างไร ผมจึงยังไม่เคยคิดจะไปลงคะแนน และคิดว่าสามารถนำเวลาสองสามชั่วโมงตรงนั้นของชีวิต ไปทำอะไรให้กับตัวเองที่มีคุณค่ามากกว่า โดยที่แม้ว่าผลสรุปการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผมก็รู้สึกยอมรับได้ ซึ่งผมก็รู้สึกว่าการคิดแบบนี้มันแฟร์ดี (แม้ว่าบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย)

แต่ครั้งนี้ ผมรู้สึกพลาด

เพราะผมกำลังเสียหายอย่างมหาศาลกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ผมคงไม่สามารถจะชี้ชัดฟันธงได้ว่า ตกลงใครจะวางยาใครหรือเปล่า แต่ต่อให้การวางยาเกิดขึ้นจริง ยาที่สีแปร่งกลิ่นชัดและเห็นได้ทนโท่ขนาดนี้ คนที่โง่ไปแดกยาพิษนี่มันน่าด่ากว่าหลายเท่านัก

ส่วนเรื่องลูกบอล EM จากที่ผมได้พยายามหาข้อมูลจากสื่อ และผู้รู้ในสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็พบว่าการใช้งานจุลินทรีย์เพื่อวัตถุประสงค์ลักษณะนี้ก็ไม่ต่างกับการใช้ยากับคนไข้ ที่จำเป็นต้องมีการควบคุมชนิดและปริมาณให้เหมาะสมกับลักษณะน้ำและสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้การใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า แม้ว่าจะมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดผลดี แต่ก็คงไม่ต่างกับการกราดใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่เลือกที่รังแต่จะเกิดส่งผลเสียหายในภาพรวมมากกว่า ซึ่งข้อมูลทางวิชาการเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ได้ยากเกินกว่าที่ทางการจะตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว การเห็นภาพนายกรัฐมนตรีนั่งสวยในเรือแล้วโยนบอลในทีวีสิงค์โปร์ จึงเป็นเรื่องที่บัดซบยิ่งนัก

จริงๆ ผมคงไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานมายืนยันอะไรมาก ว่าถ้ารัฐบาลเป็นอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว อะไรๆ มันจะดีกว่านี้สักแค่ไหนหรืออย่างไร แต่ด้วยสภาพแบบนี้ มันก็คงไม่ต่างกับซื้อขนมยี่ห้อหนึ่งแล้วรสชาติเหมือนขี้เล็บ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ คงเป็นการเลือกซื้อขนมยี่ห้ออื่น โดยภาวนาว่ามันจะรสชาติไม่เหมือนขี้เล็บ

เพราะหลายๆ คนที่เลือกรัฐบาลนี้ ก็ใช้ตรรกะเดียวกันนี้กับรัฐบาลที่แล้วเหมือนกัน

Flood, perfect.

วันก่อนผมดู The Walking Dead (S2E01) จาก iTunes เรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงตื่นเต้นดี ซึ่งในตอนนี้ มีเรื่องราวหลักอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น คือระหว่างที่เหล่าผู้รอดชีวิตกำลังหลบหนีฝูงซอมบี้ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ Sophia เกิดถูกซอมบี้ 2 ตัววิ่งไล่ จนตกใจวิ่งหนีหายไปในป่า ในสถานการณ์นั้น Rick ซึ่งเป็นพระเอกเลยตัดสินใจวิ่งตามเข้าไปช่วยในป่า ด้วยสถานการณ์บังคับที่ Rick มีแต่ปืน การใช้ปืนอาจไม่เหมาะสมเพราะเสียงของปืนจะดึงซอมบี้มาเพิ่มอีก Rick จึงตัดสินใจให้ Sophia ซ่อนตัว แล้ว Rick จะล่อซอมบี้ทั้งสองตัวออกไป แล้วให้ Sophia รีบวิ่งหนีกลับไปยังแคมป์ โดยบอกให้ดูทิศทางโดยอ้างจากพระอาทิตย์

หลังจากที่ Rick ล่อซอมบี้ทั้งสองตัวไปได้ และเดินทางกลับแคมป์ ก็พบว่า Sophia นั้นหายตัวไป ความตึงเครียดในบรรดาผู้รอดชีวิตจึงเริ่มเกิดขึ้น เมื่อการเดินทางต้องหยุดชะงักเพื่อค้นหาตัว Sophia ในป่า และเมื่อแม่ของ Sophia เริ่มโทษ Rick ที่ปล่อยให้ Sophia หนีกลับมาเองคนเดียว

จนในฉากหนึ่งที่นางเอก (ซึ่งต้องเข้าข้าง Rick) ทนไม่ไหว เลยระเบิดอารมณ์ออกมาว่า

Honey, I can’t imagine what you’re going through. And I would do anything to stop it. But you have got to stop blaming Rick. It is in your face every time you look at him. When Sophia ran he didn’t hesitate, did he? Not for a second. I don’t know that any of us would have gone after her the way he did or made the hard decisions that he had to make or that anybody could have done it any differently. Anybody? Y’all look to him and then you blame him when he’s not perfect. If you think you can do this without him, go right ahead. Nobody is stopping you.

After all, you can’t expect anybody to be perfect.

Wednesday Child

ในประเด็นการเมืองช่วงที่ผ่านมานี้ จริงๆ แล้วมีเรื่องหนึ่งที่ออกจะขัดหูขัดตาผมอยู่พอสมควร (และก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ค่อนข้างอคติกับพวกสาย Liberal Democracy สักหน่อย)

นั่นก็คือสารพัดการแดกดันประชดประชันชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ผมเองก็คงเป็นคนที่จัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางอยู่ไม่มากก็น้อย ทุกๆ ครั้งที่ได้ยินอะไรแบบนี้ ก็จะอดหงุดหงิดไปเสียไม่ได้ วันนี้เลยจะขอโพสท์ระบายอารมณ์เสียบ้าง

ในความเป็นจริงหากมองในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าข้อครหาที่มีต่อชนชั้นกลางต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มชนชั้นกลางที่จัดตัวเองว่าก้าวข้ามความคิดเดิมของชนกรุงเทพฯ ไปแล้วนั้น) ก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล เราคือกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาในภาพรวมจริงๆ ไม่ได้เข้าใจว่าปัญหาความยากจนที่เกษตรมีเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจว่าความยากลำบากในชีวิตของกลุ่มคนรากหญ้าเป็นอย่างไร

สิ่งที่เราทำ มีแต่การชี้หน้าด่าคนที่เราเชื่อว่าคือ “คนโกงกินประเทศชาติ” และรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่วิหารแห่งวัตถุนิยมของพวกเราถูกปิด และซ้ำร้ายถูกเผาในเวลาต่อมา

คนอื่นอาจตัดสินจากมุมมองเหล่านี้ของพวกเราว่าช่างคับแคบ ซึ่งผมคงไม่ปฏิเสธ และเห็นด้วยว่าเราคงต้องปรับทัศนคติให้กว้างขึ้น ถึงจะนำพาประเทศชาติให้พ้นจากปัญหาที่มีอยู่นี้

เพียงแต่ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรม ที่เราจะกล่าวหาชนชั้นกลางว่าพวกเราผิด แค่เพียงเพราะพวกเรามีความเชื่อเช่นนี้

ชนชั้นกลางที่เติบโตในสังคมเมือง เราถูกเสี้ยมสอนให้นับถือในสิ่งที่สังคมเชื่อว่าดีงาม และชีวิตของพวกเราวุ่นวายเกินกว่าที่จะใส่ใจถึงเหตุและผลของความเชื่อเหล่านั้น

ในโลกของเรา เราถูกสอนให้แข่งขันในสนามแข่งที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด เราถูกสอนให้พึ่งพาตนเอง ให้เชื่อว่าชีวิตของพวกเราจะสำเร็จได้ถ้าเราพยายาม และทุกสิ่งที่เราหาได้คือสิ่งที่เราหาได้ด้วยตัวเอง ระบบในสนามที่เราแข่งขันอยู่ถูกออกแบบมาให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) เราจึงไม่เข้าใจเมื่อกลุ่มคนรากหญ้าต่างออกมาเรียกร้องให้คนอื่นช่วยเหลือ โดยที่ไม่คิดจะทำอะไรเอง เราไม่เข้าใจว่าสนามที่เขาแข่งขันอยู่นั้นมีความไม่ยุติธรรมอย่างไรบ้าง

เราถูกสอนมาว่าการโกงกินคือสิ่งที่ผิด ทุกคนต้องแข่งขันอย่างยุติธรรม เราเลยไม่เข้าใจเมื่อใครบางคนใช้อำนาจในทางที่ผิด และนำผลประโยชน์เข้าตัว เราตัดสินว่าเขาผิด เพราะเราไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อตนเองนั้น อาจจะมีบางส่วนที่ไปถูกใจใครในระดับอื่นๆ ที่เราเข้าไม่ถึง และมองไม่เห็น

เราเป็นเพียงกลุ่มคนที่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ และใช้ชีวิตของเราไปตามระบบสังคมที่ออกแบบไว้อย่างเข้มงวด ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว เราไม่ใช่คนที่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เราไม่ได้มีเงินตรา อำนาจบุญวาสนาบารมี หรือกำลังที่จะมาต่อสู้แย่งชิงอะไรกับใคร เราไม่ได้มีจำนวนเสียงที่นับตามจำนวนจิตวิญญาณตามระบอบที่เราเชื่อให้ทุกคนมีค่าเท่ากับหนึ่งหน่วยจนทำให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ได้

ใครมีอะไรอยากให้พวกเรารับรู้ คุณบอกมาดีๆ เราพร้อมที่จะรับฟัง

แต่อย่าโทษเรา ถ้าเราไม่เข้าใจ

เพราะเราเป็นแค่ลูกคนกลาง ที่ไม่ได้มีอำนาจพอจะทำอะไรได้ดั่งใจเหมือนพี่ใหญ่ และไม่สามารถจะงอแงเรียกร้องให้ใครเอาใจได้เหมือนน้องเล็ก

Winner takes all.

ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกทีแล้ว บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่ต่างๆ ก็ยิ่งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสักครู่นี้ผมย้อนไปอ่านบล็อก Monopoly Parliament ที่ผมเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อ NuttyGM อยู่ ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2548 พอดี นึกย้อนไปก็ใจหายเหมือนกันครับว่า เราก็ไม่ได้คิดเลยเหมือนกันว่าการเมืองไทยจะก้าวดำเนินมาถึงจุดนี้ได้ (ทีแรกจะพิมพ์คำว่าก้าว แต่คิดอีกทีมันมีความหมายในเชิงบวกไปหน่อยเลยไม่เอาดีกว่า)

ถ้าใครมาถามผมว่าผมจะเลือกเบอร์อะไร ผมก็คงตอบเหมือนเดิมอย่างที่ตอบตลอดตั้งแต่มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือไม่ไปเลือก (ตั้งแต่มีสิทธิ์มา ไม่เคยไปเลือกตั้งหรือลงประชามติสักครั้งเดียว) โดยที่จุดยืนของผมเองก็คงยังเป็นเหมือนเดิมคือ ผมไม่เชื่อในประชาธิปไตย (ไม่แน่ใจว่าผิดรัฐธรรมนูญมั้ยที่พูดแบบนี้?)

แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าอยากจะเปลี่ยนประเทศไทยไปใช้ระบอบไหนหรอกนะครับ (หรือถ้าพูดให้ถูก ต้องบอกว่าไม่ได้มีไอเดียที่ดีกว่าที่ใช้อยู่กันในปัจจุบัน) โดยส่วนตัวถึงแม้จะไม่เชื่อ แต่ก็กล้าพูดว่ายอมรับที่จะอยู่ภายใต้ระบบที่มีอยู่ปัจจุบัน

ในอดีตที่ผ่านมา ผมเองไม่เคยรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรไม่ว่าใครจะได้ขึ้นมามีอำนาจด้วยวิธีการใด เหตุหนึ่งคงเป็นเพราะมันก็ยังไม่ได้มีอะไรมากระทบกับชีวิตผมเองตรงๆ

แต่ผมเองก็เป็นคนที่ชอบคุยเรื่องการเมืองนะครับ ยิ่งในช่วงนี้ที่การเมืองร้อนแรง การพูดคุยก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้นไปด้วย จะว่าไปมันก็เหมือนถกเถียงกันเรื่องวิทยาศาสตร์นะครับ ฟังคนยกหลักฐาน ยกข้อมูลมาประชันกัน มันก็ประเทืองปัญญาเราดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

ถึงกระนั้น ก็จะมีความคิดเห็น หรือหลักฐานข้อมูลบางส่วนที่โดยส่วนตัวผมจะรู้สึกรำคาญเวลามีใครยกขึ้นมา และหากจะต้องไปเลือกสักเบอร์นึงจริงๆ คงไม่ใช้ข้อมูลหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาเลย ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างมาบางส่วน ได้แก่

  1. เรื่องรัฐบาลสั่งฆ่าประชาชน (หรือในทางกลับกัน หาว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีการปะทะ) เพราะผมคิดว่า มันไม่มีรัฐบาลโง่ที่ไหนจะสั่งฆ่าประชาชนให้ตัวเองลำบากอยู่แล้วล่ะครับ และเหตุการณ์ในครั้งนั้นผมว่ามันวุ่นวายเกินกว่าที่เราจะจับต้นชนปลายและสรุปได้ว่าใครเริ่มโจมตีใคร ต่อจะให้มีความพยายามในการสืบสวนเท่าไหร่ความจริงก็ไม่มีวันกระจ่าง การที่จะยกความผิดให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยปริยายมันจึงเป็นความคิดที่ตื้นเขินเกินไปสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ผมไม่ได้รู้สึกอะไรกับการที่มีคนตายนะครับ แต่ผมก็กล้าพูดว่าเพราะผมไม่ใช่ญาติพี่น้องกับคนเหล่านั้น ก็คงไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเท่ากับคนอื่น แต่เวลาเห็นฝ่ายนั้นเอาคนตายมาอ้าง ก็แอบหมั่นไส้ว่า ถ้าคนที่ตายไม่ใช่พวกเดียวกัน จะโวยวายอะไรขนาดนี้มั้ย ตัวเองก็กำลังเอาความตายของเค้ามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองน่ะแหละ อย่ามาอ้างอะไรให้มากเสียนักเลย
  2. ตรรกะหนังสติ๊ก ที่ใช้เป็นการประกอบเพิ่มความรู้สึกว่าฝ่ายเสื้อแดงคือฝ่ายไร้กำลังไม่มีทางสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามอ้างจากภาพสื่อที่ออกมา ประการแรกเลยคือ การที่มีภาพของหนังสติ๊ก มันไม่ได้แปลว่ามันมีหนังสติ๊กอย่างเดียว เช่นเดียวกับปริมาณภาพจากฝ่ายต่างๆ ที่พยายามเอามาถกเถียงกันว่าใครทำอะไรใครก่อนด้วยความรุนแรงเท่าไหร่ เพราะผมเองก็เป็นคนที่คลุกคลีกับการทำงานกับสื่อ (หมายถึง media ที่แปลว่า medium ไม่ใช่หมายถึง press) ทำให้ผมรู้ว่าภาพนั้นปรุงแต่งได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขให้ถือว่าเป็นการโกหก ไม่ว่าจะจากการตกแต่งสี การตัดกรอบ (crop) การเลือกถ่าย เลือกนำเสนอ เป็นต้น และข้อมูลด้านปริมาณก็ตอบได้ยาก แม้ว่าอาจจะเป็นผลทางสถิติ แต่ว่าก็ไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่ดี ดังนั้นการเชื่ออะไรจากแค่ภาพถ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ผมจึงไม่คิดว่าเหมาะที่จะนำมาพิจารณา
  3. ไม่เอาคนเผาเมือง เหมือนกันคือ การจะตัดสินว่าอีกฝ่ายไม่ดี จากการเกิดเพลิงไหม้ที่ยังไม่ทราบผู้กระทำแน่ชัด ก็ดูจะตื้นเขินเกินไป
  4. เรื่องโกงๆ เพราะยังไงการเมืองมันคือการเข้าไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว (เพียงแต่ในกระบวนการของการทำเพื่อตัวเอง เราจะทำเพื่อคนอื่นจนคนอื่นเค้ายอมรับและโอเคให้เราได้ประโยชน์หรือเปล่านั้นมันอีกเรื่อง) มันเลยน่ารำคาญเวลาจะอ้างกันเรื่องโกง เพราะจะรัฐบาลไหนมันก็โกงทั้งนั้นแหละ
  5. หุ่นเชิด จะอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ก็เถอะ ผมคิดว่ามันไม่แปลกและไม่ผิดที่จะมีคนที่มาเป็นเบื้องหน้าเพื่อทำอะไรแทนใคร คนหน้าตาดีมีสง่าราศีพูดเก่ง เป็นฝ่ายไหนก็ต้องอยากเอามาเป็นเบื้องหน้าทั้งนั้นแหละครับ เพราะยังไงโลกนี้ก็ยังมีคนตัดสินคนที่หน้าตาอยู่ อย่างผมพูดตรงๆ เลยครับว่าอยากเห็นหน้าอภิสิทธิ์บนจอทีวีมากกว่าหน้าทักษิณ เพราะมันงามตากว่า

จริงๆ บล็อกนี้ก็ล่อเป้าอยู่พอสมควร แทนที่จะมัวแต่เม้าท์อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เอาเป็นว่า ผมไปทำอะไรๆ ในเรื่องการศึกษาของผมต่อดีกว่าครับ

Piece of Cake

ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ท้องถนนจะมีสีสันและตัวเลขมากมายหนาหูหนาตามากกว่าปกติเสียสักหน่อย

ถ้าให้พูดตามตรง ตั้งแต่ผมเองมีสิทธิ์ที่จะไปเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย ผมเองไม่เคยจะไปเลือกสักครั้งเดียว (ไม่แม้แต่จะไปโหวตโน) ซึ่งถ้าให้พูดตามกระแสโลกปัจจุบัน ก็ออกจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่าดูชมสักเท่าไหร่

ที่ผ่านมา ผมเองมักจะให้เหตุผลง่ายๆ ว่าเพราะผมเองไม่ได้สนใจการเมือง และเมื่อผมไม่คิดว่าผมมีความคิดหรือทัศนคติอะไรที่ชัดเจนว่าจะไปเลือกอะไร ผมก็เลยไม่เห็นประโยชน์ว่าผมจะต้องไปเลือกอะไร และหากการเลือกนั้นทำให้ผมเสียสิทธิ์อะไรไปบ้าง แล้วผมก็ยอมรับการที่จะเสียสิทธิ์เหล่านั้น ผมก็ไม่คิดว่าใครจะมาว่าอะไรผมได้

แต่ถ้าเป็นในปัจจุบันนี้ หากถามผมว่าทำไมผมถึงไม่ไปเลือกตั้ง คำตอบของผมคงเปลี่ยนไปสักเล็กน้อย

คงต้องยอมรับเลยครับว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ผมเองสนใจการเมืองมากขึ้นอยู่พอควร และความใส่ใจนี้ ก็เปลี่ยนจากความ “ไม่สนใจการเมือง” ของผมกลายเป็น “ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร” มากกว่า

ความคิดเห็นผมอย่างหนึ่ง ผมมีความเชื่อว่าการเมืองคือเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ (ซึ่งหลายๆ สำนักก็ให้นิยามไว้แบบนี้) ดังนั้นการที่ผมหรือใครจะเข้าไปยุ่งกับการเมือง แปลว่าต้องมีผลประโยชน์อะไรที่เราต้องเข้าไปปกป้องหรือแย่งชิง ซึ่งอย่างที่ผมเคยกล่าวไปตอนบล็อก Privileged Unparity Liberally Conservative ซึ่งถ้าตอนนี้ผมไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบอะไร ผมก็เลยไม่รู้สึกว่าผมจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาทอะไรในเรื่องการเมือง

ดังนั้นตอนนี้หากถามผม ผมคิดว่าการจะมาโวยวายเรื่องคอร์รัปชันโกงกินบ้านเมืองนั้นเป็นเรื่องที่โบราณเสียนี้กระไร

เพราะหากพูดให้ถูกแล้ว (ตามความคิดในเรื่องการเมืองที่นิยามไว้ตอนต้น) ทุกคนที่เข้าไปในสภาต่างมีหน้าที่จะที่ไปปกป้องผลประโยชน์ ของกลุ่มคนเหล่านั้นทั้งหมดทั้งสิ้น

ถ้ากระบวนการประชาธิปไตย ว่าด้วยการหา collective decision การตัดสินใจของคนหมู่มาก โดยอิงว่าสิ่งที่ด้วยจำนวนคนมากกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าผลประโยชน์ของการตัดสินใจบางอย่างเป็นของคนหมู่มาก คนที่เป็นส่วนน้อยก็คงจะต้องจำทน

แต่ก็อย่างว่าครับ พูดกันด้วยแนวคิดก็เรื่องหนึ่ง แต่การออกแบบระบบจนนำไปสู่การปฏิบัติมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ผมเองก็คงไม่แม้แต่จะมีความคิดเห็นอะไรว่าควรจะทำอะไรไปในทิศทางไหนเลย

แต่ผมก็ยังรอนะครับ ที่สักวัน ผมอาจจะไปเลือกตั้ง ด้วยความรู้สึกที่ว่าคนที่ผมเลือก เขากำลังจะไปเป็นตัวแทนที่จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผมได้

ไม่ใช่ว่าเค้าเป็นคนดี เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นคนมีความสามารถแต่อย่างใด

Raw Law

ตอนนี้เรื่องหนึ่งที่คงเป็นกระแสในช่วงนี้ นอกจากเรื่องคนยี่สิบกว่าคนวิ่งไล่ลูกกลมๆ ในสนาม 90+ นาทีแล้ว ก็คงเป็นเรื่องร่าง พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ที่หลายคนกำลังมองว่ามันถูก “เร่ง” ทั้งๆ ที่ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่อีกมากมาย จนกลายเป็นกระแสให้ “หยุด” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ก่อน

จริงๆ แล้วให้พูดตามตรง ผมก็ไม่ได้ศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้มากพอที่จะมาถกมาเถียงกับใครได้หรอกนะครับ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลที่ผมได้อ่านจากสรุปประเด็นนี้แล้ว ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นเรื่องความชัดเจนของภาษา การนิยาม และการตีความต่างๆ มากกว่าเจตนารมย์ของมัน

หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนกับเอาคนไม่รู้เรื่องเทคนิก มาออกกฎหมายเชิงเทคนิกน่ะแหละครับ

ผมก็คงไม่สามารถพูดได้แน่ชัดว่ากฎหมายนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับใครเป็นกรณีพิเศษหรือเปล่า (เลยไม่สามารถจะกล่าวหาใครในประเด็นทางการเมืองได้) และถ้าให้พูดตามตรง ก็ไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยหรือคัดค้านกับร่างกฎหมายฉบับนี้เสียสักเท่าไหร่

แต่ที่พอจะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองบ้างในเรื่องราวนี้ นอกจากเรื่องที่ว่าเอาคนไม่รู้เทคนิกมาออกกฎหมายเชิงเทคนิกแล้ว ก็มีอีกสองสามเรื่อง

เรื่องแรกคือเรื่องที่มีการถกเถียงกันในประเด็นของบทลงโทษเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. ฉบับอื่นๆ เช่นเรื่องยาเสพย์ติด ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจมากประเด็นหนึ่งว่า การที่กฎหมายจะระบุว่าความผิดอะไรควรจำคุกนานเท่าไร หรือปรับมากแค่ไหน เราใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดตัวเลขนั้นๆ ซึ่งหากมองย้อนไปในอดีต ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่าการใช้ความรู้สึกเข้าใส่ และเปรียบเทียบให้มันมากกว่าหรือน้อยกว่ากับความผิดอื่นๆ ที่เทียบเคียงอยู่ในมิติเดียวกัน

ทีนี้ปัญหาของมันก็คือ ถ้าเราจะเปรียบเทียบอะไรที่มันอยู่ในมิติเดียวกันคงไม่ยากเท่าไหร่ เช่นการเปรียบเทียบโทษของผู้ดูแลระบบกับผู้ใช้ มันก็อาจจะยังพอพูดง่ายว่าใครควรจะผิดมากผิดน้อยกว่าใคร แต่การที่จะเอาความผิดทางคอมพิวเตอร์ไปเทียบกับความผิดทางยาเสพติด อันนี้มันคงเริ่มคิดยากเสียสักหน่อย เหมือนกับอยู่ๆ ถ้าผมถามว่าเงินเดือนของวิศวกรคุมไซต์ก่อสร้างกับเงินเดือนของครีเอทีฟโฆษณาใครควรจะได้เงินเยอะกว่ากัน คนที่จะตอบได้ชัดเจนก็คงต้องเป็นคนที่ expertise มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั้งสองด้านอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัญหาก็คือ มันคงหาได้ยากมาก

ผมจึงไม่รู้สึกว่าประเด็นของบทลงโทษทีหนักหรือเบาไปเมื่อเทียบกับกฎหมายในระบบอื่นๆ ที่อาจเทียบเคียงได้ยากนั้นเป็นเหตุผลที่ดีที่จะใช้ในการบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่พร้อม เพราะมันไม่มีทางจะเถียงกันได้จบอยู่แล้ว การที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้แรงไป มันอาจจะเกิดจากการที่ฉบับนั้นเบาไปก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสังเกตต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาจะไร้ประโยชน์ซะทีเดียวนะครับ มันก็ควรจะถูกนำไปใช้เพื่อปรับสมดุลของบทลงโทษในภาพรวม เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่น่าจะตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจน คือคนที่มีความเชี่ยวชาญและเห็นภาพของผลกระทบของความผิดนั้นๆ ต่อสังคมได้อย่างชัดเจนจริงๆ ทั้งสองกฎหมายที่นำมาเปรียบเทียบ ดังนั้นเรื่องนี้มันภาพใหญ่กว่าการจะเอามาปรักปรำกฎหมายฉบับเดียว

ย้ำว่าไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยที่ควรจะผ่านร่างฯ ฉบับนี้นะครับ แต่ผมคิดว่าการจะบอกว่ามันไม่เหมาะสมเพราะยังมีความกำกวม มันดูสมเหตุสมผลมากกว่าการไปเปรียบเทียบบทลงโทษกับกฎหมายยาเสพติดอยู่มาก

เรื่องที่สอง ผมคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้รู้สึกจริงๆ ว่า อำนาจนิติบัญญัติไม่เคยมาจากประชาชนจริงๆ สักเท่าไหร่ แม้ว่าประชาชนจะเป็นคนเลือกผู้แทนเข้าไปก็ตาม แต่มันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ไปรับรู้ในรายละเอียดของกฎหมาย เพราะหากพูดตามตรง ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสได้มานั่งศึกษารายละเอียดของร่างกฎหมายใหม่นี้ และมีความคิดเห็นจนจะมาเต้นแร้งเต้นกากันนี้คงมีอยู่ไม่กี่คน จริงๆ เรื่องนี้พูดไปก็อาจจะเป็นอคติส่วนตัวเพราะไม่เคยจะชื่นชอบประชาธิปไตยในระบอบสภาฯ สักเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ากันเสียสักเท่าไหร่ การที่มีคนตื่นตัวมาเต้นแร้งเต้นกาแบบนี้เมื่อกฎหมายกำลังจะริดรอนผลประโยชน์ส่วนตน โดยที่แยกประเด็นการเรียกร้องได้อย่างชัดเจน ไม่เอาสีเอาฝ่ายมาขวางกันมั่วซั่ว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อยครับ และก็คงหวังไว้ลึกๆ ว่าประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมกับการจัดสรรผลประโยชน์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ไม่ใช่เป็นแค่เบี้ยที่ถูกหลอกด้วยแรงศรัทธากับแม่สีต่างๆ ให้ไปในทิศโน้นทางนี้แบบมิติเดียวดิบๆ

Privileged Unparity Liberally Conservative

ผ่านไปอีกครั้งสำหรับเทศกาล April Fools ที่ก็ยังคงมีการเล่นมุขตลกมากมายจากทั่วสารทิศ อันหนึ่งที่ดูจะฮิตที่สุดในปีนี้คงจะเป็นการตั้งความสัมพันธ์บน Facebook แต่นอกจากนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่พอจะผมพอจะสังเกตได้ คือการเล่นมุขตลกล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ ที่คิดว่ามาตรา 112 คงไม่มีผลอะไรเพราะคงไม่ได้ระบุถึงวันที่ 1 เมษายนไว้ด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ดูวีดีโอของ RSA Animate ที่มีชื่อว่า The Internet Society : Empowering or Censoring Citizens? แล้วก็มีประเด็นหนึ่งที่ผมแอบฉุกสังเกตขึ้นมาได้ว่า ผมเองถือว่าเป็นคนที่เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาก และดูออกว่าจะเป็นคนทางสายนี้เสียด้วยซ้ำ ซึ่งในทางกลับกัน ผมกลับไม่ค่อยจะเชื่อในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  หรือแม้แต่เป็นประชาธิปไตยได้เหมือนกับเทรนด์ที่อาจพูดได้ว่าเป็น “สมัยใหม่” เสียสักเท่าไหร่

ที่ผ่านมา ถ้าพูดกันตามตรง ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดเห็นที่รุนแรงหรือมีจุดยืนที่หนักแน่นอะไรทางการเมืองเสียเท่าไหร่ ผมยังไม่กล้าพูดเสียด้วยซ้ำว่าผมเป็นคนที่เชื่อในประชาธิปไตย เพียงแต่ตัวเองก็ไม่ได้มีไอเดียอะไรที่ดีกว่านี้เลยไม่คิดจะออกความเห็นอะไร อย่างหนึ่งคงเพราะว่าผมสนใจในเรื่องอื่นอย่างเรื่องการศึกษาเสียมากกว่า และอีกอย่างคงเป็นเพราะผมไม่เคยต้องเสียประโยชน์อะไรจนต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจและต้องมาร้องแร่แห่กระเชิง

ถึงอย่างนั้น ผมก็เชื่อในความคิดพื้นฐานของการเมืองที่ว่าด้วยการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมนะครับ ในทางเดียวกัน ผมจึงไม่เคยรู้สึกอะไรหากใครก็ตามจะมาเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว ผมคิดว่านั่นเป็นสัจธรรมที่สิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกนี้ต้องต่อสู้เพื่อตัวเองอยู่แล้ว อันนี้คงสะท้อนได้ง่ายๆ จากประเทศสิงค์โปร์ที่จริงๆ แล้วรัฐบาลออกจะมีความเป็นเผด็จการ มีการควบคุมข่าวสารต่างๆ ที่ยิ่งกว่าประเทศไทยเสียอีก แต่แค่เพราะเขาสามารถทำให้ทุกคนมีความสุข อยู่ดีกินดีได้ เลยไม่มีใครที่คิดจะมาวุ่นวายอะไรเสียเท่าไหร่

ดังนั้นหากมาถึงประเด็นของระบอบกษัตริย์แล้ว ผมก็คงต้องพูดตรงๆ ว่าสำหรับตัวผมเอง การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของสถาบันฯ คงไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของผมมากมายจนรู้สึกว่าต้องหันเหไปทางไหน ผมเองก็คงไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็น royalist รอยัลลิสต์เพราะก็ไม่ได้จงรักภักดีอะไรขนาดนั้น อาจด้วยเพราะเกิดมาในยุคที่ไม่ได้เห็นคุณประโยชน์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันกว่าการเป็นสัญลักษณ์ทางการกุศลต่างๆ อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ถึงกระนั้น ผมก็คงไม่ได้รู้สึก convinced ทำให้เชื่อว่าการมีอยู่ของสถาบันเป็นพิษเป็นภัยอะไร ซึ่งเหตุผลคงมีดังต่อไปนี้

ประการแรก ผมมีคติหนึ่งที่คิดอยู่เสมอคือ “Life is unfair.” และผมเลยไม่เคยรู้สึกมีปัญหาว่าตนเองจะเกิดมามีมากหรือมีน้อยกว่าใครในประเด็นไหน เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ที่ทุกคนจะอยู่กันได้แบบเท่ากันอย่างในอุดมคติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็อยู่กับแบบที่ผู้มีอำนาจมากกว่ากำหนดชะตาผู้มีน้อยกว่าอยู่แล้ว ถ้าเราจะบอกว่าการที่เราเกิดมาถูกคนอื่นกดขี่นั้นเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่เราเองก็ยังกดขี่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ตั้งแต่หมูหมากาไก่ไปถึงแบคทีเรียและไวรัสเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ make sense สมเหตุสมผลเสียเลยที่เราจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่คิดจะยุติธรรมกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ด้อยกว่าเรา

แต่ประเด็นนี้อย่างหนึ่งที่ผมต้องพูดให้ชัดเจนคือ ผมไม่มีปัญหาที่ใครจะต่อสู้เพื่อตนเองอย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว แต่นั้นก็คือการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นการที่จะเอาอุดมการณ์มาอ้างเลยดูเป็นเรื่องที่ดูไม่ค่อยเกี่ยวกันในสายตาผมเสียมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ยังเคารพหากใครจะมีอุดมการณ์ส่วนตัวในเรื่องใดๆ เพราะผมเองก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ประการที่สอง ผมเองรู้สึกว่าผมไม่มีบรรทัดฐานอะไรที่จะไปตัดสินว่าการที่คนๆ หนึ่งจะเกิดมาได้อำนาจเบ็ดเสร็จในขอบเขตหนึ่งนั้นเป็นเรื่องผิดอะไร ทุกวันนี้ผมเกิดมาก็บังเอิญได้รับสิทธิ์บางอย่างพร้อมๆ กับการอยู่ใต้การถูกควบคุมสิทธิ์อยู่แล้ว ผมอาจจะเกิดมามีบ้านเป็นของตัวเอง หรือเกิดมาเช่าบ้านเขาอยู่ ผมเลยรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่ใครบางคนจะได้ถือครองอะไรบางอย่างมาแบบไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว ผมเลยนึกไม่ออกว่าถ้าผมบังเอิญมีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินส่วนหนึ่งและกำหนดชะตาชีวิตของต้นไม้ หรือไปไล่หมาแมวที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้ ทำไมการที่คนๆ นึงที่บังเอิญมีสิทธิ์พิเศษบางอย่างในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เขาบังเอิญเกิดมาได้สิทธิ์นั้นจะเป็นสิ่งที่ผิด

เช่นเดียวกัน ผมเองก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ถ้าเราเป็นหมาเป็นแมวที่ถูกไล่ที่จะต่อสู้เพื่อเอาผลประโยชน์เราคืนมา เพียงแต่มันก็ต่างกันอยู่มากกับการที่เราจะไปตัดสินว่าการที่คนๆ นั้นบังเอิญมีสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด และทำเป็นอ้างนู้นอ้างนี่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราก็กำลังสู้เพื่อตัวเองเท่านั้น

ประการสุดท้าย ผมคงต้องอ้างถึงประโยคเด็ดของ Peter Parker ในเรื่อง Spiderman ว่า “With great power comes with great responsibility. This is my gift, my curse.” เรื่องนึงที่ผมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผมเองเกิดมาอย่าง privileged มีกินมีใช้เหนือกว่าคนอื่นอยู่พอสมควร ยิ่งในระหว่างนั้นผมมีโอกาสได้ทำงานในจุดที่มีอำนาจบางอย่างได้โตกว่าตัวผมเองในความเป็นจริงอยู่มาก สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ การที่เรามีเงินและอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นนั้น ทำให้เราเองควบคุมชีวิตเราได้ยากขึ้นเท่านั้น อย่างหนึ่งคือคนอาจคิดไปว่าเรามีมากกว่าคนอื่น เราน่าจะสบายหรือได้อะไรถูกจิตถูกใจกว่าคนอื่น แต่จริงๆ แล้วการที่ผมมีอำนาจอยู่มาก ผมก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย และหลายๆ ครั้งหลายๆ สิ่งรอบตัวมันก็ไม่ได้ถูกจิตถูกใจอย่างที่คนอื่นคิด แต่บางทีเพราะจุดที่เราอยู่เราพูดอะไรไม่ได้ คนก็คิดไปว่าเราไม่ได้มีปัญหาอะไร พอใจ หรือเห็นด้วยกับสิ่งนั้นๆ

นอกจากนี้แล้ว คนก็จะตีตราหาค่าและสรุปตัวตนของเราจากสิ่งที่เรามี โดยอาจไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรก็ได้ เช่นอาจจะคิดไปว่าผมเองได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการมีอยู่ของคิวบิกครีเอทีฟ เพราะไม่เข้าใจว่าผมมีเงินมาจากไหน หรือถูกตีตราไปว่าผมต้องอยู่คนละฝั่งกับ KUSAC ทั้งๆ ที่ผมเคยมีปัญหาในระดับส่วนตัวแค่กับบุคคลบางคนเท่านั้น แต่ที่เหลือกลายเป็นเรื่องที่ตามมาจากตำแหน่งหน้าที่ หรืออำนาจของผมทั้งๆ ที่ตัวผมเองไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย

ผมเลยคิดว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการแยกแยะระหว่างตัวคน กับตำแหน่งหน้าที่และระบบที่มีอยู่ เราอาจไม่เห็นด้วยกับบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้ด้วยเหตุด้วยผล แต่การที่เราจะชิงชังตัวคนนั้นๆ เพราะเขาบังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่เราไม่เห็นด้วยอาจเป็นคนละเรื่องกัน ทุกวันนี้ผมเองก็ยังคาดหวังว่าเมื่อไหร่น้องๆ KUSAC ที่ไม่พอใจอะไร KUSAC จะเลิกมาบ่นกับผมด้วยความที่อนุมานไปเองว่าผมจะเป็นคนละพวกกับ KUSAC เสียสักที ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผมโคตรที่จะเข้าข้าง KUSAC เสียด้วยซ้ำ หรือเลิกเกลียดผมเพราะไม่ชอบไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คิวบิกครีเอทีฟทำ เพราะตัวผมจริงๆ กับตัวผมในฐานะของคนในคิวบิกครีเอทีฟ เป็นคนละคนกัน

ผมเลยมองเห็นว่าการต่อสู้ในเรื่องนี้ด้วยความรักตัวเองหรือพวกพ้อง มันแตกต่างกับการต่อสู้ด้วยความรู้สึกเกลียดชังตัวบุคคลหรือสถาบัน และมันก็ให้คุณค่าที่ต่างกันเสียมาก

ทุกวันนี้ คนรอบตัวผมก็มีคนที่ต่อสู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่พอสมควร หลายๆ คนผมก็เห็นว่าเป็นคนที่ต่อสู้ด้วยเหตุผลและตรรกะที่น่าชื่นชม (เช่น @chayanin) ในขณะที่หลายๆ คน ผมก็กลับรู้สึกว่าพวกเขากำลังต่อสู้โดยใช้ความชิงชังเป็นที่ตั้ง

จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ความชิงชังนี้หรือเปล่าที่เปลี่ยนพวกเขาที่แสนสดใสสนุกสนานคนเดิมที่ผมรู้จัก กลายเป็นอีกคนที่ผมหวาดกลัวไปได้