A players, B players.

เมื่อคืนเกิดเหตุการณ์ที่สะกิดใจผมอยู่พอสมควร

จริงๆ มันเริ่มจากเรื่องไม่ค่อยมีสาระที่เรานั่งเล่นเกมการ์ดอะไรกันสักอย่าง แต่เนื่องจากว่าเราคุยกันเล่นๆ ว่าอยากจะรวมหัวแกล้งคนๆ หนึ่งที่เล่นด้วย ผมเลยเสนอว่าจะจัดฉากสุ่มการ์ดเฉพาะพิเศษให้กับคนๆ นั้น โดยผมบอกทุกคนว่าเดี๋ยวพอเขาเข้ามาแล้ว ผมจะทำเป็นล้างไพ่ ให้ทุกคนดูไพ่ที่ค้างกับมือขวาของผมไว้เพราะผมจะลากไพ่ใบนั้นไว้ตลอด แล้วให้ทุกคนเลี่ยงอย่าจับใบนั้น

แต่เนื่องจากเวลานั้นที่ยังไม่ทันตกลงกันได้ชัดเจนเท่าไหร่ เป้าหมายก็เดินเข้ามาพอดี ผมก็เลยรีบยกมือขวาขึ้นกลางวงชัดๆ พร้อมพูดย้ำว่า “เอ้า จะล้างไพ่แล้วนะ” พร้อมกับเอามือขวาโปะไปบนไพ่เป้าหมายกลางวง แล้วล้างไพ่ไปมา

เรื่องราวเหมือนจะผ่านไปด้วยดี เมื่อทุกคนต่างหยิบไพ่ที่ไม่ใช่ใบนั้น และไพ่ใบนั้นก็ตกเป็นของเป้าหมายไปตามที่วางแผนกันไว้

จนกระทั่ง… Continue reading “A players, B players.”

JP/US 2014 – Day 11

วันนี้ก็มีกำหนดการที่จะไปเที่ยวเป้าหมายส่วนตัวต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของ San Francisco โดยเป้าหมายทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องขับรถไป ตอนนี้เลยเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสลองใช้บริการ Hertz 24/7

ลักษณะของ Hertz 24/7 คือการเช่ารถรายชั่วโมงแบบคิดเหมารวมน้ำมันไปเลย แล้วเราสามารถที่จะเอารถแล้วก็คืนรถเมื่อไหร่ก็ได้ด้วยตนเองเลย ไม่ต้องใช้คนมาบริการ ขั้นตอนแรกคือเราจะต้องสมัครเป็นสมาชิกเพื่อผูกบัตรเครดิตและใบขับขี่เราก่อน โดยในขั้นตอนนี้ยังจะต้องไปที่ศูนย์ Hertz ก่อน หลังจากที่เขาตรวจสอบยืนยันบัตรเครดิตและใบขับขี่เรียบร้อยแล้ว เขาจะให้แท็ก RFID แบบนี้มาเป็นของเรา

IMG_8029

หลังจากนั้นเราก็ทำการจองรถโดยเลือกสถานที่รับ/คืนรถ และเวลาที่ต้องการรับ/คืน แล้วเขาจะมีรายการให้เราเลือกว่ามีรถรุ่นไหนให้เลือกบ้าง และราคาเท่าไหร่ โดยราคาจะคิดเป็นต่อชั่วโมงโดยรวมค่าน้ำมันแล้ว ถ้าน้ำมันหมด เราสามารถใช้การ์ดในรถเติมน้ำมันได้ฟรี

หลังจากที่เราเลือกรถแล้ว พอใกล้ถึงเวลาประมาณ 15 นาทีก่อนรับรถ ก็จะมีอีเมลมาแจ้งรุ่น สี และป้ายทะเบียนของรถที่เราจอง โดยรถจะจอดอยู่ที่จุดจอด Hertz 24/7 ที่เราเลือกไว้ เราก็เอาแท็ก RFID ที่ได้มาไปแปะหน้ารถ รถก็จะเปิดล็อกให้เราเข้าไปได้ โดยกุญแจรถจะอยู่ในรถอยู่แล้ว แล้วก็สามารถขับออกไปได้ทันที หลังจากนั้นพอตอนเราจะคืนรถ ก็แค่ว่าเอารถกลับมาจอดที่ที่กำหนดไว้ แล้วเก็บของออกให้เรียบร้อย ทิ้งกุญแจรถไว้ในรถ แล้วก็เอา RFID ของเราแปะหน้ารถอีกครั้ง รถก็จะล็อก ก็เป็นอันเรียบร้อย

ในวันนี้เป้าหมายแรกที่ไปคือบ้าน Steve Jobs ที่ Palo Alto ก็ได้ไปถ่ายรูปที่หน้าบ้านสักรูปสองรูป ในจังหวะนั้นเอง ก็มีรถ BMW สีบรอนซ์ทอง เป็นผู้หญิงขับ แล้วก็มีเด็กผู้หญิงนั่งอยู่อีกคนขับเข้ามา กรี๊ด! หนีแทบไม่ทัน ดีนะไม่โดนด่า (แค่เค้าอาจจะชินแล้วมั้ง)

IMG_7854

ต่อจากนั้นเราก็ไปต่อที่ Mountain View โดยไปถ่ายรูปกับหุ่นแอนดรอยด์ แล้วก็ไปทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารไทยในดาวน์ทาวน์

IMG_7866

แล้วก็สิ่งที่ขาดไม่ได้ เราก็ต้องไปที่ Cupertino เพื่อไปถ่ายรูปกับป้าย 1 Infinite Loop และแวะ Apple Company Store ซึ่งจะเป็นร้านที่ขายของที่ระลึกเช่นเสื้อผ้า แก้ว ปากกา สมุด บลาๆ ตราแอปเปิลทั้งหลายแหล่ สุดท้ายก็โดนเสื้อไป 2 ตัว

IMG_7869

IMG_7875

ขากลับ เนื่องจากว่าเวลายังเหลืออยู่เล็กน้อย เลยตัดสินใจว่าจะขับผ่าน Stanford กินลมชมบรรยากาศ จริงๆ เกิดความระทึกครั้งนึงใน Stanford เมื่อเผลอเลี้ยวขวาแล้วชิดซ้าย คนที่ขับมาอีกคนชูนิ้วด่าด้วย แต่ถึงงั้นก็ได้เจอวิวสวยๆ ถือว่าชดเชยกันได้

IMG_7880

หลังจากนั้นก็ขับกลับมา San Francisco เพื่อเอารถมาคืน ก่อนที่จะเดินไปชมวิวดูบรรยากาศที่ Pier 39 (อารมณ์คล้ายๆ เพลินวาน + Asiatique) ก่อนที่จะเผ่นไปทานข้าวเย็นที่ China Town เพราะอยากประหยัด ก็เป็นอันสิ้นสุดการเที่ยวในวันนี้ที่ San Francisco

หมายเหตุ: โพสท์นี้เป็นโพสท์ย้อนหลัง

Reality Distortion Field

วลี Reality Distortion Field ถ้าใครได้อ่านชีวประวัติของ สตีฟ จ็อบส์ ฉบับทางการก็คงจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว (หากใครงง ลองอ่านได้บน Wikipedia) พอดีวันนี้มีเหตุการณ์บางอย่างที่สะกิดใจผมขึ้นมาเล็กน้อย นั่นคือเรื่องประกาศบนเฟซบุ๊กของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผมขอคัดลอกมาดังนี้

ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมเองไม่ได้มีทัศนคติที่ชัดเจนเอนเอียงไปด้านใดเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีมาตรา 112 รวมถึงการตัดสินใจของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้ แต่ความคิดเห็นที่ผมมี และที่จะกล่าวถึงในบล็อกนี้ คือการสื่อสารของคุณสมคิดที่ใช้ในกรณีนี้ โดยอนุมานว่า ยังไงก็จะไม่ให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม

โดยปกติแล้ว หากเราต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง เพื่อต้องการความร่วมมือ หรือโน้มน้าวใจผู้รับสารแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องตีออกมาให้ชัดว่า ความต้องการของผู้รับสารคืออะไร มีสิ่งใดที่เขาต้องการ และสิ่งใดคือสิ่งที่ขัดต่อจุดยืน ที่เขาไม่มีวันยอมรับ จนผมมีวลีเด็ดที่ผมจะพูดเสมอๆ กับน้องๆ เวลามีใครมาปรึกษาเรื่องทำนองนี้ว่า “อย่าอ้างเหตุผลที่จุดยืนของเขาไม่มีวันยอมรับ แม้ว่าเราจะคิดว่ามันมีเหตุผลก็ตาม” (เฉพาะกรณีที่เรายังต้องการให้เขาให้ความร่วมมือเราอยู่นะครับ ถ้ากรณีที่เราเองก็คงไม่ได้ต้องการสมัครสมานสามัคคีอะไรด้วยแล้ว กรณีนี้คงไม่จำเป็น)

ในกรณีนี้ หากมองในมุมที่ว่าการตัดสินใจคือการไม่ให้ใช้พื้นที่แล้ว ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม หากผมมีหน้าที่ในการสื่อสาร ผมจะเลือกสื่อสารด้วยเหตุผลที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวสามารถยอมรับได้ ซึ่งข้อความที่คุณสมคิดใช้ มีประเด็นที่ขัดต่อจุดยืนของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 อยู่หลักๆ 2 ประการ

ประการแรก คือการอ้างเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ ซึ่งในมุมของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่เชื่อในอำนาจของประชาชน การอ้างอำนาจของรัฐ ย่อมขัดต่อความรู้สึกของคนกลุ่มนี้โดยปริยาย

ประการที่สอง คือการอ้างเหตุผลที่กลัวว่าบุคคลภายนอกจะมองว่าความคิดเห็นทางการเมืองนี้เป็นของทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการทำให้คิดได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนี้ และตัดสินว่าความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่ผิด จึงไม่ควรถูกนำมาเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ผู้รับสารจะไม่ยอมรับ

ผมคิดว่าในข้อความที่คุณสมคิดใช้ เหตุผลที่อ้างได้อย่างดีที่สุด และควรหยิบยกเป็นประเด็นหลักประเด็นเดียว คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล และมนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่เข้าใจความสำคัญของประเด็นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน (ซึ่งมีความซ้อนทับกับกลุ่มที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 สูง) จะยิ่งเข้าใจประเด็นนี้ได้มากเป็นพิเศษ

ดังนั้น หากผมจะต้องเป็นโฆษกในกรณีลักษณะนี้ แม้ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะคืออะไรก็ตาม แล้วผมมีหน้าที่ที่ต้องทำให้ผลการสื่อสารออกมาสวยที่สุด ผมจะเลือกที่จะพูดว่า

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญและเคารพต่อสิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นในทิศทางใดก็ตาม และเชื่อมั่นในเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่แสดงถึงความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงมีความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ ทางมหาวิทยาลัยจึงมีมติเพื่อขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย งดเว้นการใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อการจัดกิจกรรมการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีความเสี่ยงและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้จนกว่าสถานการณ์จะมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัย ยังมีความเชื่อและเคารพในการแสดงความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวพ้นความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ในเร็ววัน

แม้ว่าข้อความดังกล่าว อาจจะไม่สามารถดับความไม่พอใจของฝ่ายผู้เสียผลประโยชน์ได้อย่างสนิทสักทีเดียวนัก แต่อย่างน้อย ก็จะเป็นการลดความรู้สึกไม่พอใจ รวมถึงลดเหตุผลบางอย่างที่จะเป็นจุดอ่อนที่สามารถถูกมาใช้ในการตอบโต้กลับได้ เช่นเรื่องการเป็นสถานที่ราชการ เป็นต้น

ย้ำอีกครั้งว่า ผมเองก็คงไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคืออะไร และผมเองก็ไม่ได้มีความคิดเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะห้ามหรือไม่ห้ามอย่างไร แต่ความคิดเห็นนี้มีต่อการสื่อสารเป็นหลัก โดยอนุมานว่าวัตถุประสงค์หลักคือยังไงก็จะไม่ให้จัดเป็นหลัก

There’re no real truth in this world, it’s just what we decided to say.

You are already naked.

วันนี้เป็นวันที่ผมได้ทราบข่าวว่า Steve Jobs ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบแล้วครับ

ถ้าให้พูดตามตรง ผมก็ตงิดๆ ตั้งแต่ที่ Steve Jobs ลาออก ไปจนถึงที่ไม่เห็นแม้แต่ Jobs ไปร่วมงาน Let’s Talk iPhone แล้วแหละครับ แต่ก็ไม่คิดว่าจะกระทันหันขนาดนี้

วันนี้จะว่าวันเวลาดูโหวงๆ ไปหน่อยก็คงจะพูดแบบนั้นได้สำหรับผม แต่ก็ยังดีว่าวันนี้ผมงานยุ่งเสียเหลือเกิน จนเรื่องนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรในจิตใจนัก จนมาตอนนี้ ดึกๆ เงียบๆ จนได้มีเวลานึกย้อนทบทวนอะไรบ้าง

ผมคิดว่าผมรู้จักกับแอปเปิล, Macintosh หรือ iPod ก่อนที่จะรู้ถึงการมีตัวตนของบุคคลที่มีชื่อว่า Steve Jobs ผมคิดว่าผมรู้จักชื่อนี้หลังจากที่ผมเริ่มทำเว็บคิวบิกคล้ายเว็บแอปเปิลเสียอีก

ประสบการณ์แรกที่ผมมีกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลคือ iPod mini รุ่นแรก ผมฝากจักรธรซื้อจาก US ด้วย Educational Discount มา โดยช่วงนั้นผมใช้ผลิตภัณฑ์ Sony แทบทุกอย่างตั้งแต่คอมพิวเตอร์ หูฟัง กล้องถ่ายรูป ไปจนถึงมือถือฯ จนใครๆ รอบตัวผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมผมถึงซื้อ iPod

ผมตอบคำถามนั้นง่ายๆ โดยการสลักหลัง iPod mini ของผมว่า “Don’t ask why I didn’t buy Sony.”

สิ่งที่จับใจผมมากในตอนนั้น คือความง่ายของการใช้งาน โดยตอนนั้นผมต้องย้ายจาก Windows Media Player เป็น iTunes และผมก็พบว่า การแค่เสียบ iPod mini เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ และเรารู้ได้ทันทีว่าเพลงทั้ง Library ของเราจะมาอยู่ใน iPod เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก และผมก็ชื่นชอบในความง่ายของ iTunes ที่ใช้ในการจัดการเพลงเยอะๆ หรือเลือกหาเพลงฟัง รวมถึงฟีเจอร์ Party Shuffle (ปัจจุบันชื่อ iTunes DJ) เป็นฟีเจอร์ที่โดนใจผมเป็นพิเศษ

หากจะว่าไป iPod mini + iTunes ถือเป็นส่วนผสมสำคัญ ที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ iPod U2 (with color display), iPod (5G), iPod U2 (5G), MacBook Pro 15″ (Early-2006), Mighty Mouse, Apple Keyboard, iPhone 3GS, Magic Mouse, MacBook Pro 15″ (mid-2010), iPad, Apple Wireless Keyboard, iPhone 4, iPad 2, Apple TV และล่าสุด Magic Trackpad

(นี่ยังไม่รวมถึง USB Modem, DVI to Video Adapter, Mini-DisplayPort to VGA Adapter, Apple VGA Adapter, Apple Digital AV Adapter และ Apple HDMI Cable หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ซื้อด้วย authority อำนาจที่มีในนามคิวบิกครีเอทีฟ)

ผมคงไม่ปฏิเสธว่า ผมได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Steve Jobs ที่นำมาใช้ในการดำรงชีวิตของผมเองอยู่ไม่น้อย และจริงๆ ในวันนี้ ผมก็ได้ข้อคิดอะไรอีกสักสองอย่าง

อย่างแรก Tim Cook ได้กล่าวเอาไว้ว่า “Steve leaves behind a company that only he could have built” ประโยคนี้ได้เตือนผมให้รู้ว่า ถ้าผมไม่ทำให้คิวบิกฯ เป็นองค์กรที่มีเพียงผมคนเดียวในโลกที่สร้างมันได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ผมต้องทำคิวบิกฯ

และอย่างที่สอง การที่เราตั้งวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และดำเนินตามทางนั้นอย่างมุ่งมั่นและเยือกเย็น มันทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เหมือนกับวิสัยทัศน์ของ Jobs เองที่มีต่อเทคโนโลยี องค์กร และแม้แต่การตายของเขา

แม้ว่าผมคงไม่สามารถเทียบความเจ็บป่วยที่ผมมีกับสิ่งที่ Jobs ต้องเผชิญไปได้ แต่ผมเองก็เข้าใจสิ่งที่ Jobs พูดในความรู้สึกของคนที่ครั้งหนึ่งเคยสัมผัสกับความตายอย่างใกล้ชิดแล้วครั้งหนึ่งไม่น้อย

Remembering that I’ll be dead soon is the most important tool I’ve ever encountered to help me make the big choices in life. Because almost everything — all external expectations, all pride, all fear of embarrassment or failure – these things just fall away in the face of death, leaving only what is truly important. Remembering that you are going to die is the best way I know to avoid the trap of thinking you have something to lose. You are already naked. There is no reason not to follow your heart.

Thank you.